12 ต.ค. 2024 เวลา 15:21 • ปรัชญา

พวกเราทุกคนสามารถผิดกันได้ทั้งนั้น (We all can be wrong)

บทความนี้ผมกลั่นออกมาจากความประทับใจในหนังสือ I may be wrong ที่เขียนโดย บีเยิร์น ลินเดอร์มัน (Björn Lindemann) เป็นหนังสือที่เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียน ซึ่งเคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะทิ้งชีวิตทางโลกไปเป็นพระภิกษุในป่าประเทศไทยเป็นเวลานานถึง 17 ปี หนังสือเล่มนี้นำเสนอการเดินทางทางจิตวิญญาณของลินเดอร์มันจากความสำเร็จในชีวิตสู่การค้นหาความสงบภายในและความสุขที่แท้จริง
หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจในการค้นหาความหมายของชีวิตและความสุขที่อยู่ภายในตัวเราเอง มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผู้เขียนได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในช่วงปลายของการเป็นพระ เขาย้ายไปจำพรรษาที่วัดในอังกฤษแล้วก็เกิดเถียงกับใครบางคน ด้วยเรื่องอะไรบางอย่าง เจ้าอาวาสตอนนั้นคือพระอาจารย์สุจิตโตเจ้าอาวาสที่มหัศจรรย์มาก ท่านได้กล่าวว่า "ใครถูกใครผิด ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ" (Being right is never the point)
ผมคิดใคร่ครวญประโยคนี้อยู่นาน จนกระทั่งพบคิดอะไรได้บางอย่าง หลายครั้งในชีวิตที่เราเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างกันและกัน แล้วเราไม่สามารถจัดการกับมันได้ เป็นเพราะว่าแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และอคติในจิตใจ เราเรียกสิ่งนี้ว่ามุมมองอัตวิสัย เป็นการรับรู้และการตีความสิ่งต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับความรู้สึก ความคิดเห็น และประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละบุคคล ดังนั้นความจริงหรือความหมายของสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้มีอยู่ในตัวของมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ของผู้ที่รับรู้สิ่งนั้น ๆ
มุมมองอัตวิสัยเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำความเข้าใจมนุษย์ เพราะมันช่วยให้เรารับรู้และเคารพความแตกต่างทางความคิดและความรู้สึกของแต่ละคน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีถูกไม่มีผิดที่ชัดเจน เพราะแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน ต่อให้เรามีหลักฐานที่ชัดเจน แต่ก็พบว่าเราไม่สามารถโน่มน้าวใจคนที่คิดต่างได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ใครถูกใครผิดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ คนที่สามารถตระหนักได้ว่า เราอาจจะผิดได้จึงเป็นคนที่หลุดออกจากความทุกข์ใจได้เร็วที่สุด
ไม่มีใครที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ถูกต้องเสมอไป การผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการเติบโต มนุษย์ทุกคนมีความไม่สมบูรณ์แบบและมีข้อจำกัด ความผิดพลาดจึงเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น หลายองค์กรในต่างประเทศตระหนักเหตุผลข้อนี้จึงได้พัฒนาหาแนวทางเพื่อให้บุคลากรของตนเองสามารถเผชิญหน้ากับความผิดพลาดได้อย่างเข้าใจและท้าทาย สิ่งสำคัญก็คือเราเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดบ้าง
การยอมรับความผิดพลาดยังช่วยให้เราสามารถปรับปรุงและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งการยอมรับว่าตนเองสามารถผิดพลาดได้ทำให้เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ข้อนี้สำคัญอย่างมาก ใคร ๆ ก็ประทับใจคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน เพราะเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการให้เกียรติผู้อื่นและเห็นความสำคัญของผู้อื่น ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ไม่ตระหนักถึงความผิดพลาดของตนเองหรือพร้อมจะโยนความผิดพลาดใส่ผู้อื่นในทุกโอกาส
หากพูดถึงเรื่องความสุข มนุษย์เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทดลองทำโน่นทำนี่ สิ่งใดที่ทำแล้วรู้สึกดี เราก็อยากจะทำ ในความเป็นจริงไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าเรามีความสุขได้เท่ากับเราค่อย ๆ เริ่มทำความคุ้นเคยกับมันอย่างช้า ๆ และหากมันไม่สุขเหมือนกับที่เราคิด เราก็สามารถค่อย ๆ ถอยห่างออกมา และหาเส้นทางอื่นเพื่อทดลองต่อไป
นอกจากนั้นยังมีข้อผิดพลาดที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือเรามักคิดว่าเราเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น เราแปลความหมายจากเหตุการณ์และโลกรอบตัวเราได้ถูกต้อง คิดว่าเรารู้ คิดว่าเราตัดสินและบอกได้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ดีหรือเลว เรามีแนวโน้มที่จะ คิดว่าชีวิตควรจะเป็นแบบที่เราต้องการ อย่างที่เราวางแผนเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงมักจะไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เราฉลาดพอที่ไม่รอให้ชีวิตเป็นอย่างที่เราคิด หรืออย่างที่ควรจะเป็น หรืออาจกล่าวได้ว่า "เราฉลาดพอที่จะเข้าใจว่าเราไม่รู้อะไรเลย"
มีการศึกษาที่พบว่าการตระหนักว่า พวกเราทุกคนสามารถผิดกันได้ทั้งนั้น ช่วยให้เราเรียนรู้จากความผิดพลาดหรือล้มเหลวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนมากยิ่งขึ้น ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้น (Cannon & Edmondson, 2005; Kesebir, 2014) ดังต่อไปนี้
1) การเรียนรู้จากความล้มเหลว (Learning from Failure) จากการวิจัยในด้านการศึกษาและการพัฒนาตนเอง (Cannon & Edmondson, 2005) พบว่าการยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลวสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการแก้ปัญหาในอนาคตได้ดีขึ้น คนที่ยอมรับความผิดพลาดและไม่กลัวที่จะทำผิดพลาดมักมีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า
2) ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) สามารถช่วยให้บุคคลมีชีวิตที่มีความสุขและมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น โดยการลดความวิตกกังวลและส่งเสริมการรับรู้และยอมรับข้อบกพร่องของตนเอง หากเรามั่นใจว่าเราถูกต้องเสมอ เราจะมีความกังวลในผลที่จะตามมาจากความผิดพลาด แต่หากเราตระหนักถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น มันก็จะทำให้เราเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Pelin Kesebir (2014) ได้ทำการวิจัยเพื่อสำรวจบทบาทของความอ่อนน้อมถ่อมตนในการลดความวิตกกังวลที่เกี่ยวข้องกับการมีอยู่ (Existential Anxiety) พบว่าคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนสูงมีแนวโน้มที่จะมีความวิตกกังวลต่ำและมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ความอ่อนน้อมถ่อมตนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสุขและความพึงพอใจในชีวิต
ผมเลือกรูปภาพคนนั่งสมาธิมาเพื่อเป็นภาพแทนของความสงบ ร่มเย็น สุขใจ เพราะทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พวกเราปรารถนา ทุกวันนี้เราต่างวิ่งวุ่นเพื่อตอบสนองความอยากเป็นคนสำคัญ เราเดิน วิ่ง และปีนไวขึ้นจนหลงลืมไปว่าทุกสิ่งไม่จีรัง และเราก็ไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้ จึงเป็นเหตุให้เรามักจะเผชิญหน้ากับความผิดหวัง ผิดพลาด หรือล้มเหลว
หากเราไม่ตระหนักว่าพวกเราสามารถผิดกันได้ เมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้น เราก็จะทุกข์ใจอย่างมาก เจ็บปวดอย่างมาก ในทางกลับกันหากเข้าใจถึงความจริงข้อนี้ได้ ตัวเราจะเบาขึ้น สงบขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบคมมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
Cannon, M. D., & Edmondson, A. C. (2005). Failing to learn and learning to fail (intelligently): How great organizations put failure to work to innovate and improve. Long Range Planning, 38(3), 299-319.
Kesebir, P. (2014). A quiet ego quiets death anxiety: Humility as an existential anxiety buffer. Journal of Personality and Social Psychology, 106(4), 610-623.
Lindeblad, B. N. (2022). I may be wrong: And other wisdoms from life as a forest monk. Mudlark.
โฆษณา