Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
14 ต.ค. เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
“ชีวิตหลังเกษียณที่ไม่มีเงินน่ากลัวกว่าชีวิตหลังความตาย” 4 ขั้นตอนออมเพื่อเกษียณของคนเริ่มวางแผนช้า
ระหว่าง "ตายแล้ว...แต่ยังใช้เงินไม่หมด" กับ "สุดสลด...เงินหมด แต่ยังไม่ตาย" แบบไหนน่ากลัวกว่ากันครับ?
ปกติแล้ว คนเราจะใช้เวลา 20 ปีแรกไปกับการศึกษา ต่อมาจึงเริ่มทำงาน กว่าจะลงหลักปักฐานได้มั่นคง ก็ตอนอายุ 30-40 ปีขึ้นไป เราถึงค่อยนึกถึงการวางแผนเกษียณ เพื่อให้มีเงินใช้ในบั้นปลายชีวิต
คำถามคือ แบบนี้ถือว่าเริ่มวางแผนช้าเกินไปมั้ย?
จริงๆ แล้วอาจจะฟังดูช้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลยใช่มั้ยล่ะครับ วันนี้ aomMONEY จึงขอแนะนำ 4 ขั้นตอนออมเพื่อเกษียณ โดย ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ วิทยากรด้านการเงิน และอดีตหัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ ม.กรุงเทพ รับรองว่าคนที่เริ่มวางแผนช้า ก็สามารถมีเงินใช้สบายๆ ได้แน่นอน
[ 1.ถามตัวเองว่า เราอยากใช้ชีวิตแบบไหน? ]
การวางแผนเกษียณ มักจะออกแบบตามไลฟ์สไตล์ของเรา ลองถามตัวเองดูว่าหลังเกษียณแล้ว เราอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน? แล้วตั้งเป้าหมายตามนั้น โดยสามารถใช้สูตรคำนวณคร่าวๆ ที่เรียกว่า “Replacement Ratio” เพื่อประเมินจำนวนเงินคร่าวๆ ที่เราจะใช้หลังเกษียณ
👉 สูตรที่ 1 : คิดจากรายได้ก่อนเกษียณ
ลองคำนวณดูว่า ช่วง 1 ปีก่อนเกษียณ เรามี “รายได้” เดือนละเท่าไหร่ โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ก็คาดว่าจะใช้ประมาณ 70% ของตัวเลขนั้น
เช่น ตอนอายุ 59 รายได้เดือนละ 100,000 บาท
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ = ประมาณเดือนละ 70,000 บาท
👉 สูตรที่ 2 : คิดจากรายจ่ายก่อนเกษียณ
แบบนี้จะคำนวณจาก “รายจ่าย” ช่วง 1 ปีก่อนเกษียณ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ก็คาดว่าจะใช้ประมาณ 70% ของตัวเลขนั้น
เช่น ตอนอายุ 59 มีรายจ่ายเดือนละ 100,000 บาท
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ = ประมาณเดือนละ 70,000 บาท
ลองเลือกว่าจะใช้สูตรไหน หลังจากนั้นให้เอาตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ไปคูณ 300 ก็คือ 70,000 x 300 = 21 ล้านบาท นี่คือเงินก้อนที่เราต้องมีเพื่อใช้ชีวิตเกษียณครับ
ดร.อัจฉรา ให้เหตุผลว่าตัวเลข 300 นี้ มาจากจำนวนเดือนที่คาดว่า เราจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้นั่นเอง
[ 2.ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ รู้จักประมาณตัวเอง ]
เมื่อรู้เป้าหมายเงินก้อนที่ต้องมีเพื่อใช้ตอนเกษียณแล้ว ตัวเลขอาจจะฟังดูเยอะมาก แต่จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดกับมันขนาดนั้น เพราะอย่าลืมว่า เราไม่ได้ถอนเงินออกมาใช้ทีเดียวทั้งหมด แต่ค่อยๆ ทยอยถอนออกมาใช้ต่างหาก
นั่นแปลว่าเงินก้อนส่วนใหญ่ จะยังงอกเงยต่อไปได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ “อัตราผลตอบแทน” ต่างหาก ถ้าเรามีความรู้ในการลงทุน วางเงินไว้ถูกที่ เงินก็จะเติบโตได้มากขึ้น
เช่น ในวันเกษียณ เรามีเงินก้อน 9 ล้านบาท แต่ถ้าสามารถลงทุนสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 5% ต่อปี เมื่อวันที่เราอายุ 90 ปี เงินก้อนนั้นก็จะเติบโตได้ถึง 18 ล้านบาท สามารถใช้เป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานได้อีกด้วย
ซึ่งการลงทุนที่ ดร.อัจฉรา แนะนำสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็คือให้ออมเงินเต็มอัตรา 15% เพราะเป็นการลงทุนง่ายที่สุด แทบไม่ต้องทำอะไรเลย แม้ว่าปัจจุบันผลตอบแทนอาจจะไม่ถึง 5% แต่เมื่อมองระยะยาวแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า หรืออย่างน้อยก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ทันที
หรือถ้าเป้าหมายเกษียณฟังดูไกลเกินเอื้อม ก็มี 2 ทางเลือกคือ “ขยายระยะเวลาทำงานให้ยาวขึ้น” เพื่อให้มีเวลาสะสมเงินมากขึ้น หรือ “ปรับลดเป้าหมาย” จากที่ตั้งเป้าใช้เงินเดือนละ 50,000 ก็เหลือ 30,000 บาท ให้เหมาะสมกับตัวเรา
[ 3.ทำงบดุลชีวิต เพื่อเช็กความมั่งคั่ง ]
ถ้าอยากรู้ว่าตอนนี้เรากำลังรวยหรือจน สามารถเช็กได้จากการทำงบดุลชีวิต โดยการแจกแจง “สินทรัพย์” และ “หนี้สิน” ตามรายละเอียดดังนี้
👉 สินทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
-สินทรัพย์สภาพคล่อง
มีไว้เพื่อรักษาความปกติสุขในชีวิต เช่น เงินสำรอง ควรมี 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ฝาก-ถอนได้ทันที
-สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว
มีไว้เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น รถ บ้าน โทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักจะหมดเงินไปกับส่วนนี้ ทำให้บั่นทอนแผนการเงินในอนาคต
-สินทรัพย์ลงทุน
มีไว้เพื่ออนาคต เป็นส่วนหนึ่งของเงินที่จะใช้ 300 เดือนหลังเกษียณ
👉 หนี้สิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือหนี้ระยะสั้น (อายุหนี้ไม่เกิน 1 ปี) และหนี้ระยะยาว ซึ่งรวมแล้วไม่ควรเกิน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมด เช่น ถ้ามีสินทรัพย์ 2 ล้าน ก็ควรมีหนี้ไม่เกิน 1 ล้าน
ทีนี้เราจะรวย หรือไม่รวย ก็ดูกันตรงนี้ล่ะครับ ให้เอาตัวเลขที่แจกแจง มาคำนวณโดยใช้สูตร
“สินทรัพย์ - หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ”
ถ้าเรามีสินทรัพย์รวม มากกว่าหนี้สินรวม แปลว่าเรามีความมั่งคั่ง (รวย)
ถ้าเรามีหนี้สิน มากกว่าสินทรัพย์รวม แปลว่าเรามีความมั่งคั่งติดลบ เสี่ยงล้มละลาย (จน)
[4.ทำ “งบสแกนกรรม” เพื่อหารอยรั่วของเงินออม]
ถ้าเราตรวจสอบตัวเองในเบื้องต้นแล้ว พบว่าความมั่งคั่งติดลบ หรือการเงินในตอนนี้ยังห่างไกลกับเป้าหมายอยู่มาก สิ่งที่จะช่วยให้เรามีเงินออมเหลือเพิ่มขึ้น ก็คือการทำ “งบสแกนกรรม” คือบันทึกรายได้-รายจ่าย แต่ละเดือนนั่นเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้
👉 รายได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือรายได้หลัก และรายได้อื่นๆ
👉 ค่าใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
-ค่าใช้จ่ายจำเป็น
ส่วนนี้คือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง “เงินออม” ก็ควรเป็นค่าใช้จ่ายรายการแรกของแต่ละเดือนด้วยเช่นกัน รวมถึง “ค่าใช้จ่ายผ่อนหนี้” รวมแล้วไม่ควรเกิน 40% ของรายได้
-ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
นี่คือส่วนเกินจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยมักจะเกิดจากความต้องการ (Want) มากกว่าความจำเป็น (Need)
-ค่าใช้จ่ายอบายมุข
ข้อนี้ กับข้อข้างบน ควรรีบลดละเลิกโดยเร็วที่สุด
ถ้าเอาตัวเลขมาคำนวณ “รายได้ ลบ รายจ่าย” แล้วผลลัพธ์เป็นบวก นั่นแปลว่าเรามีเงินเหลือในแต่ละเดือน แต่ถ้าผลลัพธ์ติดลบ แปลว่าเรามีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องลดรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้ครับ
แผนการเงินเพื่อเกษียณ เป็นเหมือน “ตุ่มใส่น้ำ” ที่เราต้องหมั่นเติมน้ำเข้าไป ให้มากกว่าตักออกมาใช้ หลายคนอาจรู้สึกว่า เริ่มวางแผนตอนนี้มันช้าเกินไป แต่ทุกอย่างไม่มีคำว่าสาย ขอแค่เริ่มลงมือทำ ในวันเกษียณเราไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย ขอแค่ “มีมากพอ” ครับ
#aomMONEY #วางแผนการเงิน #วางแผนเกษียณ #เงินออม #เงินก้อนหลังเกษียณ
4 บันทึก
9
1
5
4
9
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย