11 ต.ค. เวลา 09:35 • ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ที่ดำมืดและการถูกกดขี่ของ “จันทน์เทศ”

ย้อนกลับไปในสมัยศตวรรษที่ 17 “จันทน์เทศ” คือเครื่องเทศล้ำค่าที่ครองโลก
จันทน์เทศ เป็นเครื่องเทศที่พบได้มากในหมู่เกาะบันดา ซึ่งเป็นหมู่เกาะในอินโดนีเซีย และ “บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company)” หรือ “VOC” บริษัทการค้ายักษ์ใหญ่สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ก็ได้มองเห็นช่องทางการแสวงกำไรมหาศาลจากจันทน์เทศ
VOC นั้นเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทั้งเงินทุน ทรัพยากร และกองทัพของตนเองพร้อมสรรพ และได้ใช้อำนาจที่มีในการควบคุมการผลิตจันทน์เทศและทำให้จันทน์เทศมีราคาสูง
บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company)
VOC นั้นไปไกลถึงขนาดเผาต้นจันทน์เทศบนเกาะใกล้เคียงเพื่อควบคุมปริมาณจันทน์เทศในตลาดให้มีจำกัด ราคาจะได้ไม่ตก
เรียกได้ว่าการเข้าควบคุมและผูกขาดจันทน์เทศของ VOC นั้น ประสบความสำเร็จอย่างมาก หากแต่ก็ต้องแลกมาด้วยการกดขี่มากมายมหาศาล
เกาะบันดา เป็นหมู่เกาะในอินโดนีเซีย และในครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้าจันทน์เทศ
หมู่เกาะบันดา
ที่ผ่านมา จันทน์เทศนั้นเป็นหนึ่งในสินค้าล้ำค่าที่ยุโรปต้องการ เนื่องจากมีสรรพคุณทางยาและสามารถนำไปประกอบอาหารได้ และ VOC ก็เล็งเห็นถึงศักยภาพในการทำกำไรของจันทน์เทศ
ต้นศตวรรษที่ 17 VOC ได้เข้ามายังเกาะบันดา และตั้งใจจะผูกขาดการค้าจันทน์เทศ โดย VOC จะทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดอุปสรรคและคู่แข่งที่จะขวางทางของตน
ชาวเกาะบันดานั้น ล้วนแต่ปลูกจันทน์เทศบนเกาะมาเป็นเวลานานหลายชั่วคนแล้ว การปลูกจันทน์เทศคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชาวเกาะ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
หากแต่สำหรับ VOC พวกชาวเกาะคือแมลงที่น่ารำคาญและต้องกำจัดทิ้ง
จันทน์เทศ
ปฏิบัติการแรกของ VOC คือการใช้กำลังเข้าเคลื่อนย้ายชาวเกาะให้ออกไปจากเกาะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ครอบครัวหลายครอบครัวต้องพังพินาศ บ้านแตกสาแหรกขาด ชาวเกาะต่างถูกต้อนลงเรือ ย้ายไปยังส่วนอื่นของอินโดนีเซียและถูกขายเป็นทาส ส่วนที่ยังเหลืออยู่บนเกาะก็ถูกทารุณ
VOC ได้กระทำทารุณต่อชาวเกาะบันดาสารพัด สังหารชาวเกาะนับพัน ทำให้บนเกาะบันดาเต็มไปด้วยซากศพ ส่วนที่เหลือรอดก็ถูกบังคับเป็นแรงงานแก่บริษัท
ชาวเกาะบันดา ซึ่งบัดนี้กลายเป็นแรงงานของ VOC ถูกบังคับใช้แรงงานอย่างหนัก ต้องเป็นคนงานปลูกและเก็บเกี่ยวจันทน์เทศ ทำงานหนักวันละหลายชั่วโมง
แรงงานเหล่านี้ล้มตายไปเป็นจำนวนมากจากความเหนื่อยล้าและโรคระบาด ที่รอดชีวิตก็มีบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจซึ่งไม่สามารถลบออกไปได้
การกระทำของ VOC นั้นป่าเถื่อนโหดร้าย มองเห็นเพียงแค่ผลกำไรเท่านั้น และสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อกำจัดคนที่ขวางทาง ซึ่งผู้ที่รับกรรมก็คือเหล่าชาวเกาะบันดา
กว่าที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะประกาศยกเลิกการผูกขาดจันทน์เทศของ VOC ก็คือช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แล้ว ทำให้ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมบนเกาะสามารถกลับมายังถิ่นฐานเดิมและดำรงชีวิตได้ตามปกติ
ทุกวันนี้ เกาะบันดาคือหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และจันทน์เทศก็ยังคงเป็นสินค้าสำคัญของเกาะ
หากแต่บาดแผลจาก VOC ยังคงฝังรากลึกอยู่กับเกาะบันดา และคงไม่มีวันจางหายไปได้ อีกทั้งยังเป็นบทเรียนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงลัทธิล่าอาณานิคมและอำนาจทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจตรวจสอบได้
โลกอาจจะได้บทเรียนบางอย่างจากเหตุการณ์นี้
โฆษณา