12 ต.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี?

ต้องเกริ่นก่อนว่า “ยื่นภาษี” กับ “เสียภาษี” ไม่เหมือนกันนะ หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ไม่ต้องยื่นแบบภาษี
แต่ความจริงแล้ว ทุกคนที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณภาษี แม้เงินได้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ต้องยื่นแบบฯ
มาทำความรู้จักกับความหมายของการยื่นภาษีและการเสียภาษีอีกครั้ง
การยื่นภาษี คือ การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อแจ้งรายได้และค่าลดหย่อนที่เรามี ให้กรมสรรพากรทราบ
การเสียภาษี คือ หลังจากที่ยื่นแบบฯ แล้วรายได้สุทธิของเรา (หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) เกินขั้นต่ำ 150,000 บาท ตามที่กฎหมายกำหนด
โดยกฎหมายได้กำหนดขอบเขตของบุคคลที่มีรายได้ที่ต้องยื่นภาษี ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา และ
2. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
มีเงินได้เกิน ดังนี้
- มีเงินเดือนเพียงอย่างเดียว
โสด 120,000 บาท, สมรส 220,000 บาท
- มีเงินได้ประเภทอื่น
โสด 60,000 บาท, สมรส 120,000 บาท
3. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้เกิน 60,000 บาท
ถ้าหากเราละเลยไม่ยื่นภาษี หรือจงใจหลีกเลี่ยงภาษี ถือว่ามีความผิด และมีโทษปรับทางอาญา หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและไม่ทำผิดทางกฎหมาย เราจึงควรยื่นภาษีทุกปีที่มีรายได้นะ
โฆษณา