12 ต.ค. เวลา 15:18 • ครอบครัว & เด็ก

ข้อเสียของการเลี้ยงลูกแบบตุ๊กตา (Doll Parenting) และแบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parenting)

เราทุกคนคงรู้กันดีว่าโลกในปัจจุบันสิ่งกระตุ้นเยอะมากขึ้น การเลี่ยงลูกจึงกลายเป็นวาระสำคัญที่แต่ละบ้านให้ความสนใจ แต่ก็พบว่าไม่มีการเลี้ยงดูแบบไหนที่ดีที่สุด หรือดีจนพิเศษ ยกตัวอย่างการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด (Overdominant) เป็นแบบแผนที่พ่อแม่กำหนดมาตรฐานไว้สูง ออกแนวควบคุมบังคับ หากดูแลไปในทิศทางบวก ก็จะส่งผลให้ลูกมีแนวโน้มเป็นเพอร์เฟ็คชั่นนิสต์ สามารถจัดระบบชีวิต จัดระบบงาน และเร็วนำหน้าคนอื่น ๆ หนึ่งก้าวเสมอ
ฟังเหมือนจะดีแต่การเลี้ยงดูแบบเข้มงวดก็มีโอกาสมากที่ลูกกจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง เพราะเขาไม่สามารถทำตามมาตรฐานที่พ่อแม่คาดหวังได้ทุกอย่าง เขาก็จะเสียความมั่นใจไป รู้สึกว่าตนเองล้มเหลว ไม่เอาไหน อีกทั้งยังทำให้เขาเป็นคนขี้กังวลอีกด้วย หรือการเลี้ยงลูกแบบตามใจ (Overpermissive) ก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียวเหมือนที่ใครคิด เพราะมีแนวโน้มที่ลูกจะได้ทดลองสำรวจสิ่งต่าง ๆ อย่างอิสระ เขาก็จะเป็นคนฉลาด ใฝ่เรียนรู้ และมีความอยากรู้อยากเห็น
ผมยกตัวอย่าง "การเลี้ยงลูกแบบตามใจ" และ "การเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด" เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียในการเลี้ยงลูกแบบต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีการลูกเลี้ยงลูกแบบอื่น ๆ อีกมากมาย แต่มีการเลี้ยงบางรูปแบบที่มีข้อเสียมากกว่าที่คาดคิดไว้ และเป็นสิ่งที่แต่ละครอบครัวควรหลีกเลี่ยง คือการเลี้ยงลูกแบบตุ๊กตา (Doll Parenting) และการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Parenting)
การเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ หมายถึงการที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและควบคุมชีวิตของลูกในทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องการเรียน การทำกิจกรรม และการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน วิธีการเลี้ยงดูลูกแบบนี้พ่อแม่จะคอยติดตามดูแลและเข้าไปแทรกแซงในชีวิตของลูกอย่างใกล้ชิด เหมือนกับเฮลิคอปเตอร์ที่บินวนอยู่เหนือศีรษะลูกตลอดเวลา
ต่อไปเป็นการเลี้ยงลูกแบบตุ๊กตา หมายถึง การเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ควบคุมการตัดสินใจในทุก ๆ ด้านของชีวิตลูกอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทำให้ลูกไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้จึงชื่อว่าการเลี้ยงลูกแบบตุ๊กตา เพราะคล้ายกับการเล่นกับตุ๊กตาที่ผู้เล่นเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง เช่น การศึกษา การใช้เวลาว่าง การเลือกเพื่อน หรือแม้แต่การเลือกงานอดิเรก
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2565) อธิบายว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเหมือนเล่นตุ๊กตามักเป็นพ่อแม่ที่มีลูกไว้เล่น ไม่มีความคิดคำนึงหรือความสามารถที่จะดูแลความปลอดภัยให้ หรืออบรมบ่มนิสัยให้เป็น คนเก่งหรือคนดี ส่วนหนึ่งของพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกเหมือนเล่นตุ๊กตานี้มักอยากได้ลูกเพื่อมาเล่นตั้งแต่ต้น (ซึ่งเป็นความต้องการในระดับจิตใต้สำนึก เจ้าตัวไม่รู้ว่าตนเองเป็นเช่นนั้น) ในจำนวนนี้บางส่วนคิดว่าลูกเป็นตุ๊กตามากเสียจนจะทำอะไรกับลูกก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น คาดหวังให้ลูกเป็นคนเก่งที่สุด ประสบความสำเร็จ และเอาชนะคู่แข่งได้ทุกคน พ่อแม่เช่นนี้ไม่เพียงคิดว่าลูกเป็นตุ๊กตา แต่มักใช้ลูกเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของตนเองด้วย พ่อแม่เป็นอย่างไร การสื่อสารในครอบครัวก็ไปในทิศทางนั้นการสื่อสารในครอบครัวอาจผิดเพี้ยนได้หลายรูปแบบ (ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, 2565) ดังนี้
แบบที่ 1 คือ ไม่สม่ำเสมอ (Inconsistent) คาดเดาไม่ได้ หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ วันหนึ่งด่า วันหนึ่งชม ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน
แบบที่ 2 คือ ส่งข่าวสารสองอย่างที่ขัดกันในเวลาเดียวกัน (Double Bind) ปากพูดอย่างหนึ่ง สีหน้าแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น "ไม่เป็นไรหรอกลูก" แต่สีหน้ากลับเป็นไรอย่างมาก
ในรูปแบบที่ 2 เป็นสิ่งที่เราพบเจอในสังคม และในทุกความสัมพันธ์ ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์แบบสามีภรรยามือใหม่ หากพบว่าภรรยาทำแบบนี้ และไม่เข้าใจเอาแต่เช้าชี้คุณผู้หญิงอยู่เช่นนั้น ก็จะพบว่ามีปากเสียงได้โดยง่าย ผู้ชายที่เข้าใจธรรมชาติของผู้หญิงดีหรือสามีที่มากประสบการณ์ (หมายถึงครองคู่มายาวนาน) ก็จะเรียนรู้ได้ว่าภรรยาเป็นเช่นนั้นเอง การแสดงออกของภรรยาที่วาจาขัดกับสีหน้าจึงไม่มีพิษภัยอะไรแต่พ่อแม่ที่ทำแบบนี้กับลูกบ่อย ๆ จะสร้างความเสียหายแก่ลูกได้มาก
แบบที่ 3 คือ ทั้งรักทั้งเกลียด (Ambivalence) ทั้งรักทั้งเกลียดในเวลาเดียวกัน หรือรักมากเกลียดมาก การส่งความ รู้สึกเช่นนี้ให้ลูกถือเป็นพยาธิสภาพด้านการสื่อสารที่รุนแรงกว่าสองแบบแรกแม่ที่พูดว่ารัก เพราะจะแสดงออกทางพฤติกรรมที่ชัดเจน เช่น การทำโทษที่รุนแรง การว่ากล่าวที่รุนแรง
ทุกท่านจะเห็นความสอดคล้องกันระหว่างการเลี้ยงลูกแบบตุ๊กตา และการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ ดังนั้นผมจึงอยากจะรวบเป็นการเลี้ยงดูแบบเดียวกัน เพราะมีข้อเสียที่สอดคล้องกันอย่างชัดเจน มีการศึกษาที่พบว่า แม้ว่าการดูแลเอาใจใส่จะเป็นสิ่งที่ดี แต่การเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์ก็มีข้อเสียที่สำคัญ (Schiffrin, at el, 2014; American Psychological Association, 2018; Vigdal & Brønnick, 2022) ดังนี้
1) ขาดความสามารถในการตัดสินใจและการแก้ไขปัญหา เด็กที่มีพ่อแม่ควบคุมทุกด้านของชีวิตจะไม่พัฒนาความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ทำให้ขาดทักษะในการพึ่งพาตนเอง การที่พ่อแม่เข้ามาช่วยเหลือในทุกสถานการณ์ ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาและการตัดสินใจด้วยตนเอง ส่งผลให้ขาดทักษะทั้งสองที่จำเป็นอย่างมากสำหรับปัจจุบันและอนาคต (ทักษะในศตวรรษที่ 21)
2) ขาดความมั่นใจในตนเอง เด็กที่มีพ่อแม่เข้ามาควบคุมทุกอย่างอาจรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรได้เอง ทำให้ขาดความมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ในอนาคตเมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะขี้กังวล ไม่กล้าตัดสินใจ นอกจากนั้นยิ่งการขาดความมั่นใจมีความสัมพันธ์กับการเห็นคุณค่าในตนเองที่ต่ำอีกด้วย
3) ขาดทักษะทางสังคม การที่พ่อแม่คอยดูแลและจัดการทุกอย่าง ทำให้เด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตนเองได้ อันจะส่งผลผลต่อทุกรูปแบบความสัมพันธ์ของเขาในปัจจุบันและอนาคต
4) เสียโอกาสในการพัฒนา เด็กที่มีพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ติดตามดูแลและเข้าไปแทรกแซงในชีวิตของลูกทุกอย่างอาจไม่ได้รับโอกาสในการลองสิ่งใหม่ ๆ หรือพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่ตนเองสนใจ เพราะพ่อแม่มักจะตัดสินใจแทนทุกเรื่อง
5) พึ่งพาพ่อแม่มากเกินไป เมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือในทุกเรื่องจากพ่อแม่ โตขึ้นอาจไม่สามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้ดี อีกทั้งยังการกีดกันความคิดสร้างสรรค์เพราะ การที่พ่อแม่คอยควบคุมและตัดสินใจแทน ทำให้เด็กไม่มีโอกาสในการคิดสร้างสรรค์และเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง
6) การเสริมสร้างพฤติกรรมเสี่ยง เด็กที่ไม่เคยได้เรียนรู้การรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง อาจมีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมเสี่ยงเมื่อไม่มีการควบคุมจากพ่อแม่ จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต เพราะการที่เด็กไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้จากความผิดพลาดและไม่สามารถพัฒนาทักษะการเผชิญปัญหา (พ่อแม่ป้องกันความผิดพลาดทุกอย่าง) อาจทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตามการเลี้ยงลูกแบบเฮลิคอปเตอร์และตุ๊กตาอาจมาจากความรักและความหวังดีของพ่อแม่ แต่การให้โอกาสเด็กในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน การสร้างสมดุลระหว่างการดูแลและการให้เด็กได้มีอิสระในการตัดสินใจและเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถและมั่นใจในตนเอง
ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูกของตนเอง เพียงแต่ว่าทุกคนย่อมมีปม มีปัญหาชีวิต มีทัศนคติแตกต่างกันไป บางคนไม่สามารถจัดการกับปมหรือปัญหาของตนเองได้ก็จะตกทอดไปสู่รุ่นลูกต่อไป พ่อแม่หลายคนที่ไม่ได้ศึกษาวิธีการเลี้ยงลูกแต่สามารถดูแลลูกจนเติบโตกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อครอบครัวและสังคมได้ เพราะพวกเขาสามารถจัดการกับปมและปัญหาของตนเองได้
ดังนั้นแนวทางการเลี้ยงลูกให้มีประสิทธิภาพสำหรับผมแล้ว ควรจะเริ่มจากตนเองเสียก่อน จัดการปม จัดการปัญหา ที่ฝังลึกของตนเองให้เรียบร้อย เส้นทางแห่งความถูกต้องก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง
อ้างอิง
ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2565). เลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่ง (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: Amarin Kids.
American Psychological Association. (2018). Helicopter parenting may negatively affect children’s emotional well-being, behavior. Retrieved from https://www.apa.org/news/press/releases/2018/06/helicopter-parenting
Schiffrin, H. H., Liss, M., Geary, K. A., Miles-McLean, H., & Tashner, T. (2014). Helicopter parenting and its effect on well-being. Journal of Child and Family Studies, 23(3), 548-557. https://doi.org/10.1007/s10826-013-9716-3
Vigdal, J. S., & Brønnick, K. K. (2022). A systematic review of ‘helicopter parenting’ and its relationship with anxiety and depression. Frontiers in Psychology, 13, Article 872981. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2022.872981
โฆษณา