12 ต.ค. 2024 เวลา 15:25 • ปรัชญา

บางครั้งการวางแผนอนาคตอาจเป็นเพียงการคาดเดาอย่างไร้เหตุผล

ทุกวันนี้หากผู้อ่านทุกท่านสังเกตไปตามฟีดในโซเชียลมีเดียจะพบข้อความเกี่ยวกับการวางเป้าหมายและการวางแผนอานาคต เป็นหัวข้อสำคัญที่คนมักจะพูดถึงอยู่เสมอ และไม่ใช่เพียงแค่โซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังมีหนังสืออีกมากมายไม่ว่าจะเป็นหนังสือฮาวทูหรือแม้แต่หนังสือที่เป็นวิชาการก็มักจะให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายเป้าหมายและการวางแผนอนาคต
แน่นอนผมไม่ได้ปฏิเสธว่าการวางเป้าหมายหรือการวางแผนอนาคตไม่ใช่สิ่งสำคัญ จริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่สำคัญตามที่เค้าว่ากันนั่นแหละครับ แถมผมยังเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการวางแผนอาชีพอีกด้วย ดังนั้นผมจึงสนับสนุนการตั้งเป้าหมายและการวางแผนอนาคตอย่างมีเหตุผล โดยเฉพาะการวางแผนอนาคตที่สอดคล้องกับตัวตนของเราอย่างแท้
แต่เหตุผลที่ผมต้องเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพราะผมพบว่าหลายครั้งและหลายคนที่ผมพบเจอพวกเขาวางแผนอนาคตหรือตั้งเป้าหมายโดยไม่ผ่านการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ไม่ผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้ความรู้สึกและการคาดเดาอนาคตอย่างที่ตัวเองต้องการที่จะเป็นเท่านั้นเอง ผมขอสรุปเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนอนาคตสองแง่มุมกว่าง ๆ ดังนี้
1) การวางแผนอนาคตอย่างมีเหตุผล เป็นการใช้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ การวางแผนที่มีเหตุผลจะอิงจากข้อมูลปัจจุบัน การวิเคราะห์สถานการณ์ และแนวโน้มในอนาคต ซึ่งสามารถลดความไม่แน่นอนได้ โดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้นช่วยให้มีทิศทางและวิธีการที่เป็นระบบ นอกจากนั้นยังต้องจัดการความเสี่ยง วางแผนรับมือกับความเสี่ยงและมีแผนสำรองหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (Mintzberg, 1994)
2) การคาดเดาอย่างไร้เหตุผล เป็นการวางแผนด้วยความไม่แน่นอนสูง อนาคตมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถควบคุมหรือทำนายได้ ทำให้การวางแผนบางครั้งอาจดูเหมือนการคาดเดา การพึ่งพาโชค บางครั้งแผนการอาจอิงกับการคาดหวังว่าเหตุการณ์บางอย่างจะเกิดขึ้นโดยไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลที่รองรับ นอกจากนั้นยังมองข้ามความเสี่ยง การไม่พิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หรือการมองข้ามปัจจัยที่อาจมีผลกระทบทำให้แผนการอาจไม่สมเหตุสมผล (Loewenstein et al, 2001)
การวางแผนอนาคตจึงสามารถเป็นได้ทั้งการคาดเดาอย่างไร้เหตุผล และการคำนวณอย่างมีเหตุผล ขึ้นอยู่กับวิธีการและข้อมูลที่ใช้ในการวางแผน หากสามารถใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล การวางแผนจะมีความแม่นยำและประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากขาดข้อมูลหรือการวิเคราะห์ที่ดี การวางแผนอาจดูเหมือนเป็นการคาดเดาอย่างไร้เหตุผล
ผมใช้คำว่าการวางแผนอนาคต ผู้อ่านอาจมีความเห็นว่าการวางแผนอนาคตเป็นระยะยาวเพียงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการวางแผนอนาคตสามารถเป็นได้ทั้งระยะยาวและสั้น เพราะการวางแผนคือการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นหากพิจาณาคำว่า "อนาคต" มันก็คือการที่เราเชื่อว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น หากเราคิดเรื่องในอนาคตด้วยความระแวดระวัง ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง
สิ่งที่ความคิดบอกเราว่าเป็นเรื่องในอนาคตนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของอนาคต แต่เป็นเพียงเค้าโครง เป็นภาพปะติดปะต่อ เป็นเสี้ยวหนึ่งที่ออกมาจากความทรงจำและประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งในความเป็นจริง เราอาจจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตได้เพียงแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น นอกจากนั้นความทรงจำของเราก็สามารถถูกหล่อหลอมและได้อิทธิพลจากอารมณ์ความรู้สึกอย่างมาก
เราถูกเขียนโปรแกรมให้จดจำเรื่องราวที่ตอกย้ำให้สะเทือนใจไม่เว้นเรื่องที่น่ากลัวและเลวร้าย คงเป็นเรื่องปกติของมนุษยชาติ สิ่งที่เราเรียกกันว่าเป็นอดีต ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด แต่เป็นเศษ ๆ ที่ถูกเลือกมาจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า แล้วอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะเป็นพื้นฐานให้เราออกแบบอนาคต เป็นรากฐานให้เราเกิดจินตนาการว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรในภายภาคหน้า ไม่ใช่เป็นเรื่องของอนาคต แต่เป็นการคาดคะเนของเราเอง
เป็นการคาดเดาเรื่องที่อาจเป็นไปได้ เป็นเพียงข้อสมมุติ ไม่มีใครรู้ ไม่มีจริง ๆ จึงไม่แปลกที่พวกเราส่วนใหญ่จะนำคำว่า "โชคชะตา" มาเติมแต่งแผนในอนาคตของเรา และแทบจะทุกครั้งที่เรานำเอา "ความหวัง" เข้าใส่ด้วย แผนในอนาคตของเรามันจึงเต็มไปด้วยความไร้เหตุผลมากกว่าข้อมูลที่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ตามอย่างที่ผมกล่าวมาข้างต้น เราก็ยังสมควรวางแผนอยู่ดีนั้นแหละครับ
การคิดวางแผนให้แก่ชีวิตไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย แต่การหยุดพักให้เวลาใคร่ครวญและทบทวนบ้าง อาจมีความจำเป็น พักสักนิดเบิกบานสักหน่อย สะสมประสบการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและโลกใบนี้ให้มากขึ้น จากนั้นค่อย ๆ ออกแบบชีวิตของเราเองในปัจจุบัน ที่สอดคล้องกับอนาคตอันน่าปรารถนาของเรา แต่หากว่าเส้นทางอนาคตของเราจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้เราดำรงชีวิตอย่างดีและควบคุมในสิ่งที่ควบคุมได้ให้มากที่สุด
ใส่ใจในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น ความคิด การกระทำ ลมหายใจ อาหาร หรือน้ำดื่ม การปล่อยวางความคิด ลดการควบคุม ฟังเสียงภายใน การดำรงอยู่อย่างมีสติ การมีชีวิตที่สุขสงบอย่างเป็นปกติ การมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนมีความสัมพันธ์กัน
ทั้งหมดนี้เรียกร้องให้เราค้นหาความเป็นไปได้ที่จะพบสิ่งที่เป็นความจริงแท้มากกว่าความคิดเกี่ยวกับอนาคต เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการคาดเดาอย่างไร้เหตุผล ที่เรามักเรียกว่าการวางแผนอนาคต
อ้างอิง
Lindeblad, B. N. (2022). I may be wrong: And other wisdoms from life as a forest monk. Mudlark.
Loewenstein, G., Weber, E. U., Hsee, C. K., & Welch, N. (2001). Risk as feelings. Psychological Bulletin, 127(2), 267-286.
Mintzberg, H. (1994). The Rise and Fall of Strategic Planning. Harvard Business Review, 72(1), 107-114.
โฆษณา