14 ธ.ค. 2024 เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน ยิ่งหาสาระให้ชีวิต ยิ่งหลงทาง

คนจำนวนมาก แม้แต่นักบวช พยายามแสวงหาทางหลุดพ้น แต่ในการแสวงหาหนทางนั้น กลับเพิ่มข้อแม้ใหม่ให้ตัวเอง คือความยึดมั่นว่าจะหาทางหลุดพ้นให้ได้ กลายเป็นเรื่องย้อนแย้งในตัวเอง
5
ในเรื่องสาระและการแสวงหาสาระของชีวิต เซนอาจมีวิธีมองที่แทงทะลุและบ่อยครั้งน่าขำ
สาระหรือไร้สาระก็อาจคือการปรุงแต่งอย่างหนึ่ง
1
ในทางเซน การพยายามหาความหมายของทุกอย่างก็คือการหลงทาง
3
ครั้งหนึ่งพระสังฆปริณายกเซนรุ่นที่ 3 ของจีน เสิ้งฉาน พบสามเณรน้อยรูปหนึ่งอายุสิบสี่ นาม เต้าซิ่น
2
เต้าซิ่นกล่าวกับอาจารย์ว่า “ได้โปรดสอนวิธีปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
อาจารย์เสิ้งฉานถาม “มีใครที่ผูกเจ้าอยู่หรือ?”
1
“หามีไม่”
“เช่นนั้นไยเจ้าต้องแสวงหาทางปลดปล่อยด้วยเล่า?”
1
ด้วยคำพูดประโยคนี้ เต้าซิ่นก็บรรลุธรรม
เมื่อไม่มี ‘การผูก’ ก็ไม่มี ‘การปลดปล่อย’ เป็นอิสระจากกรอบคิด
1
บางครั้งเราเป็นคนผูกเอง
ในเมื่อเป็นอิสระอยู่แล้ว จะแสวงหาทางปลดปล่อยอันใดเล่า?
1
ในมุมมองของเซน แค่คิดจะเป็นอิสระก็ไม่เป็นอิสระแล้ว เพราะอิสรภาพที่แท้จริงคือ มีอิสระก็ได้ ไม่มีอิสระก็ได้ เราจะเป็นอิสระก็เมื่อภาวะอิสระหรือไม่เป็นอิสระไม่สามารถกระทบใจเราได้
4
มันก็คือความว่างจากการปรุงแต่ง
1
อาจารย์เซน เต๋อซานซ่วนเจี้ยน กล่าวกับศิษย์ว่า “ไม่ต้องกลัววงจรการเกิดการตาย ไม่ต้องกลัวการกลับชาติไปเกิดใหม่ ไม่มีนิพพานที่ต้องไปให้ถึง ไม่มีธรรมที่ต้องบรรลุ แค่ทำตัวเป็นคนธรรมดาที่ไม่ต้องทำอะไร”
1
ยิ่งหายิ่งไม่เจอ ยิ่งค้นยิ่งไม่พบ ยิ่งรีบยิ่งช้า
2
คนจำนวนมากดิ้นรนทั้งชีวิตเพื่อหาสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่มองไม่เห็น
หลายคนแสวงหาตำราคู่มือการใช้ชีวิต ทั้งที่บางทีคำตอบอยู่ที่การหยุดแสวงหา
1
หลายคนแสวงหาความสำเร็จจนติดในบ่วงของมัน เช่น คนประสบความสำเร็จมีอะไร ฉันต้องมีด้วย จึงจะเรียกว่าสำเร็จ
1
ผลคือเหนื่อย และยังไม่รู้ว่าตนเหนื่อยเพราะอะไร
1
หม่าจู่เต้าอี้ ศิษย์ของปรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ก็มีวิธีมองโลกแบบง่ายๆ
เมื่อศิษย์ถามท่านว่า “อาจารย์กลมกลืนกับเต๋า (วิถีทางที่แท้) ได้อย่างไร?”
ท่านตอบว่า “อาตมาเลิกกลมกลืนกับเต๋ามานานแล้ว”
1
การบรรลุธรรมเกิดขึ้นเมื่อเลิกคิดจะบรรลุธรรม
2
อาจารย์หลินฉีอี้ซวน ศิษย์ของอาจารย์ฮวงโป มีวิธีมองโลกแบบหนึ่ง วิธีคิดของท่านเกี่ยวกับสาระของชีวิตก็คือใช้ชีวิตไปตามธรรมดา
4
“เมื่อถึงเวลาแต่งตัว จงสวมเสื้อผ้า เมื่อต้องเดิน จงเดิน เมื่อต้องนั่ง จงนั่น จงเป็นตัวตนธรรมดาในชีวิตธรรมดา จงอย่าได้มีความคิดแสวงหาพุทธภาวะ เมื่อเจ้าเหนื่อย จงนอนพัก คนโง่จะหัวเราะเจ้า แต่คนฉลาดจะเข้าใจเจ้า”
8
วิถีเซนก็คือวิถีชีวิตสามัญธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ ชีวิตก็คือการใช้ชีวิต ไม่ใช่การค้นหาความหมายของชีวิต เมื่อหิวก็กิน เมื่อง่วงก็นอน
14
ครั้งหนึ่งศิษย์บอกท่านว่า “ศิษย์กำลังหาทางเป็นอิสระจากโลกนี้”
ท่านตอบว่า “ถ้าเจ้าเป็นอิสระจากโลกนี้แล้ว จะไปที่ไหนต่อหรือ?”
2
ในเรื่องนี้ อัลแบร์ กามูส์ เขียนว่า “ทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับโลกไร้อิสรภาพคือกลายเป็นคนที่เป็นอิสระมากเสียจนการดำรงอยู่ของคุณเป็นขบถอย่างหนึ่ง”
3
อิสรภาพอาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องดิ้นรนแสวงหา เพราะบางทีมันอยู่กับเราอยู่แล้ว เราสร้างภาพฝันมาครอบตัวเอง แล้วหลงคิดว่าหนทางคือเป้าหมาย
3
คนจำนวนมากแสวงหาสิ่งที่พวกเขามีอยู่แล้ว แต่มองไม่เห็น
1
นักการเมืองชอบบอกเราว่า เราขาดสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราต้องแก้กฎนั้นกฎนี้ ทั้งที่มันอาจไม่มีปัญหาอะไร แต่เราสร้างวาทกรรมมาบิดความจริง
7
เราพยายามแหกกฎ เปลี่ยนกฎ โดยค้นหาทางสายใหม่ แล้วสร้างมันเป็นกฎใหม่มาครอบตัวเอง
1
บางทียิ่งหาสูตร ก็ยิ่งหลงทาง
ปัญญาก็เหมือนดวงตะวัน เราทุกคนมีดวงตะวันแห่งปัญญาอยู่ภายในแล้ว (หรือที่ทางเซนว่า เรามีพุทธภาวะในตัวเราอยู่แล้ว) แต่มีเมฆบัง มากหรือน้อย เมื่อเอาเมฆออก ก็เห็น
1
บางคนมีเมฆบังตลอดชีวิต บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเมฆบังอยู่
และเราเป็นผู้สร้างเมฆดำมาปกคลุมตะวันเอง
2
คนจำนวนมากแสวงหาความสุข โดยทำให้ความสุขเป็นเป้าหมายที่ต้องไปถึง แต่ความสุขไม่ได้อยู่ในอนาคต ความสุขอยู่ในภาวะปัจจุบันเสมอ
2
ถ้าเช่นนั้นชีวิตเราจำเป็นต้องมีสาระไหม?
1
สาระในชีวิตในความหมายของคนส่วนใหญ่คือ ชีวิตที่มีหลักการ มีการทำความดีงาม ทำประโยชน์ให้สังคม ช่วยเหลือสังคม
2
แต่นี่อาจไม่ใช่คำจำกัดความของ ‘สาระ’
ชีวิตที่มีหลักการ มีการทำความดีงาม ทำประโยชน์ให้สังคม ช่วยเหลือสังคม ย่อมทำให้สังคมมนุษย์อยู่รอดได้ดีกว่าสังคมแบบตัวใครตัวมัน แต่มันควรเรียกว่าสิ่งพึงปฏิบัติพื้นฐานมากกว่าสาระของชีวิต
3
ถ้าเช่นนั้นอะไรคือสาระหรือความหมายของชีวิต?
คำตอบไม่ง่าย หรืออาจไม่มีคำตอบ
ในเรื่องนี้ ปรัชญาเต๋าอาจตอบได้เข้าท่าที่สุด
เต๋าชี้ว่า ก็แค่ใช้ชีวิตเหมือนสายน้ำ ไหลไปเรื่อยๆ ถ้าเจอหินขวางก็เลี่ยง ไปสบายๆ
5
เพราะชีวิตคือการเลื่อนไหลของเหตุการณ์ ร้อยต่อด้วยเหตุและปัจจัย หรือ cause-effect ธรรมชาติไม่เคยมีการกำหนดความดี-ความชั่ว ธรรมชาติไม่มีสาระ มันเลื่อนไหลของมันไปอย่างนั้นเอง
6
ถ้ามองอย่างนี้ เราก็อาจเห็นว่า บางทีมนุษย์เรานั่นเองที่กำหนด ‘สาระ’ ขึ้นมาให้ยุ่งเข้าไว้
หรืออย่างที่ อัลแบร์ กามูส์ เขียนว่า “คุณจะไม่มีวันมีความสุขถ้าคุณยังค้นหาอย่างต่อเนื่องว่าความสุขประกอบด้วยอะไร คุณจะไม่มีวันได้ใช้ชีวิตถ้าคุณยังมัวหาความหมายของชีวิต”
7
โฆษณา