14 ต.ค. เวลา 08:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ

บทเรียนหุ้น Meta 10 ปีที่แล้ว มี P/E 1,000 เท่า

โดยปกติแล้ว ท่าประจำเวลาเราประเมินมูลค่าบริษัท ว่า “ถูก” หรือ “แพง” ขนาดไหน
เรามักจะนำมูลค่าบริษัท มาเทียบกับ กำไรที่ทำได้ในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด หรือที่เราเรียกกันว่า P/E
แต่ในหลาย ๆ กรณี การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี P/E อาจไม่เวิร์กเท่าไร โดยเฉพาะกับบริษัทเทคโนโลยีหน้าใหม่
รู้หรือไม่ว่า 10 ปีก่อน หุ้นระดับโลกในปัจจุบัน ก็เคยมี P/E สูงเสียดฟ้า ยกตัวอย่างเช่น
- Amazon เคยมี P/E 2,500 เท่า
- Meta หรือ Facebook เดิม เคยมี P/E 1,277 เท่า
เห็นได้ว่าอัตราส่วน P/E นั้นไม่ได้ใช้งานได้เสมอไป โดยเฉพาะธุรกิจเหล่านี้ ที่เพิ่งเริ่มจะมีกำไร
1
ถ้าบอกว่า P/E ใช้งานไม่ได้ ยังดูมูลค่าทั้งตลาดไม่ค่อยออก
แล้วเราจะใช้วิธีไหนได้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริง ๆ แล้ว มันก็ยังพอมีอีกวิธี ที่ช่วยให้เราพอมองเห็นภาพของ “มูลค่าทั้งตลาด” ได้ เราเรียกกันว่า TAM
TAM ย่อมาจาก Total Addressable Market
แปลตรงตัวว่า มูลค่าตลาดที่เป็นไปได้ โดยมีวิธีมองด้วยกัน 3 วิธี
1. แบบ Top Down หรือ บนลงล่าง
จะเป็นการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายจากภาพใหญ่ก่อนว่า ตลาดใหญ่ขนาดไหน เช่น
- ประชากรมีกี่คน
- ประชากรพร้อมที่จะใช้สินค้าและบริการเท่าไร
- ผู้ใช้งานที่ยอมจ่ายให้ มีเท่าไร
1
ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจ ที่ประเมินด้วยวิธีนี้ ก็เช่น โซเชียลมีเดีย อย่าง Google, Facebook และ YouTube
หลังจากนั้น ก็นำจำนวนผู้ใช้งานจริง คูณกับมูลค่ารายได้ที่ผู้ใช้งานจ่าย หรือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ของบริษัท
2. แบบ Bottom Up
วิเคราะห์จากล่างขึ้นบน โดยใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วของบริษัท เพื่อหามูลค่าตลาด
ตัวอย่างแบบง่าย ๆ เช่น โค้ก มีรายได้จากธุรกิจน้ำอัดลมในประเทศไทยราว 29,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 51%
นั่นหมายความว่า มูลค่าตลาดน้ำอัดลมทั้งหมดในประเทศไทย อยู่ที่ราว 57,000 ล้านบาท
3. แบบ Value Theory
ใช้สำหรับประเมินสินค้าหรือบริการ ที่ยังไม่มีตลาด เช่น
- Spotify ตอนเจาะตลาดสตรีมมิงเพลง ก็ใช้ราคาค่าสมาชิก คูณกับจำนวนคนฟังเพลง เพื่อหามูลค่าตลาด
- กลุ่มธุรกิจส่งอาหาร ก็ใช้ค่าธรรมเนียมบริการ คูณกับจำนวนออร์เดอร์ เพื่อหามูลค่าที่เป็นไปได้มากที่สุดของตลาด
จากทั้ง 3 วิธี เราจะเห็นได้ว่า การประเมินมูลค่าตลาดด้วย TAM จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมมูลค่าตลาดได้
พอรู้แบบนี้แล้ว เราก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการประเมินมูลค่าธุรกิจได้เหมือนกัน อย่างในกรณีของ Meta ที่มี P/E 1,000 เท่า เมื่อ 10 ปีก่อน
เรามาดูสถิติเมื่อ 10 ปีที่แล้วกัน
- โลกมีประชากร 7,100 ล้านคน
- มีคนเล่นโซเชียลมีเดีย 1,700 ล้านบัญชี
- มีคนเล่น Facebook 980 ล้านบัญชี
- Facebook มีรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน 182 บาทต่อบัญชีต่อปี
จากข้อมูลชุดนี้ หากเรามองว่าอีกหน่อย ต่อไปประชากรครึ่งโลกจะเล่น Facebook
เราก็อาจจะลองนำ ประชากรครึ่งโลก ราว 3,500 ล้านคน เป็นตัวตั้ง คูณกับรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน
ยกตัวอย่างเช่น Facebook ก็จะเป็น 182 บาทต่อบัญชี หมายความว่ารายได้ที่ Facebook จะทำได้หากมีคนเล่นครึ่งโลก ก็จะเท่ากับ 637,000 ล้านบาทต่อปี
แล้ว ณ วันนี้ Meta เป็นอย่างไร ?
ซึ่งบทสรุป ณ วันนี้
- Facebook มีผู้ใช้งาน 3,065 ล้านบัญชีต่อเดือน
- แพลตฟอร์มในเครือ Meta ทั้ง Facebook, Instagram, Messenger, WhatsApp มีผู้ใช้งาน 3,270 ล้านบัญชีต่อวัน
- มีรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งานสูงถึง 1,535 บาทต่อบัญชีต่อปี
ผู้ใช้งาน เติบโตเป็น 3 เท่า
รายได้ต่อผู้ใช้งาน เติบโตเป็น 8 เท่า
จะเห็นได้ว่าผู้ใช้งาน Facebook และแพลตฟอร์มเครือ Meta เติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกันกับประชากรครึ่งโลก แต่แตกต่างกันตรงที่ รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งานเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด
เนื่องจากสามารถหารายได้เพิ่มเติมได้จากแพลตฟอร์ม ทั้งการขึ้นราคาโฆษณา, การเพิ่มความถี่ในการโฆษณา เพิ่มรูปแบบในการแทรก เช่น โพสต์ วิดีโอ สตอรี หรือ Reels รวมถึงช่องทางใหม่ ๆ จากกิจการที่เข้าซื้อมาอย่าง Instagram
บทสรุปก็คือ Meta สามารถเติบโตจาก P/E 1,000 เท่า เมื่อ 10 ปีก่อน กลายมาเป็นธุรกิจโซเชียลมีเดีย ที่ทำรายได้ถึง 4.9 ล้านล้านบาทต่อปี ทำกำไร 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี และมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 49.4 ล้านล้านบาท
ในขณะที่ P/E ก็ได้ปรับตัวลดลง เนื่องจากตัวหาร หรือกำไร ที่บริษัททำได้ เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่ารายได้ จนปัจจุบัน หุ้น Meta ซื้อขายกันอยู่ที่ P/E 30 เท่า..
ซึ่งใครที่ซื้อหุ้น Meta เมื่อ 10 ปีก่อน ด้วยเงิน 1 ล้านบาท และถือไว้ไม่ยอมขาย
วันนี้เงินก้อนนั้น จะกลายเป็น 8 ล้านบาท
1
ถึงตรงนี้ ก็ต้องเบรกไว้ก่อนว่า
แม้ P/E จะเป็นการมองภาพใน “อดีต” ว่าธุรกิจเป็นอย่างไร
TAM ก็จะกลับข้างกัน เพราะเป็นการมอง “อนาคต” ว่าธุรกิจจะเติบโตได้มากแค่ไหน
ซึ่งทั้ง 2 ตัวเลขนี้ หากเรามองเพียงตัวใดตัวหนึ่ง มันก็จะมีจุดอ่อน โดยเฉพาะ TAM นั้น มันจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าผู้บริหารและบริษัท พาตัวเองไปยืนในจุดที่เราประเมินไว้ไม่ได้..
ถ้าจะสรุปการใช้ TAM จึงถือได้ว่าเป็นการใช้มองภาพตลาดโดยรวม โดยที่หน้าที่ของเราหากนำไปใช้ ก็ต้องศึกษาและประเมินว่าบริษัทที่เราสนใจ จะเข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดได้มากขนาดไหน ในอนาคต
 
โดยแก่นสำคัญสำหรับการลงทุนก็ยังคงต้องเป็นการศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เข้าใจกิจการ รู้จักแนวทางของผู้บริหารให้ได้มากที่สุด
ก่อนที่จะมาไล่ดูอัตราส่วนต่าง ๆ เช่น P/E หรือ TAM เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ
อย่างในกรณีของ Meta เมื่อ 10 ปีก่อน หากเราศึกษาจนมั่นใจได้แล้วว่า ธุรกิจยังคงเติบโตต่อไปได้อีก มูลค่าตลาดยังมีพื้นที่ให้บริษัทเติบโตได้
แม้ว่ามันแพงเกินไป ในมุมของใครหลายคน
แต่ก็อาจจะเป็นโอกาสการลงทุนสำหรับบางคน ที่มองเห็นศักยภาพของมัน ได้เหมือนกัน..
โฆษณา