Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
13 ต.ค. 2024 เวลา 02:30 • ธุรกิจ
สรุปใน 6 ข้อ เบสิกธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมสูตรคำนวณ ระยะเวลาคืนทุน Payback Period
-สัมภาษณ์พิเศษ: ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด บริษัทให้คำปรึกษา เกี่ยวกับการวางโครงสร้างธุรกิจและระบบแฟรนไชส์
รู้หรือไม่ ? จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า
ภาพรวม ปี 2567 ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท
มีจำนวนแฟรนไชส์รวมกว่า 531 แบรนด์ และมีสาขาแฟรนไชส์รวมกว่า 59,497 สาขา
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้ลงทุนที่เป็นคนรุ่นใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ BrandCase มีโอกาสได้คุยกับ ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด
ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษา เกี่ยวกับการวางโครงสร้างธุรกิจและระบบแฟรนไชส์
โดยประเด็นสำคัญ ที่ได้คุยกับ ดร.พีระพงษ์ คือองค์ความรู้ธุรกิจ การบริหารจัดการระบบแฟรนไชส์
รวมถึงโอกาสที่คนตัวเล็ก ๆ จะหันมาทำธุรกิจ หรือซื้อแฟรนไชส์ด้วย
BrandCase เห็นว่าน่าสนใจมาก และได้ตกผลึกมาให้แบบจัดเต็ม 6 ข้อ
แต่ละข้อมีรายละเอียดอะไรน่าสนใจบ้าง มาดูกัน และแชร์เก็บไว้อ่านซ้ำ ๆ ได้เลย..
1. ธุรกิจแฟรนไชส์ คืออะไร ?
ธุรกิจแฟรนไชส์ คือ ธุรกิจที่เจ้าของแบรนด์ ขายสิทธิ์ ให้ผู้ซื้อ สามารถทำธุรกิจได้เหมือนเจ้าของแบรนด์ทุกอย่าง
โดยผู้ซื้อ จะได้สิทธิ์ในการใช้ชื่อแบรนด์ รวมถึงองค์ความรู้ ระบบการทำงาน และระบบการจัดการหลังบ้าน ไปดำเนินธุรกิจเหมือนกับเจ้าของแฟรนไชส์ทุกประการ
- เจ้าของแบรนด์ ที่ขายสิทธิ์การใช้ชื่อแบรนด์ตัวเอง และองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับคนอื่น
เราจะเรียกว่า “แฟรนไชส์ซอร์” (Franchisor)
- ผู้ซื้อแฟรนไชส์ จากเจ้าของแบรนด์ หรือ Franchisor เราจะเรียกว่า “แฟรนไชส์ซี” (Franchisee)
ซึ่งแฟรนไชส์ซี จะรับรายได้จากการดำเนินธุรกิจทั้งหมด และจะเป็นผู้แบกรับต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเอง
ส่วนแฟรนไชส์ซอร์ จะเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากแฟรนไชส์ซี
ซึ่งค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เหล่านี้ ก็อย่างเช่น
- ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (จ่ายครั้งเดียว)
- ค่า Royalty Fee ตามยอดขายต่อเนื่องตามรอบที่ตกลงกัน เช่น ทุกเดือน ทุกปี
- ค่า Marketing Fee ตามยอดขายต่อเนื่องตามรอบที่ตกลงกัน เช่น ทุกเดือน ทุกปี
2. ทำไมบางคนถึงอยากซื้อแฟรนไชส์ แทนที่จะปั้นธุรกิจขึ้นมาเอง ?
ก็ต้องบอกว่า ถ้าเราจะปั้นแบรนด์ขึ้นมาสักแบรนด์ อย่างร้านอาหาร หรือร้านซูเปอร์มาร์เก็ต
แล้วร้านค้าแบรนด์นั้น จะประสบความสำเร็จ ขายดีจนลูกค้าติด ก็อาจต้องใช้เวลานานสักพักหนึ่ง
ซึ่งทาง ดร.พีระพงษ์ บอกว่า ถ้าเราปั้นแบรนด์ธุรกิจเองแล้วประสบความสำเร็จ เราอาจต้องใช้เวลานานหลายปี
ดังนั้น ธุรกิจแฟรนไชส์ ก็อาจตอบโจทย์ใครหลาย ๆ คน ในเรื่องของการบริหารธุรกิจให้โตอย่างรวดเร็ว
เพราะการซื้อแฟรนไชส์ ก็คือการซื้อแบรนด์ ซื้อระบบจัดการ และซื้อองค์ความรู้จากเจ้าของแฟรนไชส์ที่มีอยู่แล้ว มาบริหารด้วยตัวเอง
โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาปั้นแบรนด์เอง และไม่ต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนั้น ๆ มาก่อนนั่นเอง..
3. รวมเช็กลิสต์ เรื่องที่เราต้องคิด ก่อนคิดจะลาออกจากงานประจำมาทำแฟรนไชส์
__1. เงินทุน
ก่อนจะทำธุรกิจใด ต้องมีเงินทุนเริ่มต้นในธุรกิจก่อน และการทำธุรกิจแฟรนไชส์ก็เช่นกัน
จริง ๆ ต้องมีเงินทุนเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าแฟรนไชส์ที่เราสนใจ เป็นธุรกิจแบบไหน
แต่ตามสถิติแล้ว ผู้ที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ ควรมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5 แสนบาทขึ้นไป
ซึ่งเงินก้อนนี้ ก็จะเอาไว้สำหรับ
- เป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้าเริ่มต้น
- เป็นค่าลงทุนเช่าพื้นที่ตกแต่งร้าน
- เป็นค่าใช้จ่ายในการหมุนเวียนธุรกิจ
โดยแฟรนไชส์ จะมีระยะเวลาในการคืนทุนที่เหมาะสม ไม่เกิน 3 ปี
__2. ความรู้
ผู้ซื้อแฟรนไชส์ ควรจะมีความรู้เรื่องธุรกิจ และความเข้าใจเรื่องระบบแฟรนไชส์ในระดับหนึ่ง
ซึ่ง ดร.พีระพงษ์ ก็ได้ให้มุมมองเพิ่มเติม ว่าธุรกิจแฟรนไชส์เหมาะกับใครบ้าง ? โดยเริ่มจาก
- พนักงานออฟฟิศ ที่มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัท หรือองค์กรธุรกิจที่มีระบบ
โดยหากพนักงานออฟฟิศ เคยผ่านตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานขาย การตลาด การบริหารธุรกิจ
หรือตำแหน่งผู้จัดการ ก็จะได้เปรียบในเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์
- เจ้าของธุรกิจ ที่มีประสบการณ์บริหารจัดการธุรกิจมาก่อน แต่ต้องการต่อยอดธุรกิจด้วยการลงทุนแฟรนไชส์เพิ่มเติม
ซึ่งยิ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์ มีความรู้ในด้านธุรกิจมาก ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้ร้านค้าแฟรนไชส์ ประสบความสำเร็จได้
__3. เวลา
ผู้ซื้อแฟรนไชส์ ควรจะมีเวลามาดูแลธุรกิจของตัวเองด้วย
ไม่ว่าจะเป็น การดูแลพนักงาน, ดูแลยอดขาย, ดูแลระบบการทำงาน และควบคุมค่าใช้จ่าย
ซึ่งถ้าอยากทำธุรกิจแฟรนไชส์ ให้มีรายได้และกำไรที่เติบโต
ผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะต้องมีเวลาเอาใจใส่ และควบคุมดูแลธุรกิจอยู่ตลอดเวลา
4. เช็กลิสต์ ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มทำแฟรนไชส์
__1. ดูความพร้อมธุรกิจที่จะซื้อ
ต้องเก็บข้อมูลเปรียบเทียบธุรกิจที่เราสนใจจะลงทุน ว่าในธุรกิจเดียวกันนี้มีแบรนด์อะไรบ้าง
เช่น ถ้าเราอยากลงทุนแฟรนไชส์ธุรกิจร้านสะดวกซัก
เราก็ต้องไปดู Otteri, 24WASH, Dr.Tiger, Browny, LAUNDRYBAR แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน
เพื่อให้เห็นภาพรวมของธุรกิจนี้ รวมถึงความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละแบรนด์
รวมทั้งจะได้มีข้อเปรียบเทียบระหว่างข้อดีและข้อเสีย เพื่อดูว่าแบรนด์ไหนที่เหมาะกับเรา
__2. กระบวนการตรวจสอบธุรกิจที่จะลงทุน
- เก็บข้อมูลเจ้าของแบรนด์, ดูสาขาร้านค้าที่มีอยู่เดิม หรือคุยกับนักลงทุนคนอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าของสาขาแฟรนไชส์
- ดูเงื่อนไขของแฟรนไชซีว่า โอเคไหม รับได้ไหม
- ดูสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะทำว่าเราโอเคหรือเปล่า
เช่น ถ้าเราจะทำแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็ต้องดูว่าเราสามารถยืนลวกก๋วยเตี๋ยวหน้าเตาวันละ 60-70 ชามได้หรือไม่
5. เช็กลิสต์ เรื่องที่เราต้องพิจารณาในการเลือกแฟรนไชส์มาทำ
__1. Location - ทำเลที่ตั้ง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาเอาแฟรนไชส์ไปลง
ซึ่งทำเลที่ตั้ง ก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ในแต่ละธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น
ทำเลที่ตั้งสำหรับร้านค้าแฟรนไชส์ ควรเป็นจุดที่ลูกค้าเข้าถึงได้สะดวก มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น
เช่น
- สำหรับแฟรนไชส์ร้านอาหาร ก็ควรอยู่ตามห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตีมอลล์ ที่มีคนมาใช้บริการเยอะ ๆ
- สำหรับแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ หรือมินิมาร์ต ก็ควรอยู่ตามย่านออฟฟิศ ย่านธุรกิจ และที่อยู่อาศัย
__2. Decoration - สไตล์ หรือการตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์
ต้องสามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้า และบริการต่าง ๆ นอกจากนี้ สไตล์การตกแต่งร้าน ต้องสะท้อนความเป็นแบรนด์อย่างชัดเจน
__3. Branding - แบรนด์ของร้านค้าแฟรนไชส์จะต้องเป็นที่รู้จัก และเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้า และใช้บริการบ่อย ๆ
__4. Promotion - เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องพิจารณา ว่าเจ้าของแฟรนไชส์ มีโปรโมชัน หรือแคมเปญกระตุ้นยอดขายต่าง ๆ และมีโปรแกรม Loyalty สำหรับลูกค้าที่เป็นสมาชิกหรือไม่
__5. Service Design - เป็นการออกแบบระบบหน้าร้าน
และระบบควบคุมหลังบ้านของเจ้าของแฟรนไชส์ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
รวมถึงระบบที่ช่วยพัฒนาคุณภาพของสินค้า และบริการให้เหมือนกันในทุก ๆ สาขา
6. Payback Period หรือ ระยะเวลาคืนทุน
Payback Period หรือ ระยะเวลาคืนทุน คือ
“ระยะเวลาตั้งแต่เราเริ่มต้นลงทุน จนถึงวันที่กระแสเงินสดรับสุทธิ (ขอเรียกง่าย ๆ ว่า กำไรสะสม) เท่ากับ เงินลงทุนทั้งหมดที่เสียไป”
โดยสูตรในการคำนวณ Payback Period คือ
ระยะเวลาคืนทุน = เงินลงทุนทั้งหมด / กำไร
ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณ Payback Period กัน
โดยเราจะสมมติการคำนวณ กรณีที่เราเลือกเปิดแฟรนไชส์ Café Amazon แบบในอาคาร (Shop)
ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเปิด Café Amazon 1 สาขา (ราคานี้ไม่รวม VAT)
ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อเปิดร้าน ประมาณ 3,240,000 บาท โดยแบ่งเป็น
ค่าก่อสร้าง ตกแต่ง และงานระบบ, ค่าออกแบบ, ค่าอุปกรณ์ในร้าน, ค่าหลักประกัน, ค่าเซตอัปร้าน
และ ค่า Franchise fee (ค่าแรกเข้า)
ทีนี้เราต้องมาดูค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียในแต่ละเดือน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
- Fixed Cost ต้นทุนคงที่ อธิบายสั้น ๆ คือต้นทุนที่ต้องจ่ายทุกเดือนไม่ว่าจะขายดีหรือไม่ดี
- Variable Cost ต้นทุนแปรผันตามหน่วยการผลิต
อธิบายสั้น ๆ คือต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามปริมาณของที่เราขาย
โดยเราจะสมมติ Fixed Cost จากการเปิดร้าน Café Amazon อย่างเช่น
ค่าจ้างพนักงานหน้าร้าน ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเช่าเครื่อง POS
รวม Fixed Cost = 120,000 บาท ต่อเดือน
ส่วน Variable Cost หรือต้นทุนแปรผันตามหน่วยการผลิต ได้แก่
-ค่าวัตถุดิบ สมมติว่าประมาณ 35% ของยอดขาย
-ค่า Marketing Fee 3% ของยอดขาย
-ค่า Royalty Fee 3% ของยอดขาย
รวมแล้ว Variable Cost คิดเป็น 41% ของยอดขาย
จากสูตร Payback Period หรือ ระยะเวลาคืนทุน
คือ ระยะเวลาคืนทุน = เงินลงทุนทั้งหมด / กำไร
เรามาลองคำนวณระยะเวลาคืนทุนกัน
โดยสมมติให้ราคาเฉลี่ยของเครื่องดื่มที่ขายได้ต่อแก้ว = 60 บาท และขายได้วันละ 200 แก้ว
จะมีรายได้เดือนละ 200 x 60 x 30 = 360,000 บาท
หัก Variable Cost จำนวน 41% เหลือ 212,400 บาท
หัก Fixed Cost 120,000 บาท
จะเหลือกำไร 92,400 บาท ต่อเดือน
แสดงว่า Payback Period (ระยะเวลาคืนทุน) = 3,240,000 / 92,400 = 35 เดือน = 2 ปี 11 เดือน นั่นเอง..
References
- สัมภาษณ์พิเศษ ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ธุรกิจ
11 บันทึก
15
7
11
15
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย