8 ต.ค. 2024 เวลา 05:16 • การศึกษา

ห้องสมุด 9 แห่งที่ผมรู้จักและประทับใจ

ผมชอบเข้าห้องสมุดตั้งแต่เด็ก
นิสัยชอบการอ่านของผมเกิดจากการเข้าห้องสมุดตลอดทั้งชีวิต จึงขอเล่าห้องสมุดที่เข้าบ่อยตั้งแต่เด็กจนถึงยุคปัจจุบัน เผื่อใครที่อยู่วัยเดียวกับผม จะได้มารำลึกความหลังด้วยกันครับ
ขอเรียงตามลำดับห้องสมุดที่รู้จักดังนี้
[1] ห้องสมุดโรงเรียนสมาคมสตรีไทย (สสท.)
โลโก้โรงเรียนสสท. (Credit : โรงเรียนสมาคมสตรีไทยแฟนเพจ)
ผมเรียนที่สสท. อยู่ที่สี่แยกอุรุพงษ์ ตั้งแต่อนุบาล 1 จนถึง ป.6 ชอบเข้าห้องสมุดโรงเรียนตอนพักเที่ยง
ในขณะที่เพื่อนๆ ไปเตะบอล ผมเข้าห้องสมุดแทน เพราะไม่มีใครอยากให้ผมไปร่วมทีมด้วย ฮา !
สมัยประถม ผมชอบอ่านนิตยสารชัยพฤกษ์มากที่สุด มีทั้งชัยพฤกษ์, ชัยพฤกษ์การ์ตูน และชอบที่สุดคือ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ ผมยังชอบอ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ซึ่งพิมพ์หนังสือเด็กหรือนิทานมากมาย
ตอนนั้นเคยอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ แต่อ่านไม่รู้เรื่องเลย เพราะความรู้ไม่ถึงขั้น
[2] ห้องสมุดโรงเรียนเทพศิรินทร์
ตราประจำโรงเรียนเทพศิรินทร์
ผมเป็นเด็กเทพอย่างแท้จริง เพราะเกิดที่กรุงเทพฯ และเรียนเทพศิรินทร์ตั้งแต่ม.1 ถึง ม.6
ตอนแรกนึกว่า ทักษะการเตะบอลจะเก่งขึ้นตอนเรียนมัธยม ที่ไหนได้ ไม่มีใครอยากให้ผมร่วมทีมเหมือนเดิม ฮา ฮา !
ผมเริ่มอ่านนิยายไทยครั้งแรกจากการยืมหนังสือในห้องสมุดทศ. เช่น สี่แผ่นดิน ของมรว.คึกฤทธิ์, ขุนศึก ของไม้ เมืองเดิม, จดหมายจากเมืองไทย ของโบตั๋น และอีกหลายเล่ม
[3] ห้องสมุดธนาคารศรีนครสำนักงานใหญ่ สวนมะลิ
ระหว่างที่ผมเรียนทศ. ก็เป็นสมาชิกห้องสมุดของธนาคารศรีนคร ซึ่งสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวนมะลิ เดินทะลุวัดเทพศิรินทร์ ข้ามถนนเดินอีกแป๊บเดียวก็ถึง
การเป็นสมาชิกห้องสมุดธนาคารศรีนครไม่ใช่เรื่องยาก แค่ฝากเงินกับธนาคาร แล้วใช้สมุดบัญชี เพื่อสมัครเป็นสมาชิกห้องสมุด แล้วยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้านได้
ห้องสมุดธนาคารศรีนครทำให้ผมเริ่มอ่านนิยายกำลังภายในเป็นครั้งแรก และชอบอ่านจนถึงทุกวันนี้ เพราะตอนนั้นหนังกำลังภายในดังสุดๆ เช่น มังกรหยกฉบับหนังทีวีที่ไป่เปียวกับหมีเซียะเล่น, กระบี่ไร้เทียมทาน, จอมโจร จอมใจ, ฤทธิ์มีดสั้น และอีกมากมาย
ห้องสมุดศรีนครทำให้ผมอ่าน “มังกรหยก” ฉบับแปลของ จำลอง พิศนาคะ ซึ่งเป็นฉบับแรกสุดที่กิมย้งเขียน
ในฉบับดั้งเดิมที่จำลองแปล แม่ของเอี้ยก้วย (พระเอกมังกรหยกภาค 2) คือ ชิ้นน่ำคิ้ม สาวจับงูที่ถูกเอี้ยคังล่อลวง แล้วท้อง จนคลอดเอี้้ยก้วย ส่วนมกเนี้ยมชื่อตายพร้อมกับเอี้ยคัง
ในมังกรหยกเวอร์ชันใหม่ เช่น ฉบับทีวีที่หวงเย่อหัวกับองเหม่ยหลิงเล่น จะเห็นว่ามกเนี่ยมชื้อไม่ตาย และเป็นแม่ของเอี้ยก้วย เพราะกิมย้งปรับปรุงเนื้อหาในมังกรหยก โดยตัดตัวละครชิ้นน่ำคิ้ม
นอกจากห้องสมุดที่สำนักงานใหญ่สวนมะลิแล้ว ธนาคารศรีนครยังมีห้องสมุดที่เยาวราช กับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ด้วย ซึ่งผมไปไม่บ่อย เพราะไกลบ้าน
ช่วงปิดเทอม ผมชอบมานั่งแช่แอร์เย็นๆ ที่ห้องสมุดศรีนคร สวนมะลิ แล้วอ่านนิยายกำลังภายในอย่างเพลิดเพลินครับ
ห้องสมุดธนาคารศรีนครเป็นห้องสมุดดีมากที่สุดแห่งหนึ่ง แอร์เย็น บริการดี มีหนังสือมากมาย
อยากให้ทุกธนาคารมีห้องสมุดประชาชนแบบนี้เยอะๆ
[4] ห้องสมุดบริติช เคาน์ซิลที่สยาม สแควร์
สมัยผมเรียนเทพศิรินทร์มาที่สยามบ่อย เพราะเหตุผล 2 ข้อ
1. มาร้านหนังสือ เพราะสมัยนั้น สยามสแควร์เป็นแหล่งรวมร้านหนังสือชั้นนำ เช่น ดวงกมล
2. มาดูหนัง ซึ่งผมดูทุกโรงในสยาม ได้แก่ สกาล่า ลิโด้ สยาม
ไม่ว่าจะมาสยาม เพราะข้อ 1 หรือ 2 ถ้ามีเวลาเหลือ ก็จะแวะเข้าห้องสมุดบริติชฯ ด้วย เพราะอยู่ใกล้กัน ซึ่งห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือภาษาอังกฤษมากมาย
ผมชอบมานั่งอ่าน พลิกหนังสือไปเรื่อยๆ บางทีก็แวะมานั่งรับแอร์ ก่อนไปดูหนัง แต่ผมไม่ได้เป็นสมาชิกห้องสมุดนี้ครับ
[5] หอกลางจุฬาฯ
หอกลางจุฬาฯ (Credit : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ห้องสมุดที่ผมเข้าบ่อยที่สุดในชีวิตคือ หอกลางจุฬาฯ นั่นเอง ผมเข้าจุฬาฯ ปี 2527 ตอนนี้ปี 2567 แล้ว หมายความว่า ผมใช้บริการหอกลางมา 40 ปีเต็มๆ
สมัยเรียนปริญญาตรี ผมไม่ค่อยเข้าห้องสมุดคณะวิศวฯ เท่าไร นอกจากยืมตำราเท่านั้น
เพราะสมัยก่อน ห้องสมุดวิศวฯ ยังไม่ทันสมัยเหมือนทุกวันนี้ ไม่เหมือนหอกลางที่ทันสมัยสุดๆ บรรยากาศที่หอกลางน่าอ่านกว่ากันมาก เพราะ …. (โปรดเติมคำในช่องว่างเอง)
นิสิตรุ่นปัจจุบันอาจสงสัยว่า ตอนช่วงสอบไล่หรือสอบกลางภาค หอกลางแน่นเหมือนทุกวันนี้ไหม
คำตอบคือ “แน่นจนแทบจะไม่มีที่นั่ง”
เวลาอ่านหนังสือที่หอกลาง ผมจะมีซาวด์อเบาท์ใส่เทปเพลง และหูฟัง เพื่อป้องกันเสียงรบกวน
ยุคที่ผมเรียนป.ตรี สหกรณ์จุฬาฯ มีร้านเช่าเทปเพลง เช่าวิดีโอเทป ผมจึงชอบไปเช่าเทปเพลงที่สหกรณ์มาฟัง
เพลงที่ชอบฟังมากที่สุดระหว่างการอ่านที่หอกลางคือ เพลงบรรเลง เช่น เปียโนของ Richard Clayderman, Kitaro, Paul Mauriat เป็นต้น
ช่วงใกล้เรียนจบปริญญาตรี ผมเตรียมตัวสอบเข้าปริญญาโทคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ ก็มานั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบที่หอกลางทุกวัน
พอได้เรียนปริญญาโท คอมพิวเตอร์ที่จุฬาฯ แล้ว ชีวิตก็ยิ่งผูกพันหอกลางมากขึ้น เพราะผมมาเป็นลูกทีมในโครงการอินเทอร์เน็ตของจุฬาฯ ซึ่งอาจารย์ ดร.ยรรยง เต็งอำนวย, อาจารย์จารุมาตร ปิ่นทอง เป็นผู้บุกเบิก ได้รู้จักพี่ๆ บรรณารักษ์หลายคน
ทุกวันนี้ ผมยังเข้าหอกลางเป็นประจำ เพราะมายืมนิยายกำลังภายในหรือหนังสืออ่านเล่นของตัวเองหรือยืมให้ลูกสาว รวมทั้งนัดลูกสาวให้มาพบกันที่หอกลาง
ผมยังชอบแนะนำหนังสือที่มีในหอกลางให้นิสิตวิชา Innovative Thinking ยืมไปอ่านด้วย
นิสิตที่ไม่มี Netflix ไม่ต้องแคร์ เพราะหนังสือจำนวนมากในหอกลาง อ่านสนุกกว่าดู Netflix อีก !
[6] ห้องสมุด AUA ที่ถนนราชดำริ
เป็นห้องสมุดแห่งหนึ่งที่ผมมาบ่อย มีหนังสือเยอะมาก ยืมกลับบ้านไปอ่านได้ บรรยากาศดี มีวิดีโอสารคดีให้ดูด้วย
ทุกครั้งที่มา AUA ก็นั่งรถเมล์สาย 15 โดยมาขึ้น — ลงที่สยามสแควร์ เดินทางสะดวก
บางทีก็มากับเพื่อนวิศวที่มาเรียนพิเศษภาษาอังกฤษที่นี่ แต่ผมไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษที่ AUA เลย
[7] ห้องสมุดภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ
สมัยก่อน ภาควิศวคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ อยู่ที่ตึกสถาบันบริการคอมพิวเตอร์ ใกล้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ แยกตัวออกจากคณะวิศวฯ
ดังนั้น ภาควิศวคอมพิวเตอร์ จึงมีห้องสมุดของตนเอง ซึ่งมีหนังสือคอมพิวเตอร์มากมาย ยืม-คืน หนังสือได้สะดวกสุดๆ ไม่ต้องออกข้างนอก
[8] ห้องสมุดสถาบัน AIT ที่รังสิต
ระหว่างที่ผมเรียนปริญญาโทคอมพิวเตอร์ที่จุฬาฯ เคยไปห้องสมุดสถาบัน AIT ที่รังสิต เพราะตอนนั้น มีความร่วมมือระหว่างห้องสมุดวิศว จุฬาฯ กับห้องสมุด AIT ทำให้นิสิตไปยืมหนังสือได้
ผมจึงไปที่ห้องสมุด AIT ประมาณ 4–5 ครั้ง เพื่อยืมหนังสือด้านคอมพิวเตอร์ที่จุฬาฯ ไม่มี
[9] ห้องสมุด TCDC ที่เอ็มโพเรียม
ห้องสมุด TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ที่ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม สุขุมวิท เป็นแหล่งรวมหนังสือ นิตยสารด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ในวงการต่างๆ มากมาย รวมทั้งมีภาพยนตร์ให้ดูด้วย
นอกจากหนังสือแล้ว TCDC ยังมีห้องสมุดวัสดุ ที่รวบรวมวัสดุต่างๆ อีกด้วย ซึ่งเจ๋งมาก
ผมไป TCDC บ่อย เพราะไปชมนิทรรศการหรือฟังบรรยายบ้าง ไปเข้าเวิร์คชอปบ้าง และเคยพานิสิตวิชา Innovative Thinking ไปดูงานที่ TCDC 2–3 ครั้ง
สิ่งที่ผมประทับใจเกี่ยวกับ TCDC คือ เป็นแหล่งรวมคนเก่งมากมาย ได้เคยร่วมงานกับ TCDC ด้วย รวมทั้งผมเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการ Baht & Brains
ประสบการณ์ที่ผมประทับใจที่สุดในห้องสมุด TCDC คือ การที่ผมเป็น Igniter หรือเป็นผู้พูดในงาน Ignite ครั้งแรกของประเทศไทยที่ห้องสมุด TCDC
Ignite คือการนำเสนอโดยใช้เวลา 5 นาทีเท่านั้น จากการที่ผมเคยเป็น Igniter ทำให้ผมคิดรูปแบบการนำเสนอที่เรียกว่า “อุลตร้าพรีเซนเทชัน” ที่ใช้ในวิชา Innovative Thinking จนถึงทุกวันนี้
นอกจากห้องสมุดเหล่านี้แล้ว ผมก็เคยไปห้องสมุดที่อื่นบ้าง เช่น หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี , ห้องสมุด TK Park ที่เซนทรัลเวิร์ล , หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ที่สี่แยกคอกวัวครับ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว ไฟฉาย ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที
โฆษณา