11 ต.ค. เวลา 10:45 • ข่าวรอบโลก

ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลง 73% ในเวลา 5 ทศวรรษ

WWF สำรวจประชากรสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 5,000 สายพันธุ์ พบโดยเฉลี่ยจำนวนประชากรลดลงไปถึง 73%
กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) องค์กรการกุศลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เปิดเผยว่า กิจกรรมของมนุษย์ยังคงทำให้เกิด “หายนะ” ของการสูญเสียสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่อไป โดยจากการสำรวจสัตว์ป่าทั่วโลกพบว่า ตั้งแต่ช้างในป่าเขตร้อนไปจนถึงเต่ากระบริเวณแนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์รีฟ ประชากรสัตว์ป่ากำลังลดลงอย่างรวดเร็ว
รายงาน Living Planet ซึ่งเป็นภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสภาพธรรมชาติของโลก เผยให้เห็นว่า ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกหดตัวลง 73% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
โลมาสีชมพู หนึ่งในสปีชีส์ที่จำนวนประชากรลดลงอย่างมาก
ทันยา สตีล หัวหน้า WWF ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การสูญเสียพื้นที่ป่าทำให้ระบบนิเวศหลายแห่งตกอยู่ในภาวะวิกฤต และแหล่งที่อยู่อาศัยหลายแห่ง ตั้งแต่ป่าแอมะซอนไปจนถึงแนวปะการังอยู่ในจุดเปลี่ยนที่อันตรายอย่างยิ่ง
รายงานดังกล่าวใช้ดัชนี Living Planet ซึ่งรวบรวมข้อมูลประชากรของสัตว์มีกระดูกสันหลังรวม 5,495 สายพันธุ์ ทั้งนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และปลา ในช่วงเวลา 5 ทศวรรษระหว่างปี 1970-2020
หนึ่งในสปีชีส์ที่จำนวนประชากรลดลงไปมากที่สุดคือ โลมาแม่น้ำสีชมพูแอมะซอน ซึ่งหายไปถึง 60% เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลายจากมลพิษและภัยคุกคามอื่น ๆ รวมทั้งการทำเหมือง
อย่างไรก็ดี มีสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์เช่นกันที่จำนวนประชากร ตัวอย่างเช่น ประชากรย่อยของกอริลลาภูเขาในเทือกเขาเวียรุงกาในแอฟริกาตะวันออกเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ต่อปีระหว่างปี 2010-2016
แต่ WWF กล่าวว่า “ความสำเร็จเพียงลำพังเหล่านี้ไม่เพียงพอ ท่ามกลางฉากหลังของการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ในวงกว้างกว่านั้น”
ทอม โอลิเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายงานดังกล่าว กล่าวว่า เมื่อนำข้อมูลนี้ไปรวมกับชุดข้อมูลอื่น ๆ เช่น จำนวนประชากรแมลงที่ลดลง “เราสามารถรวบรวมภาพรวมที่ชัดเจนและน่ากังวลของการล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกได้”
รายงานพบว่า การเสื่อมโทรมและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อสัตว์ป่า รองลงมาคือการใช้ทรัพยากรมากเกินไป สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น โรคภัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลพิษ
ไมค์ บาร์เร็ตต์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของ WWF กล่าวว่า การกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการผลิตและบริโภคอาหาร “ทำให้เรากำลังสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ”
รายงานยังเตือนด้วยว่า การสูญเสียธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังผลักดันให้โลกเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่ไม่อาจย้อนกลับได้ ซึ่งรวมถึงการล่มสลายของป่าฝนแอมะซอน ซึ่งอาจทำให้ป่าฝนไม่สามารถกักเก็บคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อนขึ้นและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อีกต่อไป
บาร์เร็ตต์กล่าวว่า “โปรดอย่ารู้สึกเศร้าใจกับการสูญเสียธรรมชาติ แต่จงตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อมนุษยชาติ และเราต้องดำเนินการบางอย่างทันที”
ด้าน วาเลนตินา มาร์โคนี จากสถาบันสัตววิทยาของสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน กล่าวว่า ธรรมชาติอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคง แต่ด้วยการดำเนินการร่วมกันอย่างเร่งด่วนจากผู้นำโลก “เรายังมีโอกาสที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้”
สตีลกล่าวว่า “รายงานดังกล่าวเป็นเสียงที่ปลุกให้ตื่นอย่างเหลือเชื่อ ... ระบบนิเวศที่มีสุขภาพดีเป็นรากฐานของสุขภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นอยู่ที่ดีของเรา”
เธอเสริมว่า “เราไม่คิดว่าสิ่งนี้ควรอยู่บนบ่าของพลเมืองทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบของธุรกิจและรัฐบาลด้วย ... เราต้องดูแลผืนดินและพื้นที่ป่าอันล้ำค่าที่สุดของเราเพื่อคนรุ่นต่อไป”
เรียบเรียงจาก BBC
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/news/234393
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา