7 ธ.ค. 2024 เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน เมื่อ แฟรงก์ สินาตรา ร้องเพลงไม่ออก

วันหนึ่งในปี 1969 ขณะไปเที่ยวฝรั่งเศส นักร้องนักแต่งเพลง พอล แองกา ได้ยินเพลงฝรั่งเศสเพลงหนึ่งชื่อ Comme d’habitude เขาชอบเพลงนี้มาก และคิดว่าหากใส่เนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษน่าจะดี
2
เขาซื้อลิขสิทธิ์เพลงนั้น แล้วกลับสหรัฐฯ
ตีหนึ่งคืนหนึ่ง พอล แองกา นั่งเขียนเนื้อเพลงด้วยเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า IBM เก่าๆ ในใจนึกถึงชายคนหนึ่งที่กำลังหมดไฟ
1
แฟรงก์ สินาตรา
ก่อนหน้าเขากินอาหารเย็นกับแฟรงก์ที่ฟลอริดา นักร้องดังวัย 54 บอก พอล แองกา ว่า “ผมกำลังจะออกจากธุรกิจนี้ ผมเบื่อมันมาก ผมจะออกไปจากนรกนี้”
แฟรงก์ สินาตรา เป็นนักร้องผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก เป็นตำนานไม่เฉพาะในสหรัฐฯ แต่ทั่วทั้งโลก เสียงของเขามีเอกลักษณ์และทรงพลัง
พอล แองกา ตั้งใจให้เพลงที่เขากำลังจะแต่งพูดถึงชีวิตของ แฟรงก์ สินาตรา
เขาถามตัวเองว่า “ถ้าแฟรงก์จะเขียนเพลงนี้ เขาจะบอกอะไร?”
แล้วเนื้อเพลงก็หลั่งไหลออกมา
เริ่มด้วยประโยค
“And now, the end is near
And so I face the final curtain”
บทสุดท้ายของชีวิตนักร้องกำลังจบ ผ้าม่านเวทีกำลังปิด
ประโยคที่เขาเขียนเป็นภาษาที่แฟรงก์ใช้ อยู่แล้ว เช่น ‘I ate it up and spit it out.’
พอล แองกา แต่งเพลงเสร็จตอนตี 5 แล้วโทรศัพท์หาแฟรงก์ที่ซีซาร์ พาเลซ บอกว่า “ผมมีบางสิ่งพิเศษจริงๆ สำหรับคุณ”
ชื่อเพลงคือ My Way
เพลงนี้เปลี่ยนชีวิต แฟรงก์ สินาตรา เขากลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง
เขาร้องเพลงต่อไป
ผ่านไปอีกราวยี่สิบปี แฟรงก์ สินาตรา ก็อยู่ในช่วงขาลงอีกครั้ง
ในวัยชรา เสียงของเขาเริ่มหยาบ ขาดพลัง
แม้แฟนเพลงยังไม่มองว่าเป็นปัญหาอะไร เขายังร้องเพลงที่ ลาส เวกัส และคอนเสิร์ตทั่วโลก แฟนเพลงคับคั่ง
1
แต่คนใกล้ตัวรู้ว่า เสียงของเขาอยู่ในช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด บางครั้งเสียงแตกพร่า แต่ แฟรงก์ สินาตรา ก็มีเสน่ห์พอดึงคนฟังอยู่
แต่อีกนานเท่าไรก่อนที่เขาจะหมดไฟ?
เขายังทำงานต่อเนื่อง ในวัยปลายเลข 6 กับเลข 7 เขายังคงทำงานสร้างเพลงใหม่ๆ เช่นกับ ควินซี โจนส์
ครั้นอายุ 71 เขาล้มกลางเวทีขณะร้องเพลง หลังจากออกจากโรงพยาบาล ก็เห็นว่าร่างกายอ่อนแอลง แต่ก็ยังทำงาน
อายุ 70-80 เขายังร้องเพลงในหลายประเทศ เหมือนรู้ว่าเป็นการสั่งลาผู้ชมอย่างหนึ่ง เพราะสังขารของเขาเสื่อมลงมาก ในปี 1990 เขาเปิดการแสดงคอนเสิร์ต 65 ครั้ง ปี 1991 73 ครั้ง ปี 1992 84 ครั้ง
แต่ความจำของเขาเริ่มแย่ลง บางทีร้องเพลงซ้ำ
1
ในวัย 78 แฟรงก์ สินาตรา ไปร้องเพลงต่อหน้าผู้ชมสองหมื่นคน เขาร้องสามเพลงรวด
1
ครั้นขึ้นเพลงที่สี่ เขาร้องแบบตะกุกตะกัก จำเนื้อเพลงไม่ได้ แล้วยืนนิ่งกลางเวที วงออเคสตราเล่นในหลืบ จึงมองไม่เห็นอาการของแฟรงก์
ผู้ชมเริ่มอึดอัดในสถานการณ์ไม่คาดฝันนี้
เขากระซิบกับไมโครโฟนว่า “ผมเสียใจๆๆ”
1
ในที่สุดวงดนตรีก็เริ่มรู้ว่ามีความผิดปกติ เครื่องดนตรีก็ลดเสียงลงทีละชิ้น จนในที่สุดก็หยุดหมด คอนเสิร์ตจมในความเงียบ ทั้งที่มีคนสองหมื่นคน
2
แฟรงก์ยังคงกระซิบกับไมโครโฟนว่า “ผมเสียใจๆๆ”
เขาเสียใจที่ร้องไม่ออก เขาจำเนื้อเพลงไม่ได้
คนจัดคอนเสิร์ตรู้ทันทีว่านี่คือคืนสุดท้ายของแฟรงก์ อาชีพนักร้องของเขาจบลงแล้ว
คนจัดเตรียมไปบอก แฟรงก์ สินาตรา ว่ากลับบ้านเถอะ
นัยน์ตาของแฟรงก์เอ่อท้นด้วยหยดน้ำตา ขณะที่เขากำลังวางไมโครโฟนลง ทันใดนั้นผู้ชมคนหนึ่งก็ลุกขึ้นยืน เอ่ยเสียงดัง ได้ยินไปทั่วโรงคอนเสิร์ตว่า “ไม่เป็นไร แฟรงก์ ไม่เป็นไร เรารักคุณ แฟรงก์ ไม่เป็นไร...”
4
แล้วเขาก็ปรบมือ
ทันใดนั้นคนอื่นๆ ก็ปรบมือตาม ร้องเชียร์นักร้อง
1
แฟรงก์ที่กำลังเดินจากไปหันหลังกลับมา
เขาฟังเสียงเชียร์ให้กำลังใจเขา จนเสียงเชียร์นั้นจางลง เขาหยิบไมโครโฟนขึ้นมาใหม่
1
แล้วเขาก็เริ่มร้องเพลง Mack the Knife
ด้วยกำลังใจท่วมท้น คราวนี้เขาร้องเสียงชัดเจน แจ่มใส จับเพลงนั้นอยู่หมัด
4
เมื่อจบเพลง คนดูส่งเสียงเชียร์ไม่หยุด
แฟรงก์ชี้ไปที่คนนั้น กล่าว “ผมก็รักคุณ เพื่อน”
2
เขาร้องเพลงอีกสองปีก่อนตาย
คอนเสิร์ตสุดท้ายของสินาตราจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 1994 เขาร้องเพลงให้แขกฟังเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1995 ที่บอลรูมโรงแรม Palm Desert Marriott ให้แขก 1,200 คน เสียงของเขากังวานและจับใจคนฟัง
วันเกิด 80 ปีในปี 1995 เขาร้องเพลงบนเวทีเป็นครั้งสุดท้ายคือ Theme from New York, New York
สองปีต่อมาเขาก็จากโลกไปอย่างตำนาน
เขาเกือบออกจากวงการไปแล้วหากมิใช่เพราะเพื่อนนักร้อง พอล แองกา ดึงเขากลับมา
4
และเขาก็น่าจะออกจากวงการเพลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ในคืนที่เขาจำเนื้อเพลงไม่ได้ แต่คำปลอบใจของแฟนเพลงคนนั้นปลุกชีพ แฟรงก์ สินาตรา อีกครั้ง
2
สังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยพฤติกรรม ‘ล้มแล้วเหยียบ’
1
บางคนรู้สึกสะใจที่เห็นยักษ์ล้ม
คนที่เริ่มทำธุรกิจแล้วไม่สำเร็จ อาจถูกคนอื่นว่า “บอกแล้วว่าอย่าทำ”
นักเขียนจำนวนมากเขียนหนังสือดีหลายเล่ม แต่ถึงจุดจุดหนึ่งก็เขียนไม่ออก ถึงทางตัน
จุดนั้นเองหากคนรอบตัวบอกว่า “เลิกเถอะ” ก็มีโอกาสสูงที่นักเขียนคนนั้นจะยุติการเขียนหนังสือ
แต่หากคนรอบตัวบอกว่า “ไม่เป็นไร” และส่งเสียงเชียร์ เขาก็อาจลุกขึ้นมาเขียนใหม่ อาจเขียนดีกว่าเดิมได้ด้วยซ้ำ
5
คนเราทุกคนมีวัยร่วงโรย เป็นเรื่องปกติธรรมดา
2
นักร้องใหญ่เช่น แฟรงก์ สินาตรา ยิ่งต้องแบกรับความคาดหวังสูง เมื่อร้องเพลงแบบจำเนื้อเพลงไม่ได้ ก็ทำให้รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
ความรู้สึกว่าไร้ค่าทำให้ยิ่งแก่ลงเร็วขึ้น แย่ลง
1
คนทุกคนสะดุดล้มได้ การให้กำลังใจพวกเขาแม้เพียงเล็กน้อย อาจมีความหมายยิ่งใหญ่ มีค่ามาก
3
ความเสื่อมของสังขารเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่พ้นของทุกชีวิต แต่กำลังใจแม้เพียงคำเล็กๆ ช่วยให้เราผ่านช่วงเวลานั้นไปได้
2
คำปลอบใจเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทรงพลังจนเปลี่ยนทิศชีวิตของใครคนนั้นได้
2
เราทุกคนต้องการกำลังใจแบบนี้ ดังนั้นเราจึงควรมอบกำลังใจแบบนี้ให้คนอื่นเช่นกัน
3
เพราะคนทุกคนต้องไปจุดที่ “And so I face the final curtain”
1
โฆษณา