10 ต.ค. 2024 เวลา 03:55 • หนังสือ

ข้อคิดสำหรับนักเขียนมือใหม่

จากประสบการณ์ที่ผมเขียนบทความออนไลน์ในเว็บ Medium หลายปี และให้นิสิตวิชา Innovative Thinking เขียนบทความใน Medium เป็นภารกิจสำคัญของวิชานี้
หลายคนที่ไม่เคยเขียนบทความยาวๆ มาก่อน จะพบปัญหามาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาทัศนคติหรือความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้อง
ผมขอยกตัวอย่างความเข้าใจที่ยังไม่ค่อยถูกของคนเพิ่งเริ่มเขียนครับ
1. ฉันยังไม่เก่งพอ
บางคนคิดว่า ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเก่งสุดๆ ด้านใดด้านหนึ่งซะก่อน จึงจะเขียนบทความให้คนอื่นอ่านได้
ที่จริงแล้ว แค่เรามีประสบการณ์ในบางเรื่อง ก็มีคุณสมบัติพอที่จะเขียนเรื่องนั้นได้แล้ว เช่น
- นิสิต นักศึกษาที่กำลังเรียนมหาลัยไหนก็ตาม เขียนบทความเล่าวิธีเตรียมตัวเข้ามหาลัยให้เด็กม.ปลายอ่าน
- คุณแม่ที่มีลูกอ่อน เขียนบทความเล่าประสบการณ์คุณแม่ให้คนที่กำลังตั้งท้องอ่าน
- คนที่โดนคนอื่นหลอก เขียนบทความเล่ากลโกงของมิจให้คนที่ยังไม่เคยโดนทราบ
ทุกคนมีความรู้ ประสบการณ์ ข้อคิดที่คนอื่นไม่มีทั้งนั้น คุณไม่ต้องจบดอกเตอร์ ไม่ต้องจบมหาลัย แม้แต่เด็กประถมก็เขียนบทความเล่าชีวิตการเรียนในโรงเรียนตัวเอง ให้ผู้ปกครองที่อยากเอาลูกเข้าโรงเรียนนั้นทราบได้
2 ฉันยังเขียนไม่เก่ง
ไม่มีใครเขียนเก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องฝึกเขียนบ่อยๆ ผมเองก็ไม่ใช่คนเขียนเก่ง แค่เขียนคล่องขึ้นกว่าเดิม
ถ้าใครอยากเอาดีด้านการเขียน ก็หาหนังสือหรือคอร์สออนไลน์ฟรีมาศึกษา ซึ่งมีมากมายในยุคนี้
แต่อ่านหนังสือการเขียน 100 เล่มก็ยังสู้การเขียนบทความ 10 เรื่องไม่ได้ เพราะคุณจะได้ประสบการณ์จริงและเรียนรู้วิธีการเขียนจริงๆ ที่ไม่ใช่ทฤษฎีอีกต่อไป
3. เรื่องที่ฉันอยากเขียน มีคนเขียนไปหมดแล้ว
แต่ยังไม่มีใครเขียนแบบที่คุณเขียนนี่ครับ มุมมอง ความเชื่อ ทัศนคติของคุณเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเหมือน แม้แต่เอไอก็คิดแบบคุณไม่ได้
หนังสือด้านการเงินมีมากมายมหาศาล ยังพิมพ์ขายได้ เพราะนักเขียนแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน
ไม่ต้องห่วงว่า เรื่องที่คุณอยากเขียนจะไปซ้ำคนอื่น แต่ห่วงว่า คุณเริ่มเขียนแล้วยังดีกว่า
4. เขียนครั้งแรก ต้องสมบูรณ์แบบทันที
หลายคนเข้าใจว่า เมื่อนั่งพิมพ์บทความแล้ว จะต้องเขียนให้เสร็จและสมบูรณ์แบบทันทีในตอนนั้น
เรื่องนี้ค่อนข้างยากสำหรับมือใหม่ แม้แต่นักเขียนเก่งๆ ก็ไม่ค่อยมีใครทำได้ ส่วนใหญ่จะเขียนต้นแบบแรกก่อน แล้วทิ้งไว้สักวัน สองวัน แล้วมาขัดเกลา ปรับสำนวน แก้คำผิดใหม่
นักเขียนหลายคนแนะนำว่า การเขียนครั้งแรกเป็นการเอาไอเดียจากหัวของเรา ใส่บนกระดาษหรือซอฟต์แวร์ก่อน ยังไม่ต้องสนใจความถูกต้อง บางคนเรียกขั้นตอนนี้ว่า "อ้วก (vomit)"
รอบที่สอง จึงค่อยมาแก้ไขให้สมบูรณ์ พร้อมเผยแพร่
5. เขียนแล้ว กลัวโดนวิจารณ์
เช่น "เขียนไม่ได้เรื่อง" , "อ่านไม่รู้เรื่อง" , "เก่งแค่ไหน ถึงบังอาจมาเขียนเรื่องนี้" เป็นต้น
ขอให้ยอมรับว่า คำวิจารณ์งานเขียนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ลองอ่านคำวิจารณ์ด้วยใจที่เป็นกลาง บางคนเขียนคำวิจารณ์ด้วยความมันสะใจแบบเกรียนคีย์บอร์ด ก็อย่าไปสนใจเลย
แต่ถ้าเป็นคำวิจารณ์หรือข้อเสนอแนะที่ช่วยงานเขียนหรือทำให้ไอเดียของเราคมชัดขึ้น ก็น้อมรับไว้ เพื่อปรับปรุงงานเขียนของเราในครั้งต่อไป
อีกอย่างหนึ่ง งานเขียนเป็นเรื่องที่ขึ้นกับความชอบแต่ละคนมาก บางคนชอบสไตล์นี้ บางคนชิงชังการเขียนแบบนี้
ถ้าไปดูหนังสือขายดีใน Amazon ต่อให้เป็นหนังสือดีแค่ไหนก็ตาม ก็ยังมีคนให้ 1 ดาวเกือบทุกเล่มเพราะไม่ชอบ
6. การเขียนเสียเวลามาก ต้องหาเวลาหลายชั่วโมงในการเขียน
เป็นเรื่องจริงว่าบางบทความที่ต้องค้นคว้าเยอะ อาจใช้เวลาเขียนหลายชั่วโมง
แต่ไม่จำเป็นว่า ต้องหาเวลาหลายชั่วโมงในการเขียนบทความนั้นในครั้งเดียว
คุณอาจเขียนได้สัก 30 นาที แล้วหยุดไปทำงานสำคัญ แล้วหาเวลาว่างสัก 15 นาทีมาเขียนต่อ แล้วทำแบบนี่ไปเรื่อยๆ
ไอแซค อาซิมอฟ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก ก็ชอบใช้เวลาว่าง 10 - 15 นาที นั่งเขียนหนังสือ สะสมไปเรื่อยๆ
เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว ไฟฉาย ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น
สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที
โฆษณา