11 ต.ค. 2024 เวลา 05:23 • ความคิดเห็น
สนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยนเรศวร

📙 ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้ของสุรพล โทณะวณิก นักแต่งเพลงไทย นักเขียน นักข่าว นักหนังสือพิมพ์

ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2540
สุรพล โทณะวณิก ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้
เขาบอกว่า “โลกเราเป็นโรงละครฉากหนึ่งให้มนุษย์เกิดมาแสดงบทบาทละครของแต่ละคน”
สุรพลเป็นเด็กจรจัดอาศัยอยู่ที่ใต้เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าอยู่หลายปี เขาเติบโตในกองขยะ
สุรพลเป็นลูกของท่านขุน แม่เป็นเมียน้อยคนที่สาม เมื่อยังเด็กอาศัยอยู่กับยาย จนอายุหกขวบไปอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงที่กรุงเทพฯ เมื่อแม่กับพ่อเลี้ยงถึงแก่กรรม ก็หนีออกจากบ้านใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่ร่อนอยู่แถวสะพานพระพุทธยอดฟ้าและวัดต่าง ๆ แถวนั้น
  • 1.
ที่เชิงสะพานพุทธมีสามล้อรับจ้างข้ามไปมา แต่สะพานชันเกินกว่าคนถีบสามล้อจะพารถขึ้นไปได้ด้วยแรงสองขา ต้องอาศัยเด็ก ๆ แถวนั้นช่วยเข็นให้ คนขี่สามล้อจะโยนเหรียญห้าสตางค์ สิบสตางค์ ให้เด็กเข็นรถ มันเป็นค่าข้าวของเขา
สุรพลใช้ริมถนนเป็นบ้าน นอนบนทางเท้าบ้าง ในดงขยะบ้าง บางครั้งก็นอนในหัวเรือเอี้ยมจุ๊นซึ่งจอดที่คลองตลาดบ้านสมเด็จฯ ในหน้าหนาวอากาศเย็นจัด เขาต้องขุดทรายลึก ๆ แล้วนอนในหลุมทรายนั้น บางครั้งก็มีสุนัขมานอนด้วย เด็กชายนอนกอดสุนัขเป็นเพื่อน หลายปีหลังเขาบอกว่า “ถ้าผมไม่ได้หมา ผมก็ตายไปแล้ว หมามันก็รักผม กลางคืนหน้าหนาว กอดกับมันอุ่นกว่ากอดกับคนอีก”
สุรพลอายุแปดขวบเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ คืนหนึ่งด้วยความเหนื่อยล้าเกินกว่าจะหาที่นอนที่อื่น เขาก็นอนในโลงศพในโกดังผีวัดพิชัยญาตินั่นเอง เขาหลับเป็นตายเพราะความเพลีย ตื่นขึ้นมาเมื่อแสงแดดแยงลงมา เขานึกว่าตกนรกเพราะเจ็บไปทั้งแผ่นหลัง เขาถูกฝูงมดแดงกัดตอนนอน
เขามองขึ้นไปเบื้องบน แสงแดดส่องทะลุหลังคาสังกะสีเข้ามา ทันใดนั้นเขาก็ได้คิด ภายในที่มืดมิดอย่างโกดังผี แสงสว่างยังสาดเข้ามาได้ ชีวิตมืดได้ก็ต้องสว่างได้
ทุกเช้าสุรพลเห็นเหล่านักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนบ้านสมเด็จฯเดินไปโรงเรียน เด็กเหล่านั้นแต่งเครื่องแบบนักเรียนถือกระเป๋าดูโก้มาก เขาอยากเป็นเด็กนักเรียนอย่างนั้นบ้าง เขาอยากอ่านหนังสือออก แต่จะเข้าโรงเรียนได้อย่างไร ในเมื่อตัวเขาเองต้องหากินต่อชีวิตไปวัน ๆ เขาคงไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน
แล้วเขาก็เริ่มเรียนหนังสือด้วยตัวเองโดยวิธีของเขาเอง เขาถามเด็กนักเรียนที่ผ่านมาโดยชี้ที่ป้ายต่าง ๆ เช่น ป้าย ‘ถนนจักรเพชร’ ถามนักเรียนว่า “ป้ายนี้อ่านว่าอะไร?” เมื่อนักเรียนบอก เขาก็จดจำมันทั้งดุ้นว่า ตัวหนังสือหน้าตาอย่างนี้อ่านว่า ถนนจักรเพชร
สุรพลจดจำคำต่าง ๆ โดยไม่รู้จักพยัญชนะสักตัวเดียว คำศัพท์หน้าตาแบบนี้ออกเสียงว่า ช้าง คำหน้าตาอย่างนั้นออกเสียงว่า หนู ต่อมาก็เริ่มแยกแยะตัวพยัญชนะออก ตัว ก มีหน้าตาไม่มีหัวแบบนี้ ถ้าหัวอยู่ในคือ ถ ถ้าหัวหันออกคือ ภ จำไปทีละพยัญชนะ ทีละคำ เป็นตัว ๆ โดยไม่รู้วิธีประสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์
นักเรียนในโรงแรียนแถวนั้นเห็นสุรพลอยากเรียนจริง ๆ ก็ยกตำราแบบเรียนเร็วให้เขาใช้ฝึกฝน เขาพยายามอ่านไปทีละตัวเช่นนี้ราวสองปีกว่าก็เริ่มอ่านได้ หลังจากนั้นเขาก็อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า เก็บเศษหนังสือพิมพ์มาอ่าน อ่านป้ายร้านค้าต่าง ๆ
สุรพลชอบถามคนเดินผ่านทางว่า “คำนี้อ่านว่าอะไร?” แต่เขาต้องประหลาดใจที่พบว่าคนจำนวนมากรอบตัวเขาไม่รู้หนังสือ
วันหนึ่งสุรพลพบคนแก่คนหนึ่งนั่งอ่านหนังสือ ชายคนนั้นใช้แว่นขยายอ่านอย่างลำบาก สุรพลบอกคนแก่ว่า เขาจะรับจ้างอ่านหนังสือให้ฟังชั่วโมงละสตางค์เดียว โดยมีข้อแม้ว่า “ถ้าคำไหนผมไม่รู้ คุณลุงต้องช่วยสอนผมด้วย”
ชายแก่ตกลง ด้วยวิธีนี้เขาจึงได้อ่านหนังสือมากมาย เช่น รามเกียรติ์, พระอภัยมณี, มหาภารตะยุทธ, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ฯลฯ
ช่วงน้ําท่วมใหญ่กรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2485 สุรพลหารายได้พิเศษรับจ้างพายเรือส่งผู้คนและขายของ หลังจากนั้นเขาก็ติดตามพระครูคุณรสศิริขันธ์ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมาจำพรรษาที่วัดมหาพฤฒาราม ไปบวชเณรที่วัดชุมพลสุทธาวาส แล้วเข้าเรียนต่อที่สุรินทร์จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ก่อนสิ้นสงครามโลก เขากลับมากรุงเทพฯอาศัยอยู่ที่วัดมหาพฤฒาราม ช่วยแม่ค้าขายขนมและน้ำแข็งไสใส่น้ำหวาน มีกินบ้างอดบ้าง ทำงานทุกชนิดโดยไม่เกี่ยงงาน จนในที่สุดก็ได้งานที่โรงละครย่านเวิ้งนาครเขษม กวาดโรงละคร ล้างห้องส้วม
แต่งานต่ำต้อยก็มี ‘แสงแดดส่องทะลุหลังคาสังกะสีเข้ามา’ ชีวิตในโรงละครเปิดโอกาสให้เขารู้จักนักแต่งเพลง นักประพันธ์ และดาราละครหลายคน เขาเรียนทุกอย่างจากทุกคนที่เขาพบ
เป็นอีกครั้งที่เขาเริ่มเรียนสิ่งที่เขาไม่รู้ ครั้งนี้คือวิชาการประพันธ์ เรียนจากนักประพันธ์ รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) กับอิงอร (ศักดิ์เกษม หุตาคม)
รพีพรเขียนหนังสือได้หลายด้าน ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร และยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ ส่วนอิงอรเป็นนักประพันธ์เจ้าของฉายา ‘ปากกาจุ่มน้ำผึ้ง’ มีผลงานมากมาย
สุรพลเริ่มเขียนหนังสือและฝึกฝนจนงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น แสนสุขรายสัปดาห์, เพลินจิตรายวัน, ชาติไทยวันอาทิตย์, ชาวกรุง ฯลฯ แต่งานเขียนหนังสือไม่ใช่ปลายทางความฝันของเขา เขาค้นพบว่าตัวตนที่แท้จริงของเขาคือนักแต่งเพลง
เขาชอบฟังเพลงต่าง ๆ แล้ววิเคราะห์ว่าแต่ละเพลงนั้นดีอย่างไร อะไรทำให้มันไพเราะ มันมีจุดเด่นตรงไหน ทำไมมันจึงติดหู ทำไมมันจึงติดคาใจได้ เขาพบว่าเพลงที่ประสบความสำเร็จคือเพลงที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกเข้าไปในเพลง
เขาเรียนจากคนรอบตัวแบบครูพักลักจำ ครูของเขามีนับไม่ถ้วน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, ขุนวิจิตรมาตรา, ม.ล. พวงร้อย อภัยวงศ์, พรานบูรพ์, ม.ล. ประพันธ์ สนิทวงศ์, แก้ว อัจฉริยะกุล, ชาลี อินทรวิจิตร, ไพบูลย์ บุตรขัน, สง่า อารัมภีร, ไสล ไกรเลิศ ฯลฯ
วันหนึ่งเมื่ออายุยี่สิบเอ็ด เขาได้ยินว่าละครที่กำลังจะแสดงยังขาดคำร้อง เขาจึงขอแต่งเพลงนั้น มันกลายเป็นเพลง ลาแล้วแก้วตา เป็นเพลงแรกในชีวิต เปิดประตูสู่วงการเพลงโดยการสนับสนุนของครูไสล ไกรเลิศ
สุรพลแต่งเพลงทิ้งไว้จำนวนมาก วันหนึ่งขณะยืนรอรถราง เสียงเพลงเพลงหนึ่งลอยมากระทบโสต เพลงนั้นอ่อนหวานไพเราะ คนที่ยืนข้างเขาเอ่ยว่า “เพลงนี้แต่งดีเหลือเกิน”
มันเป็นเพลงที่เขาแต่งเอง มีคนนำเพลงที่เขาแต่งไว้ไปใช้และรับเครดิต เมื่อนั้นเขาจึงรู้ว่าเขาควรเดินไปตามทางของเขาเอง เขาควรยืนหยัดเป็นนักแต่งเพลงด้วยตนเองได้แล้ว
เมื่อความมุ่งมั่นปรากฏ ชะตาก็ถูกกำหนดด้วยตัวเอง ประสบการณ์ชีวิตอันหนักหน่วงในวัยเด็กกลายเป็นปุ๋ยที่เพลงของเขางอกงาม อารมณ์ความรู้สึกทุกรูปแบบที่เขาประสบมาโดยตรงเป็นฐานให้ตัวโน้ตแต่ละตัวเต้นระบำ
สุรพลประพันธ์เพลงตั้งแต่หนุ่มจนแก่ไม่เคยหยุด เพลงของเขากลายเป็นที่คุ้นหูของประชาชน นักร้องจำนวนมากขับร้องเพลงที่เขาแต่ง เช่น ลาแล้วแก้วตา, ในโลกแห่งความฝัน, ใครหนอ, ฟ้ามิอาจกั้น, ยามรัก, แม่เนื้ออุ่น, ลมรัก, อยากลืมกลับจำ นับไม่ถ้วน
เขาไม่เคยกลัวความไม่แน่นอนของอนาคต เขาผ่านจุดต่ำสุดในชีวิตมาแล้ว ที่เหลือคือโบนัส
นานปีหลังจากนั้น เขาบอกว่า “โลกเราเป็นโรงละครฉากหนึ่งให้มนุษย์เกิดมาแสดงบทบาทละครของแต่ละคน” บทบาทของแต่ละคนถูกกำหนดโดยตัวคนคนนั้นเอง และการเล่นบทนั้นได้ดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับความพยายามดิ้นรนสู่ความฝัน
“ ไม่งอมืองอเท้ารอรับชะตากรรมที่ชาติกำเนิดกำหนด “
เขาแสดงให้โลกเห็นความแตกต่างระหว่างคนรักสนุกกับคนรักดี
ระหว่างปลาที่ว่ายตามกระแสน้ำกับปลาที่ว่ายทวนกระแสน้ำ มีแต่ปลาที่ว่ายทวนน้ำจึงสามารถกำหนดเกมชีวิตเองได้ โดยมีความรู้คือ “ ครีบ “ ความพยายามคือ “ หาง “ รวมกันเป็นแรงผลักให้ว่ายไปถึงปลายฝัน
ชีวิตคือการเรียนรู้ เรียนสิ่งที่ตนไม่รู้ เรียนรู้ให้ไกลกว่าสิ่งที่รู้
ไม่หวาดหวั่นต่อความมืด เพราะในที่มืดมิดที่สุดก็สามารถมีแสงสว่างสาดเข้ามาได้.
Cr.⏩ : จากหนังสือ ชีวิตเป็นเรื่องชั่วคราว
โดย วินทร์ เลียววาริณ
🙏🏿ภาพ : Mix Magazine Thailand
#สุรพลโทณะวณิก
โฆษณา