Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
วันนี้ เวลา 00:00 • หนังสือ
บทความ Blockdit ตอน นักเขียนจําเป็นต้องเป็นนักคิดหรือไม่
นักเขียนจำเป็นต้องเป็นนักคิดหรือไม่?
บางคนอาจงงเมื่อได้ยินคำถามนี้ บอกว่า “อ้าว! นักเขียนก็ต้องคิดพล็อตอยู่แล้วนี่นา มิใช่หรือ?”
เป็นคนละ ‘คิด’ กัน!
‘คิดพล็อต’ กับ ‘คิดอย่างนักคิด’ ไม่เหมือนกัน
นี่คือนิยามของนักคิด (thinker) ในภาษาอังกฤษ
นักคิด : คนที่คิดลึกและจริงจัง คนที่มีพลังปัญญาที่พัฒนาถึงขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาชีพการงานเกี่ยวกับกิจกรรมทางปัญญา
แปลสั้นๆ ว่า นักคิดก็คือคนที่คิดลึก ขบคิดเพื่อสร้างปัญญา
1
คิดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคิดว่าเที่ยงนี้จะกินอะไร ใครจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ หรือจะพาลูกเข้าโรงเรียนไหนดี คิดในที่นี้มีนัยของการตั้งคำถามที่ต้องอาศัยมุมมองใหม่ในการเข้าใจ
ดังนั้นคำถามที่ว่า นักเขียนจำเป็นต้องเป็นนักคิดหรือไม่ คำตอบก็ขึ้นกับว่าจะเป็นนักเขียนแบบไหน
ถ้าเขียนนิยายเริงรมย์ เขียนเล่าเรื่องทั่วไป ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักคิด (thinker) แบบคิดลุ่มลึก แค่คิดพล็อตลำดับเรื่องให้ได้ก็พอ เหมือนช่างปั้นดิน ปั้นเก่งเนียน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่มีคุณค่าทางศิลปะ
แต่หากต้องการสร้างสรรค์งานที่ลุ่มลึก เสนอไอเดียหรือมุมมองชีวิตที่ผู้อ่านไม่เคยคิดมาก่อน เดินนำหน้าผู้อ่านก้าวสองก้าว อย่างนี้ต้องเป็นนักคิด มิฉะนั้นก็เขียนไม่ได้ลึก
1
งานเขียนบางประเภทบางชิ้นเป็นเครื่องมือสร้างปัญญาให้ผู้อ่าน ดังนั้นหากผู้อ่านรู้มากกว่าผู้เขียน ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอ่าน
นักเขียนแบบนักคิดจะต้องคิดไปไกลกว่าผู้อ่าน ต้องเสนอเรื่องที่ผู้อ่านไม่รู้มาก่อน หรือรู้ไม่พอ หรือคาดไม่ถึง ยกตัวอย่างเรื่องทุกข์ เรามักมองว่า นี่คือทุกข์ นั่นคือสุข แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด
1
นี่คือมุมมองหนึ่ง
แต่นักคิดอาจมองว่า ทุกข์สุขไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน
นี่คืออีกมุมมองหนึ่ง
ชาวสโตอิก (Stoic) มองว่าทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของแพคเกจชีวิต ดังนั้นเราสามารถรักความทุกข์และชะตากรรมเลวร้ายได้
1
นี่ก็คืออีกมุมมองหนึ่ง
ชาว Absurdism มองว่า เราสามารถมีความสุขขณะอยู่ในความทุกข์ได้ ตัวอย่างซิซีฟัสผู้ถูกเทพเจ้าสาปให้ต้องเข็นหินขึ้นภูเขา เมื่อถึงยอดเขา หินจะร่วงลงมาทุกครั้ง เขาต้องเข็นหินแบบนี้ไปชั่วนิรันดร์
หากมองในมุมมองแรก ซิซีฟัสผู้นี้เคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง ต้องอยู่ในความทุกข์นิรันดร์ แต่มองอีกมุมหนึ่ง ใครบอกว่าซิซีฟัสจะต้องทรมานล่ะ เขาสามารถมีความสุขกับการเข็นหินก็ได้
เข็นหินเป็นงานทางภายภาพ ความสุขเป็นเรื่องทางใจ
นี่ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง
อีกตัวอย่างหนึ่งคือการฆ่าตัวตาย
เรามีมุมมองแบบสำเร็จรูปว่า การฆ่าตัวตายไม่ดี บ้างว่าเป็นบาป บ้างว่ากระทำแล้วจะต้องตกนรก
นี่เป็นมุมมองหนึ่ง
แต่หากดูมุมมองอื่นจะเห็นว่า บางครั้งการฆ่าตัวตายอาจเป็นทางที่ดีต่อคนฆ่าตัวตายหรือคนอื่นๆ ก็ได้ เช่น ทำให้เขาพ้นความเจ็บปวดทรมานจากโรค
ทหารที่ถูกฝ่ายศัตรูจับได้ในช่วงสงคราม ฆ่าตัวตายเพราะเป็นทางเดียวที่จะปกป้องความลับเกี่ยวกับฝ่ายตน ซึ่งหากรั่วออกไป อาจมีคนตายนับพันนับหมื่น
นี่ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง
มีเรื่องเล่าว่า ที่เมืองฮาร์เล็ม ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ครึ่งหนึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เด็กชายวัยแปดขวบเดินกลับบ้าน ระหว่างทางพบรูรั่วที่เขื่อน เขารู้ว่ามันเป็นสถานการณ์อันตราย หากเขื่อนแตก น้ำจะทะลักเข้าท่วมเมือง คนจำนวนหนึ่งจะตาย
เด็กชายยัดนิ้วของเขาเข้าไปอุดรูรั่วนั้น รู้ว่าที่จุดเปลี่ยวไร้ผู้คนผ่านมา มันก็คือการฆ่าตัวตาย แต่เขาก็เลือกทางนี้
วันที่ 26 เมษายน 1986 โรงปฏิกรณ์ปรมาณูนิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด เกิดการแผ่รังสีไปทั่ว แล้วกระแสลมก็พัดพารังสีกระจายไปทั่วบางส่วนของโซเวียตและยุโรปตะวันตก
ตอนนั้นชั้นใต้ดินถูกน้ำท่วมหมด พวกเขาต้องส่งคนเข้าไปเปิดประตูน้ำ ปล่อยน้ำออก โดยเปิดวาล์วด้วยมือ แต่วาล์วอยู่ใต้น้ำที่ปนเปื้อนรังสี
หมายความว่าการไปเปิดประตูน้ำคือการฆ่าตัวตาย แต่ถ้าไม่ทำ คนหลายสิบล้านคนอาจจะตายเพราะรังสี
เจ้าหน้าที่สามคนที่อยู่เวรในวันนั้น สองคนเป็นวิศวกร สองคน หัวหน้าคนงาน รวมสามคนไปทำงานนี้ รู้เต็มอกว่าเป็นการฆ่าตัวตาย
ในมุมมองนี้ การฆ่าตัวตายอาจเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับคนทั้งหมด
จะเห็นว่า เรื่องเดียวกันแท้ๆ มองได้หลายมุม และแต่ละมุมก็มีเหตุผลรองรับ
1
เมื่อเรามองรอบด้าน ครบมุม เราก็จะมีโลกทัศน์ชัดขึ้น มีวิสัยทัศน์กว้างขึ้น
หลายเรื่องเราทะเลาะกันที่มุมมอง บางมุมมองทำให้โลกทัศน์เราแคบลง
1
ชีวิตก็คือมุมมองและทัศนคติ (attitude)
การถกกันเรื่องระบอบประชาธิปไตยก็เป็นอีกตัวอย่าง
เมื่อเราดูสภาพการเมืองไทยตลอดสิบปีที่ผ่านมา บางคนอาจสรุปว่ามันเป็นการต่อสู้ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ คนฝั่งนี้มองว่าโลกมีสองระบอบนี้เท่านั้น เพราะศึกษาเล่าเรียนมาอย่างนี้ ได้รับข้อมูลอย่างนี้
นี่คือมุมมองที่ไม่ผิด แต่มันเป็นแค่มุมมองหนึ่ง
แต่หากดูประเทศสิงคโปร์ปกครองด้วยระบอบอะไร อาจได้อีกมุมมองหนึ่ง ที่มองต่างจากตัวอย่างข้างบน
ลีกวนยูจะมองว่า สิงคโปร์เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการแล้วไงหรือ เขามองข้ามมันไปอีกช็อตหนึ่งแล้ว
2
เขาเห็นว่าระบบอะไร ยี่ห้ออะไรไม่สำคัญ สำคัญว่ามันใช้ได้กับคนในชาติไหม ทำให้คนมีรอยยิ้มเพิ่มขึ้นไป ประเทศก้าวหน้าขึ้นไหม ก็คือเรื่องแมวดำแมวขาวของเติ้งเสี่ยวผิง
1
จะเห็นว่าขณะที่คนฝั่งหนึ่งมองว่าการเมืองมีแค่ระบอบ ก. ประชาธิปไตย ข. ระบอบเผด็จการ
ลีกวนยูเห็นว่ามันยังมีระบอบ ค. ง. จ. ช. ที่เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ
เนื่องจากตำราทั่วโลกไม่ได้บรรจุเรื่องระบอบ ค. ง. จ. ช. หลายคนจึงคิดว่านอกเหนือจากที่สอนมาคือผิดเพี้ยน
วิธีคิดแบบนี้อาจทำให้เราแคบลง
ดังนั้นนักเขียนต้องรู้จักมองต่างมุม ชำแหละทุกสิ่งทุกเรื่องที่เห็น มองทะลุเปลือกเสมอ
จะมองมุมต่างเหล่านี้ได้ ต้องเป็นนักคิดเท่านั้น
จะคิดลึกได้ ก็ต้องวิเคราะห์เป็น
นักเขียนที่ดีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นนักคิด
แต่นักคิดก็มีหลายระดับ
จะเป็นนักคิดที่ชาญฉลาด คมกริบ ก็ต้องลับสมองให้คมกริบ
1
จะสามารถเป็นคนที่มีมุมมองต่าง ก็ต้องคิดเรื่อยๆ สะสมข้อมูล และลับความคิดของตนให้คมตลอดเวลา
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่งเป็นนักคิดคือการอ่านหลากหลายจึงสำคัญ อ่านด้านเดียว เรื่องเดียว ไม่ทำให้กว้างเท่าอ่านหลายอย่าง เพราะบ่อยครั้งเรานำความรู้จากหลายศาสตร์มารวมกัน นักคิดนำหลายศาสตร์ที่ดูไม่เกี่ยวกันมารวมกัน จึงจะได้ความคิดใหม่
1
จะคิดได้อย่างนี้ ก็ต้องอ่าน ต้องศึกษา ต้องวิเคราะห์ทุกเรื่องในโลก มองโลกกว้าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับเรื่องใดจุดใดจนกลายเป็นกรอบล้อมตัวเรา
1
อ่านมาก อ่านระหว่างบรรทัด อ่านวิเคราะห์ อ่านมุมมองของคนอื่นๆ แล้ววิเคราะห์ต่อ จนกระทั่งตกผลึก จึงจะสามารถเขียนได้ดีและแหลมคม
สมัยผมเป็นเด็ก เราเรียกการอ่านแบบนี้ว่า “อ่านแตก”
ในโลกโซเชียลที่เกลื่อนกลาดด้วยข่าวปลอมเรื่องแต่ง การวิเคราะห์ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ
หลักการก็เหมือนเดิมคือ อ่านให้ทะลุ เหมือนเครื่องเอ็กซเรย์
ต้องหามุมมองต่อทุกเรื่องในโลก อนาคตศาสตร์ จะเกิดอะไร โลกจะเป็นอย่างไร
จะคิดอย่างนี้ได้ จะคิดนอกกรอบเดิมได้ ต้องมีข้อมูลมหาศาล ต้องศึกษาหาความรู้ หาข้อมูลทุกชนิด
ต้องสามารถย่อยรวมข้อมูลต่างๆ มาเชื่อมกัน เพราะทุกวิชาในโลกมีความเกี่ยวข้องกัน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ต้องรู้จักย่อยข้อมูลที่อ่านออกมาเป็นความคิด
คนที่คิดอะไรอย่างนี้ได้ ต้องเปิดใจกว้างเท่ามหาสมุทร ไม่เช่นนั้นความคิดจะไม่กว้างพอ หรือมีอคติบดบัง
ข้อสำคัญที่สุดคือ ถึงไม่เป็นนักเขียน ก็เป็นนักคิดได้
และควรเป็นด้วย
3 บันทึก
33
3
3
33
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย