12 ต.ค. 2024 เวลา 12:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เป้าหมายเงินเฟ้อคืออะไร ควรต้องปรับหรือไม่?

ช่วงนี้หลายคนอาจจะได้ยินข้อเสนอปรับเป้าหมายเงินเฟ้อของกระทรวงการคลัง และอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร เลยอยากชวนคุยว่า เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร และเราควรคิดกับเรื่องนี้อย่างไรกันดี
ต้องบอกก่อนว่า การตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของการทำงานของธนาคารกลางซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การมีระดับเงินเฟ้อที่ต่ำและมีเสถียรภาพ (low and stable inflation) เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยยึดเหนี่ยว (anchor) การคาดการณ์เงินเฟ้อ เพื่อรักษาความเสถียรภาพของเศรษฐกิจและทำให้เกิดเสถียรภาพของค่าเงินได้
ความสำคัญของเสถียรภาพด้านราคาทำให้หลายประเทศนำกรอบการดำเนินนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting framework) มาใช้ กรอบนโยบายนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation target) เป็นเหมือนตัวชี้วัด (KPIs) ของธนาคารกลาง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มความโปร่งใสของธนาคารกลางต่อสาธารณชน
ในขณะที่ธนาคารกลางมีอิสระในการเลือกใช้เครื่องมือ (instrument-independent) เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นโดยปราศจากแรงกดดันทางการเมือง ผ่านการวิเคราะห์และการคาดการณ์เงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ และมีการสื่อสารที่โปร่งใสต่อสาธารณชน และมีกระบวนการรับผิด (accountability) ต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้
การตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน การตั้งเป้าหมายที่น่าเชื่อถือ ปฏิบัติได้ จะเป็นเป้าหมายที่ตลาดการเงิน นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้บริโภค สามารถเอาไปใช้ยึดเหนี่ยวเป็นการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต
อาจจะเกิดคำถามว่า แล้วใครเป็นคนตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อนี้ ในต่างประเทศมีทั้งที่รัฐบาลเป็นคนตั้งเอง (อย่างประเทศอังกฤษ) ธนาคารกลางเป็นคนตั้ง (เช่น Federal Reserves ของสหรัฐ) และที่รัฐบาลและธนาคารกลางร่วมกันตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อ (เช่น New Zealand, Canada)
สาเหตุที่ในบางประเทศรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อ ก็เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของเป้าหมาย ทำให้เกิดการร่วมมือและประสานงานกันระหว่างนโยบายที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และสร้างความชอบธรรมโดยมีการยึดโยงต่อสถาบันที่มาจากระบอบประชาธิปไตย (ไม่ใช่ปล่อยให้ธนาคารกลางตั้งโจทย์เอง ทำการบ้าน และตรวจการบ้านเองคนเดียว)
สำหรับประเทศไทย พ.ร.บ. ธปท. กำหนดไว้ว่าภายในเดือนธันวาคมของแต่ละปี ให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงิน โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และให้เสนอเป้าหมายที่ได้ทำความตกลงร่วมต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ
โดยตามข้อตกลงจะกำหนดให้มีกระบวนการรับผิด (accountability) โดยหากอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมา 12 เดือน หรือประมาณการเงินเฟ้อในช่วงเวลาข้างหน้า 12 เดือนอยู่นอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะต้องส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายเหตุผลและแนวนโยบาย เพื่อสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาแก่สาธารณชน
สังเกตว่า เป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 2% (ยกเว้นประเทศกำลังพัฒนาที่กดเงินเฟ้อไม่ลงจริงๆ) เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า การมีเงินเฟ้อต่ำ และมีเสถียรภาพ (ไม่สูงไป และไม่ต่ำเกินไป) จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานได้อย่างยั่งยืน
ประวัติศาสตร์เป้าหมายเงินเฟ้อไทย
หากเราดูประวัติศาสตร์การตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อของไทย เรามีการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น เป้าหมายเงินเฟ้อคงไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ที่มาของการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายในแต่ละครั้งจะต้องมีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ
📕ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการใช้กรอบนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อปี พ.ศ. 2543 เราใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่หักเอาราคาพลังงานและราคาอาหารสดออก) ในการกำหนดเป้าที่ 0-3.5% เพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงนั้นมีความผันผวนสูง เช่น เกิดจากราคาน้ำมัน ซึ่งนโยบายการเงินไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลได้
📕ต่อมาหลังมีการแก้ไข พ.ร.บ. ธปท. ในปี พ.ศ. 2552 เราเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาส ที่ 0.5-3.0% เพื่อลดความกว้างของกรอบเงินเฟ้อให้แคบลง
📕หลังจากนั้น ก็มีการปรับเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้งในปี พ.ศ. 2558 โดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% โดยมีช่วง +/- 1.5% ซึ่งก็แปลว่าเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ได้ตั้งแต่ 1-4% เพราะหลังจากที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงมีความคิดว่าควรจะดูเงินเฟ้อที่รวมราคาน้ำมันและอาหารด้วย เนื่องจากเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาที่กระทบกับประชาชนมากกว่า และทำให้การสื่อสารต่อสาธารณชนง่ายขึ้น
📕และมีการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้งในปี พ.ศ. 2563 โดยลดกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อลงมาที่ 1-3% เนื่องจากมองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะยาวของไทยและต่างประเทศปรับตัวลดลง (จนแทบจะไม่อยู่ในกรอบเลย) ตามพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป และใช้การปรับเป้าหมายเป็นช่วงแทนค่ากลาง เพื่อสะท้อนความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่มากขึ้น ซึ่งสามารถกระทบกับอัตราเงินเฟ้อไทยได้
สังเกตว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2558 อัตราเงินเฟ้อของไทยมีช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบน้อยมาก และส่วนใหญ่อัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเกือบจะตลอด ส่วนหนึ่งเพราะระดับราคาน้ำมันที่เป็นขาลงมาโดยตลอด ยกเว้นก็แต่ในช่วงโควิดที่ราคาน้ำมันและค่าขนส่งปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเงินเฟ้อทะลุเป้าไปไกลอยู่พักหนึ่ง
ข้อเสนอการปรับกรอบเงินเฟ้อ
ประเด็นที่น่าสนใจของประเทศไทย คือข้อเสนอในการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยครั้งนี้ เสนอให้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อ “ขึ้น” จาก 1-3% เป็น 1.5-3.5% ทั้งๆที่เงินเฟ้อเราหลุดกรอบเงินเฟ้อด้านต่ำเกือบจะทุกปี โดยค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อไทยนับว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศและต่ำกว่ากรอบเป้าหมายปัจจุบัน
และเป้าหมายเงินเฟ้อในต่างประเทศส่วนใหญ่อยูที่ประมาณ 2% การปรับเป้าหมายเงินเฟ้อ “ขึ้น” อาจสามารถทำได้แต่อาจต้องมีเหตุผลรองรับที่เพียงพอว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่อาจนำไปสู่ดุลยภาพใหม่ของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
📍ข้อเสนอนี้อาจจะมีประเด็นที่น่ากังวลสองสามประเด็น คือ
  • หนึ่ง อาจจะเจอปัญหา “ความน่าเชื่อถือ” ของตัวเป้าหมายเงินเฟ้อเอง เพราะเป้าเงินเฟ้อเดิมยังไม่ค่อยเข้าเป้าเลย การปรับเป้าเงินเฟ้อ “ขึ้น” โดยไม่ปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินยิ่งมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะหลุดเป้ามากขึ้น อาจยิ่งทำให้การยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบทำได้ยากยิ่งขึ้น
  • สอง นักลงทุนอาจจะกังวลเรื่อง “ความเป็นอิสระ” ของธนาคารกลาง เพราะอาจได้ว่า นี่คือแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการเงิน และการปรับเป้าเงินเฟ้อขึ้น โดยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ อาจจะทำให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงเงินเฟ้อในระยะยาว และกระทบต่อความเชื่อมั่นของวินัยของนโยบายการเงิน จนอาจมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน และอาจจะลามไปถึงเสถียรภาพของค่าเงินได้
ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะมีการพูดคุยกันมากกว่าคือประเด็นเรื่องกระบวนการรับผิด (#accountability) ของเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้ว่าเป้าหมายเงินเฟ้อจะไม่ใช่วัตถุประสงค์เดียวของแบงก์ชาติ แต่ก็เป็นเป้าของการดำเนินนโยบายการเงินที่ได้มีการตกลงกันไว้ จึงควรได้รับความสำคัญ และควรมีน้ำหนักพอควรในการดำเนินนโยบาย
เพราะกระบวนการรับผิดของธนาคารกลาง ไม่ใช่เป็นแค่การเขียนจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่คือ การสื่อสารและอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจถึงการดำเนินนโยบายการเงิน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หากอัตราเงินเฟ้อสูงไป จะทำให้อำนาจการซื้อของเงินบาทลดลง กัดกร่อนเงินออม และสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจได้
แต่หากอัตราเงินเฟ้อต่ำเกินไป ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ และการคาดการณ์ของธนาคารกลางและธุรกิจเป็นเวลานาน ก็อาจจะทำให้ดอกเบี้ยและนโยบายการเงินที่ตั้งไว้มีความตึงตัวมากจนเกินไป อาจจะกดดันเศรษฐกิจ จนมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะเงินฝืดได้
นอกจากนี้ ประเด็นที่ควรถกเถียงกันเชิงนโยบายที่ดีกว่าปรับเป้าหมายเงินเฟ้อขึ้น คือเราควรปรับเป้าจากเป้าหมายที่เป็น “ช่วง” ที่มีขอบบนและขอบล่าง (เช่น 1-3%) กลับไปเป็นเป้าที่เน้นค่ากลาง (เช่น 2% +/- 1%) แบบที่เคยใช้ในอดีตหรือไม่ แม้จะไม่ได้เปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อไปมากนัก แต่เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของค่ากลางเป้าหมาย ว่าเป็นเป้าหมายของเงินเฟ้อที่เราอยากเห็นจริงๆ
เพราะหาก ธปท. คิดว่าเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ที่ 2% แต่พอใจที่จะเห็นเงินเฟ้อเพียงแตะขอบล่างเป็นระยะเวลานานๆ ผลของนโยบายการเงินอาจจะเข้มข้นกว่าที่เราต้องการในระยะยาวได้
📍เป้าหมายที่ท้าทาย
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในภาวะปัจจุบันงานของ ธปท. มีความท้าทายอย่างมาก เพราะกรอบนโยบายการเงินของ ธปท. คือกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายของนโยบายแค่เงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว ภารกิจหลักของ ธปท. คือการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน โดยมีเป้าหมายหลักถึงสามเรื่อง คือเงินเฟ้อ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงิน
1
และนอกเหนือจากเป้าหมายเหล่านี้ สาธารณะยังมีความคาดหวังให้ ธปท. ดูแลเรื่องเสถียรภาพของค่าเงินด้วยอีก (แต่จาก impossible trinity ทำให้เรารู้ว่าการดูแลให้ค่าเงินให้นิ่ง พร้อมๆ กับการมีอัตราดอกเบี้ยเป็นของเราเอง เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย)
ดังนั้น เมื่อมีเป้าหมายที่หลากหลายและมีความซับซ้อน การสื่อสารของ ธปท. เรื่องการดำเนินเป้าหมายหลายด้าน ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงิน รวมไปถึงการแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจประชาชนซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายต่างๆ และการรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบายตามเป้าหมายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
โฆษณา