10 ต.ค. เวลา 08:36 • การศึกษา
INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน

เริ่มวางแผนทางการเงินฉบับมือใหม่ ด้วยหลักการพีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid)

ในปัจจุบันชีวิตของพวกเราต้องพบเจอกับเรื่องเงิน ๆ ทองๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนเราทุกคนล้วนมีค่าใช้จ่ายตามติดตัวเราเหมือนเงาตามตัว เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มตาม หากเราไม่เริ่มเรียนรู้วิธีจัดการเรื่องเหล่านี้ อาจจะเกิดปัญหาที่เรียกว่า “ปัญหาทางการเงิน” ในภายหลังได้ เพราะเงินอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน ยิ่งเริ่มต้นวางแผนเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะ “พลังของดอกเบี้ยทบต้น” ที่ช่วยให้เงินออมของเรางอกเงย
หากเราเอาเงินออมไปลงทุน หรือฝากไว้ต่อเนื่องแบบไม่มีการถอนออกมา เราก็จะได้ดอกเบี้ยจากเงินต้นบวกกับดอกเบี้ยที่ได้รับก่อนหน้าทบกันไปเรื่อย ๆ จนเกิดดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง สำหรับใครที่อยากเริ่มวางแผนทางการเงินและการลงทุน แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี ในโพสต์นี้อาจมีคำตอบที่คุณกำลังมองหาอยู่ก็ได้ โดยเราจะเล่าทีละขั้นตอนและอ้างอิงหลักการ “พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid)” เพื่อให้มองเห็นภาพรวมได้กว้างขึ้นนั่นเอง
แต่ก่อนจะเริ่ม อยากให้ทุกคนสำรวจตัวเองก่อนว่าในปัจจุบันมีรายได้-ค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะเป็นตัวบ่งบอกถึง “สภาพคล่อง” ของเรา ถ้ามีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ หรือใครที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเอง เงินเริ่มขาดมือ หรือ เงินไม่พอ แสดงว่าเราเริ่ม “ขาดสภาพคล่อง” ต้องเริ่มสำรวจค่าใช้จ่ายตัวเองว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง หรือเพิ่มรายได้ผ่านทางไหนดี หากปล่อยให้เงินติดลบต่อไปเรื่อย ๆ ไม่นานก็จะเกิด “ปัญหาทางการเงิน” ได้
ดังนั้นจึงอยากชวนทุกคนมาเริ่มบันทึกรายรับ-รายจ่ายเพื่อเป็นการตรวจสอบว่าเรามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ไม่จำเป็น อาจจะเริ่มจากการจดลงบนสมุด หรือใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่อจดบันทึกก็ได้ หลังจากตรวจสอบช่องโหว่ทางการเงินแล้ว เราจะมาหาทางอุดช่องโหว่เหล่านั้นกัน เมื่อมีรายได้แล้วสิ่งแรกที่อยากแนะนำให้ทำคือ “การหักออม” เพื่อเป็นการจ่ายให้ตัวเองก่อน เพราะถ้ารอให้เงินเหลือแล้วค่อยเก็บ เราอาจจะใช้จ่ายลืมตัวจนไม่ได้เก็บก็ได้
เพราะฉะนั้นให้เอาเงินออมหักออกจากรายได้ แล้วค่อยนำเงินที่เหลือไปเป็นค่าใช้จ่ายนั่นเอง
รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย
โดยอาจจะเริ่มหักออมที่ 10% ของรายได้ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็น 20% หรือ 30% แล้วแต่ความสะดวก แต่จะต้องไม่เบียดเบียนตัวเองจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น หากได้รับเงินเดือนจำนวน 18,000 บาท ต้องการหักออม 10% เป็นเงิน 1,800 บาทนั่นเอง แต่ในโพสต์นี้ผู้เขียนขอใช้ตัวเลขสมมติที่ 5,000 บาท เพื่อให้เป็นการง่ายต่อการแสดงตัวอย่าง ตามหลัก “พีระมิดทางการเงิน” เงินออมสามารถแบ่งเก็บได้หลากหลายส่วนตามหลักความสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานที่สำคัญที่สุดไปจนถึงยอดพีรมิดส่วนที่เป็นเรื่องของการสะสมความมั่งคั่ง
1. พีระมิดขั้นแรก (Basic Needs and Risk Management) เป็นขั้นที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าฐานของพีระมิดแข็งแรง ส่วนอื่น ๆ ก็จะมั่นคงไปด้วย ส่วนนี้จะเป็นการออมเพื่อปกป้องเราจากความไม่แน่นอนของชีวิต เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของเรา เช่น ประสบอุบัติเหตุ ตกงาน เจ็บป่วย หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินกระทันหัน ซึ่งในส่วนนี้ควรมี
  • เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน: หากปกติเรามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน เงินสำรองฉุกเฉินขั้นต่ำที่เราควรมีคือ 20,000*3 = 60,000 บาท หรือถ้าต้องการเพิ่มเป็น 6 - 12 เท่าก็ได้เช่นกัน โดยการเริ่มออมอาจจะไม่ต้องออมเป็นก้อนทีเดียว แต่ใช้วิธีทยอยออมทุก ๆ เดือน อาจจะเริ่มเก็บจากการหัก 10% ของรายได้ หรือแล้วแต่ตามกำลังที่ไหว ขอแค่มีวินัยตั้งใจออมในทุกเดือน
วิธีเก็บ: ควรเก็บในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูงที่เราสามารถแปลงกลับเป็นเงินสดได้ง่ายเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และมีความผันผวนต่ำที่เมื่อเราถอนออกมามูลค่าไม่ลดลงตามสภาวะตลาด ยกตัวอย่างเช่น
- เงินฝากออมทรัพย์: ดอกเบี้ยน้อย ผลตอบแทนสู้อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ในระยะยาว แต่เงินต้นไม่หาย สภาพคล่องสูงมาก ฝาก-ถอนเงินออกเมื่อไหร่ก็ได้
- เงินฝากประจำ: มีการกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากบัญชีออมทรัพย์เล็กน้อย แต่ถ้าถอนก่อนก็จะไม่ได้ดอกเบี้ยตามที่กำหนด
- สลากออมสิน หรือ สลาก ธ.ก.ส.: คล้ายฝากประจำ มีระยะเวลาฝากที่แน่นอน ได้รับดอกเบี้ยไม่ต่างนักกับการฝากเงิน เหมาะสำหรับคนชอบเสี่ยงโชคเพราะได้ลุ้นถูกรางวัลพร้อมกับเก็บเงินต้นไปด้วย
- พันธบัตรรัฐบาล: เหมือนสัญญากู้เงินชนิดหนึ่ง โดยที่จะมีรัฐบาลเป็นลูกหนี้เรา มีระยะเวลาถือชัดเจน เช่น 3, 5, 7 ปี เราจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ และได้รับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยรายปีในตอนครบกำหนดสัญญา
- กองทุนรวมตลาดเงิน: กองทุนรวมที่ลงทุนในเงินฝาก ตั๋วเงิน หรือตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปีในการไถ่ถอน หรือกำลังจะคืนเงินต้น กองทุนรวมตลาดเงินให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากออมทรัพย์ มีสภาพคล่องสูง และได้รับการยกเว้นภาษีอีกด้วย
- กองทุนรวมตราสารหนี้: กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งตราสารหนี้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ หุ้นกู้ (ออกโดยบริษัท) พันธบัตรรัฐบาล (ออกโดยรัฐบาล) โดยมีทั้งแบบลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) และระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) กองทุนรวมตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากออมทรัพย์ มีสภาพคล่องสูง รวมถึงได้รับการยกเว้นภาษี
  • เงินสำหรับโอนย้ายความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุโดยการทำสัญญาประกันภัย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ไม่ได้ หากเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุขั้นร้ายแรงขึ้นมาอาจจะต้องใช้เงินมากกว่าที่เราคิดก็ได้ อย่าให้ความเสี่ยงเหล่านี้มากระทบกับเงินออมของเราจะดีกว่าสัญญาประกันภัยมีหลากหลายรูปแบบ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิตควบการลงทุน สามารถเลือกตามที่สนใจได้เลย แต่ก็อย่าลืมอ่านกรมธรรม์ของรูปแบบประกันที่เราสนใจให้ละเอียดด้วย
2. พีระมิดขั้นกลาง (Accumulation / Savings) เป็นการออมเงินสำหรับเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
  • เป้าหมายระยะสั้น คือ เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้สำเร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี เช่น การออมเพื่อการศึกษา หรือการท่องเที่ยว เพราะเป็นการออมเพื่อเก็บเงินภายในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงเหมาะสำหรับการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง และมีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากธนาคาร ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นและอื่น ๆ
  • เป้าหมายระยะกลาง คือ เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการปริมาณเงินจำนวนหนึ่งและใช้ระยะเวลา 3 ถึง 7 ปีในการสะสม เช่น การเก็บออมเพื่อดาวน์บ้าน การเก็บเงินเพื่อดาวน์รถ การแต่งงาน หรือสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ เหมาะสำหรับเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงระดับกลาง เช่น หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสมหรือกองทุนรวมความเสี่ยงปานกลาง และอื่น ๆ
  • เป้าหมายระยะยาว คือ เป้าหมายทางการเงินที่ต้องใช้ระยะเวลา 7 ปีขึ้นไปในการสะสม เช่น การออมเพื่อวัยเกษียณ สำหรับเอาไว้ใช้จ่ายในตอนที่ไม่ได้ทำงานหรือไม่มีรายได้เพิ่ม โดยการออมส่วนนี้เหมาะสำหรับเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง เนื่องจากมีระยะเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างนาน จึงช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยงได้ เช่น หุ้นพื้นฐานดี หุ้นปันผล กองทุนรวมหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และอื่นๆ
การวางแผนเกษียณ คือ การทยอยเก็บเงินและลงทุนในระยะยาว เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายตอนหลังเกษียณ หรือ เลิกทำงานแล้ว โดยการวางแผนเกษียณควรเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน เพราะ ยิ่งมีระยะเวลาสะสมนานเท่าไหร่ยิ่งช่วยผ่อนแรงการออมต่อเดือนได้ ซึ่งปัจจัยหลักที่ช่วยให้ทุนเกษียณเติบโตมีอยู่ 3 อย่าง คือ เงินออมที่สม่ำเสมอ อัตราผลตอบแทน และระยะเวลาการลงทุน
ขั้นตอนการวางแผนเกษียณสามารถเริ่มได้จาก...
[รายจ่ายปัจจุบัน * (1 + อัตราเงินเฟ้อต่อปี) ^ระยะเวลาออมเงิน] * 12 * ระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณ = จำนวนเงินเก็บที่ต้องใช้หลังเกษียณ]
  • 1.
    อายุเกษียณลบอายุปัจจุบันเพื่อหาระยะเวลาออมเงิน เช่น เกษียณตอนอายุ 60 ปี ปัจจุบันอายุ 23 ปี จะได้เวลาออมเงิน 37 ปี
  • 2.
    หารายจ่ายต่อเดือน ณ ปีที่เริ่มใช้เงินเก็บพร้อมคิดในอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี เช่น รายจ่ายปัจจุบัน 15,000 บาท:เดือน คิดรวมอัตราเงินเฟ้อ ปีที่เริ่มใช้เงินเก็บหรือตอนอายุ 60 ปีจะอยู่ที่ 15,000*(1+0.03)^37 = 44,778.4 บาท:เดือน
  • 3.
    นำรายจ่ายต่อเดือนที่ได้คูณด้วยระยะเวลาใช้เงิน เช่น อายุเกษียณ 60 ปี คาดว่าอยู่ถึง 90 ปี จำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องมีใช้หลังเกษียณ คือ (90-60)*12*44,778.4 = 16,120,224 บาท
สรุปจำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ [15,000 * (1+0.03)^37] * 12 * (90 – 60) = 16,120,224 บาท
หรืออีกวิธีหนึ่งในการวางแผนเกษียณโดยไม่ต้องคำนวณเองให้ยุ่งยาก ทุกคนสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน (Investment Discovery Museum) หรือ INVESTORY เพื่อเล่นเกมที่ช่วยคำนวณจำนวนเงินที่ควรมีหลังเกษียณพร้อมทั้งแนะนำพอร์ตการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองได้
โดยที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนแห่งแรกของประเทศไทย ภายในพิพิธภัณฑ์มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการสื่อการเรียนรู้ให้ผู้ชมได้ลองปฏิบัติจริง หากใครสนใจสามารถเข้าชมได้ที่บริเวณชั้นใต้ดินอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงในรูปแบบ Virtual Museum ผ่านเว็บไซต์ https://investory.setgroup.or.th/ ก็ได้เช่นกัน
เมื่อเข้าไปหน้าเว็บไซต์จะเจอหน้าตาแบบนี้ ให้ทุกคนกดเข้า Game zone และเลือกตู้เกม JOURNEY TO MY PORT จากนั้นกด “เริ่มเล่น” และเลือกการเข้าเล่นรูปแบบ SET member หรือ Guest ตามภาพด้านล่างนี้
จากนั้นหน้าเว็บไซต์จะแสดงขั้นตอนการเล่นเกมทั้ง 3 ส่วน โดยเริ่มจาก ตรวจสอบพฤติกรรมการใช้จ่าย ตรวจสอบเงินหลังเลิกทำงาน และตรวจสอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ให้ทุกคนคลิกเลือกภาษาที่ต้องการได้เลย ซึ่งการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้จ่ายจะมีให้เลือกตัวละคร ใส่ชื่อ อายุ และคลิกเลือกค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เพื่อตรวจสอบปัญหาทางด้านการเงิน หรือที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้สมมติเป็นตัวละครที่มีชื่อว่า “Money Monsters”
ขั้นต่อไปจะเป็นการตรวจสอบเงินหลังเลิกทำงาน โดยจะมี Timeline ให้เราเลือกอายุปัจจุบัน อายุที่เลิกทำงาน และสิ้นอายุขัย จากนั้นให้ใส่ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อเป็นการคำนวณจำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันที่เลิกทำงานพร้อมคิดตามอัตราเงินเฟ้อปีละ 3% ร่วมด้วย จากนั้นจะมีการให้ใส่จำนวนเงินออมทั้งหมดที่มีในปัจจุบัน และเงินออมที่ฝากเพิ่มในแต่ละเดือน โดยตัวเกมมีการคำนวณว่าหากเราออมเงินเพิ่มในแต่ละเดือนทุก ๆ เดือนตามระยะเวลาออมเงินในธนาคารที่ได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ 2%
ทำให้เราไม่สามารถชนะเงินเฟ้อและบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ จึงเสนอ “ทางรอด” แนะนำให้ผู้เล่น “ลงทุน” เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ต้องการสำหรับการบรรลุเป้าหมายเกษียณ ดังเช่นในตัวอย่าง ถ้าออมเงินเดือนละ 5,000 บาทต่อเดือนทุก ๆ เดือนเป็นระยะเวลา 37 ปี ที่ได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 8.7% เราจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเกษียณได้
เสร็จแล้วจะมีคำถามทางจิตวิทยา 9 ข้อ เพื่อหาระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ตัวเกมจะแนะนำสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมให้ดังภาพ โดยเป็นพอร์ตการลงทุนตัวอย่างที่ลงทุนใน 3 สิ่ง คือ หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก หากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ต้องการไม่ตรงกับอัตราผลตอบแทนที่รับได้เกมจะมีคำแนะนำให้เราปรับสัดส่วนการลงทุน และคำแนะนำอื่น ๆ เพื่อหาสัดส่วนที่เหมาะสมนั่นเอง ในเว็บไซต์ยังมีเกมอื่น ๆ คือ ตู้เกมเพิ่มพลังตังค์เก็บ ตู้เกมเก็บตังค์พลัง DCA ตู้เกม STOCK CITY และ ตู้เกม BONUS ให้ทุกคนได้ลองเล่นสนุกกันอีกด้วย
3. ยอดพีระมิด หรือการลงทุน (Investment) เป็นขั้นสำหรับการลงทุนเพื่อสะสมความมั่งคั่งและสร้างโอกาสให้เงินได้งอกเงย เพราะการนำเงินไปฝากไว้ในธนาคารอย่างเดียวไม่สามารถสู้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้มูลค่าเงินของเราลดลงได้ เราจึงต้องรู้จักต่อยอดเงินออมของเราโดยการนำไปลงทุน โดยการลงทุนแต่ละประเภทได้รับ “ผลตอบแทน” และมี “ความเสี่ยง” ไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนลงทุนเราควร
  • สำรวจตัวเอง: เป้าหมายการลงทุนคืออะไร ตัวเราสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เพราะเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้แตกต่างกัน นำมาซึ่งรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างกันด้วย
  • สำรวจความเสี่ยงของการลงทุน: ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ยิ่งเราคาดหวังผลตอบแทนที่สูง ความเสี่ยงยิ่งสูง แต่ก็มีโอกาสขาดทุนสูงตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราต้องสำรวจความเสี่ยงของการลงทุนในรูปแบบนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น หากเราลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างการลงทุนในหุ้น 100% เราสามารถยอมรับการขาดทุนได้กี่ %
  • เข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน: ก่อนลงทุนเราควรเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภทก่อนว่ามีรายละเอียดข้อมูล ระดับความเสี่ยง ข้อดีข้อเสีย หรือรูปแบบการได้รับผลตอบแทนอย่างไรบ้าง เพราะการที่เราลงทุนโดยไม่มีความรู้ก็ไม่ต่างจากการพนัน
โดยสามารถศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนการเงินการลงทุนผ่านหลักสูตรออนไลน์ SET e-learning ( https://elearning.set.or.th/SETGroup ) ได้ ในเว็บไซต์มีเนื้อหาหลักสูตรหลากหลายทั้งเรื่องการวางแผนการเงิน การลงทุนในต่างประเทศ หุ้น อนุพันธ์ กองทุนรวม ตราสารหนี้ และอีกมากมาย
4. การวางแผนภาษี (Tax planning) เป็นสิ่งที่ต้องวางแผนประกอบตลอดทุกขั้นตอนของการวางแผนทางการเงิน เมื่อเราทำงานมีรายได้ อีกสิ่งหนึ่งที่เหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “การเสียภาษี” ไม่เพียงต้องเรียนรู้วิธียื่นเสียภาษี แต่ยังต้องเรียนรู้วิธีการบริหารภาษีเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแบบถูกต้องตามกฎหมายด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในฐานะนักลงทุน มีช่องทางการลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สำหรับการออมเพื่อวัยเกษียณก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
โฆษณา