13 ต.ค. เวลา 08:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ยุโรป ช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

ยุโรปกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการรักษาความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ทั้งการเติบโตที่ช้าลง ช่องว่างด้านผลิตภาพเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและจีน การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศโดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี
นอกจากนี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้ยุโรปต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งยังประสบกับภาวะการมีแรงงานที่ลดลง ทำให้ยุโรปทั้งทวีปตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและหากไม่ทำอะไรให้เกิดการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ ยุโรปทั้งทวีปอาจจะกลายเป็นทวีปที่ล้าหลังประเทศอื่นๆ ในโลกได้อย่างไม่คาดคิด
ด้วยเหตุนี้ Mario Dhaghi อดีตประธานธนาคารกลางยุโรปและต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอิตาลี จึงรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการทำนโยบายของสหภาพยุโรปมาร่วมกันศึกษาและเสนอแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของยุโรปเพื่อให้ยุโรปสามารถกลับมาเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงไว้ในหนังสือชื่อ “The Future of European Competitiveness” ซึ่งมี 2 parts โดยใน part A พูดถึงแนวทางในภาพรวมและใน part B ได้ลงลึกถึงแนวทางการพัฒนาในแต่ละประเด็นที่สำคัญ
หนังสือข้อเสนอนี้เริ่มต้นจากการเสนอให้ปฏิรูปมิติสำคัญ 3 ด้าน ซึ่งทีมวิจัยได้นำเสนอไว้ดังนี้
1. ปิดช่องว่างด้านนวัตกรรม
เนื่องจากยุโรปยังล้าหลังสหรัฐฯ และจีนในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ไม่เพียงพอ (ทั้งรัฐและเอกชน) และที่สำคัญคือกฎระเบียบที่เข้มงวดและขัดขวางการพัฒนา ทำให้บริษัทใหม่ๆ ยากที่จะเติบโตในยุโรป สตาร์ทอัพต่างๆ จึงมักย้ายไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อหาสภาพแวดล้อมและแหล่งเงินทุนที่ดีกว่า ถ้ายุโรปไม่แก้ไข ก็ยากที่จะกลับมาก้าวทันสหรัฐอเมริกาและจีน
2. ลดการพึ่งพิงพลังงานจากคาร์บอน
ต้นทุนพลังงานจากคาร์บอนของยุโรปสูงกว่าสหรัฐฯ ทำให้กับธุรกิจของยุโรปเสียเปรียบในเรื่องต้นทุน การลดการใช้พลังงานคาร์บอนจึงเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับยุโรป แต่จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบายและภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น ซึ่งหนึ่งในทางออกคือการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดซึ่งยุโรปเคยเป็นผู้นำในด้านนี้แต่ปัจจุบันถูกท้าทายและแข่งขันอย่างเข้มข้นจากจีน
3. ลดการพึ่งพาเพื่อสร้างความมั่นคง
ยุโรปมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์สูงเนื่องจากต้องพึ่งพาวัตถุดิบและเทคโนโลยีดิจิทัลจากจีน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของยุโรปยังแยกส่วนและไม่มีความได้เปรียบจากขนาด อีกทั้งยังมีความเปราะบางในการผลิตที่สำคัญเช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รัฐบาลทุกประเทศในยุโรปจึงจำเป็นต้องมีนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกันเพื่อลดการพึ่งพาเหล่านี้
นอกจากนี้ยังได้เสนอยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งดำเนินการร่วมกัน ประกอบด้วย
1. ใช้ประโยชน์จากการเป็น single market เพื่อใช้ประโยชน์จากขนาดและขอบเขตของตลาดเดียวของสหภาพยุโรปในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรม และการบูรณาการ อย่างเต็มที่
(อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น single market ของ 50 รัฐ และจีนซึ่งได้เปรียบจากการเป็นประเทศขนาดใหญ่ ยังได้เปรียบยุโรปจากการมีรัฐบาลกลางเพียงรัฐบาลเดียว ในขณะที่ยุโรปยังแบ่งเป็นหลายประเทศ และหลายครั้งที่ยังตกลงกันไม่ได้แม้จะมีสภายุโรปก็ตาม – ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)
2. ปรับนโยบายอุตสาหกรรม การแข่งขัน และการค้าของแต่ละประเทศให้สอดคล้องกัน โดยนโยบายอุตสาหกรรมต้องมียุทธศาสตร์ ในขณะที่นโยบายการแข่งขันต้องส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
3. ส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้พลังงานสะอาด และการปรับปรุงขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบูรณาการตลาดทุนของยุโรปให้ดีขึ้น
4. ปฏิรูปการกำกับดูแล การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และการประสานงานภายในสหภาพยุโรปที่ลึกซึ้งขึ้นเพื่อเพิ่มความสำคัญต่อการนำยุทธศาสตร์เหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล
โดยการศึกษาและการฝึกอบรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนทำงานให้สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เน้นย้ำว่า ยุโรปต้องระลึกอยู่เสมอว่าการเติบโตของ productivity จะต้องไม่แลกมาด้วยปัญหาทางสังคม ซึ่งยุโรปจะต้องสร้างสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง
(เห็นข้อเตือนตรงนี้แล้ว ชวนให้คิดถึงบ้านเราที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญด้านสังคมแบบนี้เลย)
ส่วนใน part B ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนไว้ประกอบด้วย
1. พลังงาน: เนื่องจากยุโรปเผชิญกับราคาพลังงานที่สูงกว่าสหรัฐฯ และจีน ยุโรปจึงต้องจัดทำสัญญาพลังงานระยะยาว พัฒนากลไกการจัดซื้อร่วม และสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับซัพพลายเออร์พลังงานที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ควรเน้นที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และปรับปรุงการจัดเก็บพลังงานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา
2. วัตถุดิบที่สำคัญ: เนื่องจากยุโรปพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญสูง จึงต้องเพิ่มความหลากหลายในห่วงโซ่อุปทานโดยการสร้างความร่วมมือใหม่นอกสหภาพยุโรป เพิ่มอัตราการรีไซเคิล และเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีการทำเหมืองที่ยั่งยืนภายในยุโรป
3. การเปลี่ยนเป็นประเทศดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง: ปัจจุบันยุโรปล้าหลังสหรัฐอเมริกาและจีนทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ AI และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลโดยเฉพาะบรอดแบนด์ความเร็วสูง สนับสนุนการพัฒนา AI และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และต้องประสานระเบียบข้อบังคับเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและปรับปรุงความสามารถด้านดิจิทัลในทุกภาคส่วน
4. อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง: ราคาพลังงานที่สูงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหนักของยุโรป เช่น เคมีภัณฑ์และเหล็ก ทุกรัฐบาลของยุโรปต้องกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ โดยจัดให้มีแรงจูงใจทางการเงินแก่บริษัทต่างๆ เพื่อเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดกว่าและพลังงานหมุนเวียน
5. เทคโนโลยีสะอาด: ความเป็นผู้นำของยุโรปในเทคโนโลยีสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และลม กำลังเผชิญกับการแข่งขันจากภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะจากจีน จึงต้องมุ่งเน้นการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ขยายขนาดเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน (เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไฮโดรเจน) และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อกระตุ้นนวัตกรรมและพัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยีสะอาดใหม่ๆ
6. อุตสาหกรรมยานยนต์: ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก สร้างความท้าทายด้านห่วงโซ่อุปทาน ยุโรปจึงต้องเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน EV จัดหาแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ (เช่น ลิเธียมสำหรับแบตเตอรี่) ลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมกฎระเบียบที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
7. การป้องกันประเทศและอวกาศ: ภาคการป้องกันประเทศและอวกาศของยุโรปที่แยกส่วนกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากสหรัฐฯ และจีน จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในงานวิจัยและการพัฒนาด้านการป้องกันประเทศ ปรับปรุงการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมโครงการป้องกันประเทศร่วมกัน ส่งเสริมนวัตกรรมในเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการป้องกันอวกาศ
8. เภสัชกรรม: ยุโรปต้องรักษาความเป็นผู้นำในนวัตกรรมด้านเภสัชกรรม โดยเฉพาะในยุคของการแข่งขันระดับโลก เพิ่มเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านเภสัชกรรม เร่งกระบวนการอนุมัติตามกฎระเบียบสำหรับยาใหม่ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและบริษัทเภสัชกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม
9. การขนส่ง: ภาคการขนส่งในยุโรปยังคงใช้พลังงานจากคาร์บอนในสัดส่วนที่สูงมาก ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์สูงและลดความสามารถในการแข่งขัน จึงจำเป็นต้องลดพลังงานจากคาร์บอนอย่างเร่งด่วน โดยส่งเสริมตัวเลือกการขนส่งที่ยั่งยืน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น ไฮโดรเจน ลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะและสร้างแรงจูงใจในการนำเทคโนโลยีการขนส่งที่สะอาดขึ้นมาใช้
10. นโยบายแนวนอน:
a. เร่งนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีในทุกภาคส่วน สร้างสภาพแวดล้อมที่รองรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีโดยเพิ่มเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาและลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ
b. ปิดช่องว่างด้านทักษะในเทคโนโลยี มุ่งเน้นการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะใหม่ให้กับคนงานในด้านที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานสะอาด
c. รักษาการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม และทุนมนุษย์เพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน
d. ปรับปรุงกฎการแข่งขันเพื่อสร้างตลาดที่มีความเป็นธรรม เสริมสร้างความง่ายของการเข้าสู่ตลาด และขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรม
e. ปรับปรุงการกำกับดูแลของสหภาพยุโรปเพื่อประสานนโยบายและโครงการริเริ่มต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
ครับ ระหว่างอ่านงานศึกษาและข้อเสนอเชิงวิชาการฉบับนี้ของสหภาพยุโรป ก็คิดถึงประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน เพราะเราเจอปัญหาเดียวกัน และที่สำคัญเราล้าหลังกว่ายุโรป ตอนนี้ยุโรปเริ่มขยับตัวแล้ว หากเรายังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็คงจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้ไวกว่ายุโรปแน่นอนครับ
โฆษณา