14 ต.ค. 2024 เวลา 01:06 • ธุรกิจ

อย่าพูดคำว่า ‘อืม’ บ่อยเกินไป กับกฎ 3 ข้อพรีเซนต์ให้ปัง ดึงคนฟังให้อยู่หมัด

ช่วงเวลาของการพรีเซนต์หน้าห้องเป็นความระทึกใจของใครหลายคนเสมอ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเชี่ยวชาญการพูดท่ามกลางแสงสปอตไลท์ แม้แต่คนทำงานที่มีประสบการณ์นับสิบปีอย่าง ‘คอร์ด ฮิเมลสไตน์’ (Cord Himelstein) ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัทดิจิทัล มาร์เกตติ้ง แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ก็ยังประหม่าเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะอยู่ดี
4
เขาแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว โดยระบุว่า ตนเองยังคงประหม่าอยู่บ่อย ๆ หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนหน้า ‘ฮิเมลสไตน์’ มักตื่นเต้นจนเผลอพูดคำว่า ‘อืม’ และ ‘You Know’ ออกมาบ่อย ๆ แต่สุดท้ายก็สามารถก้าวข้ามความกลัวเหล่านั้นมาได้
กฎ 3 ข้อที่เขาตกผลึกจากการทำงานมาหลายทศวรรษ ‘CREATIVE TALK’ สรุปออกมาให้หยิบไปใช้กันง่าย ๆ ดังนี้
2
👉 ยอมรับความผิดพลาด แต่อย่าเก็บมาบั่นทอนจนพัฒนาต่อไม่ได้
ผู้ช่วยผู้อำนวยการคนนี้บอกว่า ทุกครั้งที่เขาเผลอพูดคำว่า ‘อืม’ ออกมา เขารู้สึกราวกับกำลังตอกตะปูใส่หูตัวเองอยู่เรื่อย ๆ กระทั่งรู้สึกรังเกียจปนสยดสยองที่ไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่จะทำอย่างไรให้การนำเสนองานเป็นไปอย่างราบรื่นในครั้งต่อ ๆ ไป ‘ฮิเมลสไตน์’ จึงกลับมาถอดบทเรียน และยอมรับกับความผิดพลาด และบอกกับตัวเองว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ บางครั้งการหลุดพูดบางคำที่อาจจะดู ‘คลิเช่’ ไปหน่อยก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป
2
คำว่า ‘อืม’ หรือ ‘You Know’ กลับทำให้บทสนทนามีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ช่วยให้ผู้พูดเข้าใกล้กับคนฟังได้ไม่น้อยเลย สิ่งที่เขาได้หลังกลับมาตกตะกอนทางความคิด คือการเป็นตัวของตัวเอง และอย่าเข้มงวดมากจนเกินไป การพูดคำว่า ‘อืม’ ระหว่างพรีเซนต์ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด แต่ให้ควบคุมในจังหวะและเวลาที่พอเหมาะพอดี
ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับการพูดในที่สาธารณะจากสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติระบุด้วยว่า กว่า 73% ของผู้คนประสบกับความวิตกกังวลเมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ มีชื่อเรียกอาการนี้ว่า ‘Glossophobia’ หรือความกลัวการพูดในที่สาธารณะ แม้จะไม่มีการบัญญัติเป็นโรคแต่ก็ทำให้ปฏิกริยาทางร่างกายและจิตใจเปลี่ยนไปจนสังเกตเห็นได้
สิ่งที่ ‘ฮิเมลสไตน์’ เป็น ใกล้เคียงกับอาการ ‘Glossophobia’ อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากจะก้าวข้ามด้วยการยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว เขายังเลือกพัฒนาตัวเองด้วยวิธีการที่ไม่ได้พึ่งพาการจัดโพยเท่านั้น แต่ยังใช้ความออแกนิกเข้าสู้ด้วย
1
👉 เตรียมตัวด้วยกระดาษ VS ใช้ความออร์แกนิกเข้าสู้
แรก ๆ ‘ฮิเมลสไตน์’ เลือกปรับพฤติกรรมด้วยการใช้การจดโน้ตสำหรับพรีเซนต์ทุกครั้ง เหมือนจะเป็นเรื่องดีและช่วยให้เขามั่นคงเมื่ออยู่ท่ามกลางคนหมู่มากได้ แต่อีกมุมหนึ่งกลับรู้สึกว่า กระดาษโน้ตทำหน้าที่ราวกับไม้ค้ำยันไร้ชีวิตที่ทำให้ตนเองห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากกลุ่มคนฟังแต่ละครั้งแตกต่างกัน การเงยหน้ามองผู้ฟัง และเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงที่อยู่ตรงหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า
พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่า การเตรียมตัวให้พร้อมเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่ต้องปรับจูนทั้งสองส่วนให้กลมกล่อมมากที่สุด จนถึงตอนนี้ ‘ฮิเมลสไตน์’ ยังคงใช้โน้ตเป็นตัวช่วย และขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะสบตาผู้ฟังเพื่อให้แน่ใจว่า สิ่งที่เรากำลังสื่อสารออกไปได้ผลอย่างที่ตั้งใจจริง ๆ
1
👉 หาแนวทางของตัวเอง ไม่ต้องพรีเซนต์เก่งเหมือนใคร ๆ
1
เขาเปรียบเปรยการพูดต่อหน้าที่สาธารณะว่า ให้คิดว่าเป็นการผจญภัยครั้งใหม่ แม้จะมีความผิดพลาด และเผลอพูดคำว่า ‘อืม’ ออกไปบ้างก็ไม่เป็นไร ลองฝึกอ่านปฏิกริยาคนฟังจากสีหน้าของพวกเขาดู หากแววตายังชัดเจน จับจ้องมาที่คุณอย่างตั้งใจ นั่นอาจแปลว่า คุณกำลังมาถูกทางแล้วก็ได้
นอกจากนี้ เขายังแนะนำว่า ให้ฝึกตั้งสติอยู่กับตัวเองเสมอ โดยเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘Training Myself’ แทนที่จะเร่งรีบไปทุกอย่าง แบ่งเวลาสักครู่เพื่อกลับมารีเซ็ตตัวเอง ขั้นตอนนี้จะช่วยลดสารพัดความตื่นเต้น เสริมสร้างความมั่นใจกระทั่งควบคุมเวทีได้สำเร็จ
1
ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือการคอยเตือนตัวเองเสมอว่า คนที่มาฟังเราพูดต่างก็มาเพื่อฟังในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไป ไม่ได้มาเพื่อตัดสินก้าวที่ผิดพลาด แต่มาเพื่อเรียนรู้ มาเพื่อรับแรงบันดาลใจ เมื่อเราเปลี่ยนทัศนคติไปเรื่อย ๆ เหล่านี้จะช่วยลดความวิตกกังวล ทำให้เราโฟกัสไปที่เป้าหมายข้างหน้า
แทนที่จะมัวแต่กังวลว่า วันนี้พูด ‘อืม’ ออกไปแล้วกี่ครั้ง
1
ที่มา:
• How to Stop Saying “Um,” “Ah,” and “You Know” - https://hbr.org/2018/08/how-to-stop-saying-um-ah-and-you-know
โฆษณา