10 ต.ค. เวลา 11:00 • ธุรกิจ

คุณเป็นใคร? ในธุรกิจครอบครัว

“สายสัมพันธ์ครอบครัว” แตกต่างจาก “สายสัมพันธ์ธุรกิจ” แม้มีชื่อ เป็น “ผู้ถือหุ้น” แต่อาจไม่ใช่ “เจ้าของที่แท้จริง” ในธุรกิจครอบครัว เรื่องราวเป็นอย่างไร สุดท้ายลงเอยแบบใด ลองมาติดตามจากบทความ
สมาชิกครอบครัวมักเข้าใจไปเองว่าเมื่อเป็นคนในครอบครัวแล้วต้องได้รับ “สิทธิพิเศษ” (Family Privileges) เสมอตามด้วย “การปฏิบัติเป็นพิเศษ” (Special Treatment) และได้รับการตอบแทนที่เหนือกว่า “คนอื่น” ที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว (Non-Family Member)
ความทับซ้อน บวกด้วยการคิดไปเอง และถูกเพิ่มเติมจาก “ปัจจัยส่วนตัว” เช่น ผู้ชาย ผู้หญิง เพศทางเลือก ลูกคนเดียว พี่คนโต ลูกคนกลาง น้องคนเล็ก แต่งงาน/ไม่แต่งงาน มีลูก/ไม่มีลูก มีลูกมาก/มีลูกน้อย และอื่นๆ อีกมากมายที่แวดล้อม “คนในครอบครัว” ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับธุรกิจมีความซับซ้อน
ความซับซ้อนที่ไม่ได้ “สื่อสาร” ให้ชัดเจนมักส่งผลร้ายต่อธุรกิจครอบครัวให้เห็นเสมอ ดังกรณี “หุ้นกงสี” ในธุรกิจครอบครัวที่อธิบายความสัมพันธ์ในธุรกิจโดยการตีความของศาลว่า “ถือหุ้นเอง” หรือ “ถือหุ้นแทน” เมื่อ “กงสีแตก” หลังจากผู้นำครอบครัวจากไปก่อนวัยอันควร และไม่ได้เตรียมพร้อมล่วงหน้า ตามมาด้วย “คนกงสี” มี “คดีพิพาท” เพื่อหาทางยุติข้อพิพาทที่ไม่สามารถ “สื่อสาร” กันได้เองภายในครอบครัว
ธุรกิจครอบครัวรายหนึ่ง “พ่อ” สร้างธุรกิจหลากหลาย...ไม่มีแผนสืบทอดกิจการ (No Succession Plan) และจากไปก่อนส่งมอบกิจการให้ “รุ่นถัดไป” พร้อมทิ้งมรดกมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดย “ไม่มีพินัยกรรม” ทั้งนี้ มรดกส่วนใหญ่เป็น “หุ้น 26 บริษัท” ที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสภาพคล่องต่ำ และกระจายการลงทุนร่วมกับ “หุ้นส่วน” (Joint Venture Partner) หลายกิจการ
หุ้นบริษัทใน “ธุรกิจกงสี” รายนี้ มีทั้ง “ชื่อพ่อ” ถือหุ้นเอง และ “ชื่อลูกชาย” ถือหุ้นแทนพ่อ ข้อพิพาทครอบครัวนี้เกิดขึ้นเมื่อลูกชายคนเดียว เข้าใจไปเองว่า “ชื่อลูกชาย” ในทะเบียนหุ้นเป็นของตัวเองไม่ใช่ “ถือหุ้นแทนพ่อ” ต่อมา แม่และพี่สาว ฟ้องร้อง “น้องชาย” ให้ส่งคืน “หุ้นที่น้องชายถือแทนพ่อ” เพื่อ (1) “แยกสินสมรส” พ่อและแม่ (2) เรียกคืนหุ้นเพื่อนำสู่ “กองมรดกพ่อ” เพื่อแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททั้งหลาย
ประเด็นที่น่าสนใจของธุรกิจครอบครัวรายนี้ คือ การสื่อสารที่ชัดเจนสามารถอ้างอิงและพิสูจน์ได้ ในกรณีตัวอย่างนี้ ศาลได้ตีความจาก “ข้อเท็จจริงสำคัญในครอบครัว” ย้อนเวลาไปตั้งแต่เมื่อ “ผู้นำครอบครัว” ยังมีชีวิตอยู่และนำข้อเท็จจริงเหล่านี้มา “ยุติข้อพิพาทกงสี” ด้วยเหตุผล
1. ลูกชายเข้ามาช่วยทำงานบริหารบริษัทในเครือที่พ่อก่อตั้งขึ้น 26 บริษัท
2. พ่อมีอำนาจจัดการโอนหุ้นของบริษัทได้เพียงผู้เดียวไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคนในครอบครัว
3. แม้พ่อให้ลูกคนใดถือหุ้นบริษัทใดแล้ว แต่พ่อก็ยังสามารถ “เรียกหุ้นคืน” และโอนหุ้นนั้นไปยังบุตรคนอื่นได้ โดยไม่มีค่าตอบแทน
4. พฤติการณ์เหล่านี้เป็นเพราะมี “ข้อตกลงในครอบครัว” ว่า “คนกงสี” รายใดประพฤติเสียหาย ไม่ขยัน ไม่ซื่อสัตย์ หรือมีปัญหาทำงานไม่ได้ พ่อมีสิทธิโอนหุ้นคืนหรือโอนให้คนที่เหมาะสมกว่าเมื่อใดก็ได้ตามที่พ่อต้องการ
5. ศาลตัดสินว่า “พ่อให้ลูกชายมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไว้แทนพ่อเท่านั้น มิได้ยกหุ้นให้เป็นสิทธิเด็ดขาดของลูกชายเพียงผู้เดียว”
“ข้อตกลงในครอบครัว” เป็นสาระสำคัญ ที่ สื่อ ถึงความเป็นเจ้าของหุ้น ที่ครอบครัวยอมรับร่วมกัน...แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือลายลักษณ์อักษร ศาลยังยอมรับให้เป็นข้อเท็จจริงในการยุติข้อพิพาทในครอบครัวตามแนวทาง “เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ” (Substance Over Form) ทั้งนี้ ศาลให้ความสำคัญกับ “ข้อตกลงในครอบครัว”​ (Substance) มากกว่า “ทะเบียนหุ้น” (Legal Form)
“หุ้นกงสี” เป็นส่วนหนึ่งของ “ทรัพย์กงสี” ในธุรกิจครอบครัวที่ต้องรับผลประโยชน์ร่วมกัน (Common Interest) ด้วยเหตุผล
หุ้นสะท้อน “ความเป็นเจ้าของ” บริษัท
หุ้นสะท้อน “ความมั่งคั่ง” ผ่าน “เงินปันผล”
หุ้นสะท้อน “อำนาจควบคุม” ผ่านการแต่งตั้ง “กรรมการบริษัท”
หุ้นสะท้อน “การสืบทอด” ผ่าน “หุ้นมรดก”
ดีกว่าหรือไม่? หากสมาชิกครอบครัวเคารพในหลักการของครอบครัว “เข้าใจ” และ “ยอมรับ” ในข้อตกลงเหล่านี้ในการจัดการ “ทรัพย์กงสี” แม้ว่า “ผู้นำครอบครัว” จะตายจากไป โดยไม่ต้อง “ยึดติด” กับ “บุคคล”
จริงอยู่ที่เงื่อนไขทางกฎหมายเป็น “ข้อบ่งชี้” ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ แต่ครอบครัวควรใช้เครื่องมืออื่นที่เป็นที่ยอมรับ ในการแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ควรรอให้ “กฎหมาย” กลายเป็นเครื่องมือในการยุติข้อพิพาทที่มี “ความซับซ้อน” และต้องมา “จบกัน” ที่ศาล
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
โฆษณา