9 ต.ค. 2024 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

เคล็ดลับ Mindset ของนักธุรกิจพันล้านที่ประสบความสำเร็จ

เชื่อว่ายุคนี้ ผู้ประกอบการทุกคน อยากที่จะพัฒนากรอบความคิด หรือ Mindset ของตัวเองให้เป็นแบบเดียวกับนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ธุรกิจของเรามีความมั่นคงและเติบโตได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ โดยบทความนี้ ขอนำเสนอ Mindset ในการทำธุรกิจแบบนักธุรกิจพันล้าน จาก ดร.แสนสุข พิทยานุกุล (CEO แบรนด์ Smooth-E) ที่คุณอ่านแล้ว จะพบว่า บาง Mindset ในบทความนี้ที่คุณยังไม่มีนั้น อาจเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโต
1) รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน และสร้างทีมให้สอดคล้องกับตัวเราเอง
หากเราเคยศึกษาประวัติของผู้ประกอบการในโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จ แต่ละคนต่างมีบุคลิกที่แตกต่างกัน เช่น สตีฟ จอบส์ ก็ดูเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าเปลี่ยนแปลง ขณะที่ บิล เกตส์ เป็นคนชอบวิเคราะห์ วางแผนเป็นระบบ ฯลฯ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะมีบุคลิกภาพแบบใด คุณก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ขอแค่รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง คุณจะรู้ว่า ควรหาใครที่เป็นหุ้นส่วนหรือจ้างทีมงานแบบไหนบ้าง ที่จะช่วยเสริมจุดแข็งและปิดจุดอ่อนของคุณ
ในปัจจุบัน มีแบบทดสอบบุคลิกภาพมากมายให้เลือก เช่น DISC, BOSI DNA, StrengthsFinder ฯลฯ ที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกทำได้ตามวัตถุประสงค์ในการทำความเข้าใจตัวเอง ยิ่งเราเข้าใจตัวเอง เราจะรู้ว่า อะไรที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจของเรา หรือไม่เหมาะกับเรา เช่น เราเป็นคนไม่ชอบเสี่ยง เราก็ไม่ควรลงทุนในธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง แต่จะใช้วิธีค่อยๆ ลงทุนหรือเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ และค่อยขยายธุรกิจเมื่อมีความมั่นใจ ก็จะทำให้เราไม่กดดันตัวเองมากเกินไป ฯลฯ
2) สินค้าจะขายดีแบบยั่งยืน คือ Make New Things Better Happen to Others
สินค้าทั่วไป มักจะคิดแค่ว่า ทำอย่างไรให้แตกต่างจากลูกค้า แต่สินค้าที่ขายดีแบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่ทำให้แตกต่างจากลูกค้า แต่ต้องเป็นสิ่งใหม่ อาจจะเป็นนวัตกรรม หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิดมาก่อน ที่สำคัญ สินค้าของเราต้องทำให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าดีขึ้น รวมถึงไม่ส่งผลร้ายต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ตามเทรนด์ ESG (Environment Social Governance) บริษัทจะไม่มีทางขายดี ถ้าสินค้าหรือบริการที่ขาย ไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าดีขึ้น และบริษัทอาจจะอยู่ไม่รอดในโลกนี้ ถ้าไม่ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างของบริษัทที่ทำได้ดี คือ Volvo ที่ปัจจุบัน มุ่งเน้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบบพรีเมียม ไม่แข่งสงครามราคา ซึ่งคู่แข่งแทบไม่กล้าทำตาม เนื่องจากกลัวปัญหาเรื่อง ความต้องการของผู้บริโภคที่ปัจจุบันยังมีไม่มาก แต่อนาคตจะมากขึ้นอย่างแน่นอน โดย Volvo ยกเลิกการออกแบบเครื่องยนต์สันดาปที่ก่อมลภาวะทางอากาศ เปลี่ยนมาใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น มีจำนวนชิ้นส่วนที่ลดลง แถมยังกล้าแชร์นวัตกรรมความปลอดภัยที่เป็นสิทธิบัตรของตัวเองให้ทุกบริษัทผลิตรถยนต์สามารถนำไปใช้ เพื่อให้การขับขี่รถยนต์ทั่วโลกมีความปลอดภัย
3) หา Winning Zone ของตัวเอง ให้เจอ
ในธุรกิจ เราคงไม่เก่งทุกๆ อย่าง แล้วก็อาจไม่ได้มีเงินทุนเยอะ เพราะฉะนั้น อย่างแรกเราต้องเชื่อและพิสูจน์ให้ได้ว่า เราเก่งอะไรบ้าง? เพราะสิ่งที่คุณเก่ง สิ่งที่คุณทำได้แตกต่างจากคู่แข่ง และตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เรียกว่า Winning Zone แต่ SMEs หรือธุรกิจ กลับไปเลียนแบบสิ่งที่คู่แข่งเก่ง ต่อให้เราเก่ง ก็แข่งกันลำบาก สู้เราไปอยู่ในโซนที่เราเก่ง แต่คู่แข่งยังทำได้ไม่เก่ง จะดีกว่า เพราะจะยากที่คู่แข่งจะตามเราทัน
ตัวอย่างการหา Winning Zone: เครื่องสำอางค์ Smooth E มี winning zone คือ นวัตกรรมโฟมไม่มีฟอง สำหรับกลุ่มลูกค้าที่อยากล้างหน้าแต่ไม่ชอบฟอง แล้วก็เสริมเรื่องวิตามิน E ที่ลดรอยแผลเป็นเข้าไป ซึ่งสมัยก่อน ยังไม่มีคู่แข่งทำโฟมล้างหน้าแบบนี้มากนัก ทำให้ลูกค้าที่ต้องการสินค้าแบบนี้ เปลี่ยนมาลองใช้สินค้าของเราแทน
4) ระบบที่ดี จะทำให้ยอดขายเติบโตแบบไม่ตก
ระบบการดำเนินงานของธุรกิจ เปรียบเสมือน “เบื้องหลัง” ของการทำธุรกิจ ทำให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างราบรื่น และถ้าอยากทำธุรกิจให้เติบโต การมีระบบที่ดี จะทำให้การขยายธุรกิจทำได้อย่างไม่สะดุด เช่น เราทำร้านอาหาร ถ้าขยายไปเปิดสาขาที่อื่น ต้องกลับมาดูทั้ง “ครัวกลาง” “สายส่งวัตถุดิบ” “สูตรและวิธีการทำอาหาร” “ระบบการตรวจสอบคุณภาพ” “คู่มือการบริหารงาน” เป็นต้น เพื่อให้ทุกสาขา มีคุณภาพของอาหาร และรสชาติที่ได้มาตรฐานในการส่งมอบให้ลูกค้า สามารถตอบสนองตามที่ลูกค้าต้องการและเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้
ระบบการดำเนินงานจะดีหรือไม่ สามารถวิเคราะห์ผ่านทางส่วนประกอบธุรกิจ ดังต่อไปนี้
> สินค้า/บริการและแบรนด์
> กลุ่มเป้าหมาย
> คู่ค้าและพันธมิตร
> ทรัพยากรในการผลิตและการดำเนินงาน
> ห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
> กลยุทธ์การตลาดและการขาย
> โครงสร้างรายได้และต้นทุนทั้งหมด
> กิจกรรมหลักในการดำเนินธุรกิจ
> ช่องทางจัดจำหน่ายและบริการหลังการขาย (ถ้ามี)
อยากฝาก Mindset ทั้ง 4 ข้อ สำหรับตรวจสอบว่า ธุรกิจของเราทำได้ครบหรือไม่
ถ้าขาดข้อไหน ลองทำข้อนั้นดู จะทำให้ธุรกิจของเราดีขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น และมีความสุขเพิ่มขึ้น
เรียบเรียงจาก หนังสือ “Sold Out เคล็ดลับการตลาดที่ทำให้ “ขายดี” จนผลิตไม่ทัน” โดย ดร.แสนสุข พิทยานุกุล (CEO แบรนด์ Smooth-E)
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ธนโชค โลเกศกระวี
โฆษณา