11 ต.ค. 2024 เวลา 10:58 • การศึกษา

ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred Tax)

รายการภาษีเงินได้หน้างบการเงินของบริษัทมหาชน หรือ บริษัทที่ใช้มาตรฐานบัญชีเรื่องภาษีเงินได้รอตัดบัญชี จะประกอบไปด้วยภาษีเงินได้ 2 รายการรวมกัน ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่ทางบริษัทต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร เกิดจากการคำนวณ รายได้ หัก รายจ่าย ตามงบการเงิน บวกกลับด้วยรายการค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษี คูณ อัตราภาษี เป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เป็นการนำรายการค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษี เช่น สำรองต่าง ๆ หรือ วิธีการคำนวณทางภาษีที่แตกต่างจากการคำนวณทางบัญชี เช่น อัตราค่าเสื่อมราคา เป็นต้น มาตั้งเป็น สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred Tax Asset หรือ DTA) หรือ หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred Tax Liability หรือ DTL)
รายการที่จะนำมาตั้งเป็นสินทรัพย์หรือหนี้สิน จะต้องเป็นรายการที่เป็นผลแตกต่างชั่วคราวระหว่างบัญชี และภาษี เท่านั้น ดังนั้น เราต้องมาทำความเข้าใจ ระหว่าง ผลแตกต่างถาวร กับ ผลแตกต่างชั่วคราว กันก่อน
2.1 ผลแตกต่างถาวร คือ เป็นความแตกต่างของรายการทางบัญชีและภาษีที่จะไม่มีวันมาบรรจบกันได้ เช่น มูลค่ารถยนต์นั่งส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท, รายการค่าปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ทางภาษี, รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ เป็นต้น เป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษีแบบถาวร ในทางบัญชีจะไม่ตั้งรายการเหล่านี้เป็นสินทรัพย์หรือหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี
2.2 ผลแตกต่างชั่วคราว คือ ผลแตกต่างของรายการทางบัญชีและภาษีที่จะมาบรรจบกันในปีใดปีหนึ่ง เช่น สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ, สำรองสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น
โดยในทางบัญชีการตั้งสำรองได้ถูกลงเป็นค่าใช้จ่ายไปแล้ว แต่ทางภาษีไม่ให้ลงเป็นค่าใช้จ่าย ทำให้ในมุมทางบัญชีมองว่าในทางภาษีจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลมากเกินไป เท่ากับจำนวนเงินสำรองที่ต้องบวกกลับ คูณ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และตั้งรายการดังกล่าวเป็น "สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี" เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ในอนาคตในปีที่สำรองที่เคยตั้งไว้เกิดขึ้นจริงและลงเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้
หลักการ ตั้งเป็น สินทรัพย์ หรือ หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี มีสูตร ดังนี้
สินทรัพย์
(1) มูลค่าทางบัญชี < ฐานภาษี เป็น สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี
(2) มูลค่าทางบัญชี > ฐานภาษี เป็น หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี
หนี้สิน
(1) มูลค่าทางบัญชี > ฐานภาษี เป็น สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี
(2) มูลค่าทางบัญชี < ฐานภาษี เป็น หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี
หมายเหตุ : ผลขาดทุนทางภาษีสะสม 5 ปี เป็น สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเสมอ
การบันทึกบัญชี
1. สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี จะคู่กับ รายได้ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเสมอ
Dr.สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี xx
Cr. รายได้ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี xx
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้ 100 บาท ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 20 บาท ลูกหนี้สุทธิ 80 บาท (100-20) แต่ในทางภาษีสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายทางภาษี เท่ากับ สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทางภาษีไม่มี ดังนั้น ลูกหนี้ทางบัญชีจะเท่ากับ 80 บาท, ลูกหนี้ทางภาษีจะเท่ากับ 100 บาท มูลค่าลูกหนี้ทางบัญชี < ฐานภาษี 20 บาท จะตั้งเป็น สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เท่ากับ 4 บาท (20 คูณ อัตราภาษี (20%))
2. หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี จะคู่กับ ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเสมอ
Dr. ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอตัดบัญชี xx
Cr. หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี xx
ตัวอย่างเช่น สัญญาเช่าระยะยาว ที่ตามมาตรฐานบัญชีให้ถือเป็นสินทรัพย์และหักค่าเสื่อมราคา แต่ทางภาษี ถือเป็นค่าเช่า เท่ากับว่าทางบัญชีเกิดสินทรัพย์ แต่ทางภาษีไม่ถือเป็นสินทรัพย์ (มูลค่าทางบัญชี > ฐานภาษี) จะตั้งเป็นหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี
กรณี หากการบันทึกบัญชี เกิดทั้ง รายได้ และ ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอตัดบัญชีให้นำรายการมาหักกลบกัน เหลือเป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอตัดบัญชีสุทธิ แล้วนำไปรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคล และแสดงเป็นรายการภาษีเงินได้ หน้างบการเงิน นั่นเอง
ภาษีเงินได้ หน้างบการเงิน ของบริษัทมหาชน หรือ บริษัทที่ใช้มาตรฐานบัญชีเรื่องภาษีเงินได้รอตัดบัญชี จะไม่เท่ากับ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ต้องจ่ายประจำปี ตามแบบ ภงด.50 นะคะ
#VI Style by Mooduang #Deferredtax
โฆษณา