Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Introverted reader
•
ติดตาม
15 ต.ค. เวลา 09:17 • หนังสือ
☁️เมฆาวารี「雲水」: ผู้ฝึกตนในวิถีปฏิบัติแห่งเซน (Zen)🌊
🇯🇵หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่หลงรัก “ความเป็นญี่ปุ่น” หรือเรียกให้สวยหรูและยืดยาวเสียอีกหน่อยว่า “สุนทรียภาพความงามแบบญี่ปุ่น” เราก็คงเป็นคนประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความงดงามของภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม อากาศ อาหารการกิน บริบททางสังคม กิจวัตรประจำวัน แม้กระทั่งผู้คนที่เดินผ่านไปมาระหว่างทาง สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความประทับใจแก่คนนอกอย่างเราๆแบบไม่รู้เบื่อ
ชาวญี่ปุ่นมักถูกอ้างอิงถึงในเรื่องความมีระเบียบวินัย รักความสะอาด ใส่ใจต่อสิ่งเล็กๆในชีวิตประจำวัน ดำรงชีวิตด้วยความประณีต ละเอียด ละเมียดละไมจดจ่อ มุ่งมั่นทำงานหนักเป็นอันดับต้นๆของโลก รวมไปถึงชาวญี่ปุ่นมักสังเกตเห็นแง่งามของชีวิต เล็กๆน้อยๆแบบที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
ใครจะไปรู้ว่าทัศนคติเช่นนี้อาจได้รับการบ่มเพาะและงอกงามมาจาก “ปรัชญาแห่งเซน (Zen)” ที่ฝังลึกดั่งรากเหง้าทางวัฒนธรรม ณ ดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้มานานหลายร้อยปี
🎈เราลองมาพยายามทำความเข้าใจ “ความเป็นญี่ปุ่น” ที่คุณหลงรัก ผ่านมุมมองแบบเซน ผ่านการตกผลึกของ ‘ชัยยศ อิษฎ์วรพันธ์ุ’ ผู้เขียนซึ่งสร้างสุนทรียภาพความงามตั้งแต่หน้าปกของหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมๆกัน
มีคำกล่าวที่ว่า “เซน เป็นเรื่องของประสบการณ์แบบปัจเจกบุคคล เซนมุ่งเน้นการตระหนักรู้ซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจที่อธิบายไม่ได้ และความพยายามที่จะอธิบายยิ่งทำให้หลงทาง ไม่ควรอธิบายหรือศึกษาเซนผ่านหนังสือเพราะจะยิ่งทำให้สับสนในหลักการ” แต่ในบริบทที่เรากำลังพยายามทำความเข้าใจเซนกันอยู่นี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทำผ่านตัวอักษร และมันคงสร้างการรับรู้บางอย่าง ไม่มากก็น้อย ผมเชื่อเช่นนั้น
🕐เซน「禅」เป็นศาสนาพุทธนิกายหนึ่ง สำหรับประเทศญี่ปุ่น เซนคือศาสนาที่เข้าถึงผู้คนได้จนถึงรากของชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง มิใช่เพียงแค่การกระทำเชิงพิธีการแค่บางเวลา เซนบ่มเพาะจนเกิดเป็นวิถีปฏิบัติหรือกิจวัตรระหว่างวัน จนพัฒนาสู่ “ความเป็นญี่ปุ่น”
จุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธนิกายเซนนั้นมาจากประเทศอินเดีย ผ่านมายังจีน และไหลบ่าเข้าสู่ญี่ปุ่นในเวลาต่อมา และนั่นคือเหตุผลในประเด็นเรื่องการรับเอา “ค่านิยมการวัดคุณค่าของมนุษย์ด้วยการทำงานหนัก” จากประเทศจีนเข้ามาพร้อมกันด้วย มันส่งผลต่อการกำหนดวิถีปฏิบัติของ “พระเซนในวัด” รวมถึงส่งต่อทัศนคติเหล่านั้นมาสู่ชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไป
เซนเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ส่วนบุคคล และการจดจ่อมุ่งมั่นทำงานหนักก็คือประสบการณ์ส่วนบุคคลสำหรับพัฒนาตนเอง ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้คุณค่าแก่การทำงานหนักมากกว่าสถานะทางสังคม
‘เซน’ มุ่งเน้นวิถีปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งในความจริง ความว่างที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยคำพูดหรือความคิด เซนไม่ยึดติดกับพระคัมภีร์ การสวดภาวนา หรือรูปเคารพ หากแต่เน้นการปฏิบัติของแต่ละปัจเจกบุคคล เป็นวิถีการแสวงหาหนทางเข้าสู่ภายในจิตใจ
☁️“ชีวิตจริงนั่นแหล่ะที่เซนปฏิบัติ มองโลกตามความเป็นจริง”
เซนไม่ได้สร้างหลักการต่างๆขึ้นมาด้วยตนเอง แต่หยิบยืมมาจากหลายแหล่ง เป็นพัฒนาการมาจากสิ่งอื่น และคลี่คลายจนเป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบัน อุดมคติของเซนมีแนวทางแบบ ‘เต๋า’ ผสมผสานอยู่ด้วย “ใส่ใจในความรู้สึก ให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ ช่วงเวลาสั้นๆ ณ ขณะหนึ่ง” นี่คือคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้เซนในประเทศญี่ปุ่นแตกต่างจากจีน ซึ่งมุ่นเน้นความยิ่งใหญ่นิรันดร์กาล
💧เซน อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ เชื่อมั่นในประสบการณ์ส่วนตัว จึงเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล
💧เซนไม่ถ่ายทอดผ่านตำรา ไม่เชื่อในทฤษฎีและตรรกะเหตุผล การตระหนักรู้ย่อมค้นพบได้ในชีวิตสามัญธรรมดา
💧เซน มุ่งเน้นสภาวะภายในจิตใจ การตระหนักรู้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันผ่านการฝึกฝนปฏิบัติสมาธิอย่างเข้มข้น
💧เซน เข้าถึงได้ด้วยการมองเห็นธรรมชาติของตนเอง ซ่อนเร้นอยู่ในสิ่งธรรมดา ในชีวิตประจำวัน
🕣เซนในสาระสำคัญคือ “การมองเข้าไปยังธรรมชาติของตนเอง (จิตดั้งเดิมที่ปราศจากการปรุงแต่งด้วยความคิด)” ค้นหาหนทางหลุดพ้นจากพันธนาการ มองโลกตามความเป็นจริง สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมรอบตัว วิถีปฏิบัติอยู่ในทุกกิจวัตรประจำวัน ทุกการกระทำ ไม่ใช่เพียงการนั่งวิปัสสนา ให้คุณค่ากับการทำงานหนักเพื่อขจัดช่องว่างของเวลาซึ่งจะทำให้เกิดความคิดปรุงแต่ง ทั้งนี้เพื่อพยายามเข้าสู่ “ความไร้ตัวตน ความไม่มี”
แน่นอนว่าความพยายามเหล่านั้นมักกลับกลายเป็นอุปสรรคยึดติด เซนจึงสอนไม่ให้ยึดติดและคาดหวัง (มากเกินไป) ด้วย อย่าทำเรื่องต่างๆให้ยุ่งยาก อย่าพยายามอธิบายสิ่งใดให้ซับซ้อน “เฝ้ามองสิ่งต่างๆ แบบที่มันเป็น” ไม่แยกแยะจัดประเภท ไม่หมกมุ่น ให้คุณค่ากับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ปฏิบัติด้วยความตั้งใจสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยธรรมดาเพียงใดก็ตาม ต้องทำให้ดี
เซน สอนให้ฝึกจิตโดยไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิก็ได้ อุดมคติเซนคือการปฏิบัติในทุกขณะของการดำเนินชีวิตจะดีที่สุด มุ่งหวังการตระหนักรู้ ที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘สะโตะริ (satori :「悟り」)’ ไม่มีคำตอบอันเป็นรูปธรรมหนึ่งเดียว ยอมรับและเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ว่าทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของชีวิต คือธรรมชาติหรือตัวตนที่แท้จริง
🍃ชัยยศ (ผู้เขียน) เปรยว่าเขาไม่ใช่เมฆาวารี (ผู้ฝึกตนตามแนวทางเซน) ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ ณ จุดเริ่มต้นเขาสนใจปรัชญาเซนในฐานะแนวคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังและสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมหลายแขนงในประเทศญี่ปุ่น เซนได้ผลักดันให้เกิดผลงานศิลปะรูปแบบใหม่ๆมากมายนับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา
ภูมิหลังของชัยยศทำให้เขาเลือกที่จะนำเสนอมุมมองเซนผ่านศิลปะ สถาปัตยกรรมวัดเซน การจัดสวนญี่ปุ่น รวมถึงงานจิตรกรรม ไปจนถึงแนวคิดอันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นญี่ปุ่นอย่างที่เราหลงรักในทุกวันนี้ ซึ่งคุณผู้อ่านจะได้สัมผัสเรื่องราวเหล่านี้ผ่านตัวอักษรละเมียดละไม เมื่อมีโอกาสมองหาหนังสือเล่มนี้มากอดไว้ในครอบครอง ส่วนในบทความนี้คงทำได้เพียงแค่สรุปความบางส่วนอย่างหยาบๆ เรียกน้ำย่อยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
การฝึกปฏิบัติของเซนนั้นไม่มีจุดมุ่งหมายอื่นใดนอกไปเสียจากการย้อนกลับไปหาสภาวะจิตใจดั้งเดิมที่แท้จริง (แต่กำเนิด) ซึ่งไม่ถูกปรุงแต่งด้วยความคิดจากโลกภายนอกและระบบการให้คุณค่าของสังคม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘สติ’ สติเป็นสิ่งควบคู่กับ ‘ปัญญา’ สติที่ต่อเนื่องคือ ‘สมาธิ’
“ความเป็นญี่ปุ่น” มีทัศนคติที่มุ่งเน้นแสวงหาความไม่จีรัง รายละเอียดเล็กๆ ความชิดใกล้ และช่วงเวลาสั้นๆ ณ ขณะหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง “รสนิยมแบบญี่ปุ่น” นั้นถวิลหาพื้นที่ว่างและลักษณะแบบอสมมาตร (ไม่เท่ากัน ไม่พอดี) อารมณ์อ่อนไหว ความเศร้าลึกล้ำ ความใส่ใจต่อช่วงเวลาตรงหน้า การพินิจพิจารณาสรรพสิ่งที่มีอายุสั้น เช่น น้ำค้าง หมอก เงา สิ่งเหล่านี้ชาวญี่ปุ่นมองว่ามีความงามในตัวเอง หัวใจของมันคือ “ความเรียบง่าย” ซึ่งเซนก็สนใจในเรื่องของความงามด้วย ในฐานะคุณภาพของชีวิต เพื่อการรู้สึกอย่างละเอียด
🪨‘สวนทิวทัศน์แห้ง’
เรียกแบบลำลองว่าสวนเซนที่ส่วนใหญ่ในอดีตอยู่ภายในวัดเซน มอบสุนทรียภาพ “มุ : ความงามแบบไม่มี” และ “โยะฮะคุ : ความงามจากพื้นที่ว่าง”
🔸มุ「無」: ไม่มี
🔸โยะฮะคุ「余白」: พื้นที่ว่าง
กรวดขาวภายในสวนเซน คือความงามแบบไม่มีและความงามจากพื้นที่ว่าง เมื่อเราเฝ้ามองก็คงสามารถซึมซับได้ทั้งปรัชญาโคอัน (การถามตอบแบบเซน ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์ ส่วนหนึ่งของวิถีปฏิบัติพระเซน) และความงดงามเชิงกายภาพไปพร้อมๆกัน กรวดขาวคือความสะอาด การแสวงหาความว่างภายในจิตใจย่อมเริ่มต้นจากรูปทรง และการขจัดรูปทรง ก้อนหินจำนวนหนึ่งภายในสวนช่วยขับเน้นพื้นที่ว่างได้ดีกว่าปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่าทั้งหมด สวนเซนมีความหมายเพื่อพินิจและเข้าใจจิตภายในของตนเอง “สวนเป็นสวน ซึ่งไม่ใช่สวน จึงเป็นสวน”
🛖เรือนชา (Tea House「茶屋」) สถาปัตยกรรมอันถ่อมตน
‘การชุมนุมชา’ คือการยกระดับกิจกรรมในชีวิตประจำวันสู่การเป็นศิลปะ จิตใจอันสงบ สิ่งแวดล้อมเรียบง่าย ประสานกลมกลืน เคารพกันและกัน สงบเงียบ บรรยากาศทั้งหมดล้วนเข้ากันได้ดีกับจิตวิญญาณของเซน เรือนชาเปี่ยมไปด้วยวัสดุก่อสร้างไร้มูลค่า แต่ทรงคุณค่าด้วยความใส่ใจ ประณีตในรายละเอียด บริบทแวดล้อมของความสงบนิ่ง เรียบง่าย ห้วงพื้นที่ว่าง แสงสลัว มอบความงามแบบ ‘วะบิสะบิ’ ที่เราคนไทยคงเคยได้ยินกันมาบ้าง
การชุมนุมชา เสมือนการสร้างสถานการณ์ห้วงแห่งปรัชญา แสวงหาความสงบภายในจิตใจระหว่างกระบวนการเตรียมและการดื่มชา การประสานกลมกลืนไม่ขัดแย้งระหว่างเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน “เมื่อเราลดตัวตน จึงจะสามารถเปิดรับประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ๆได้” หลอมรวมความรู้สึกอันละเอียดอ่อน ใช้การสัมผัสเชิงลึก เผชิญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จะช่วยสร้างการตระหนักรู้
อาหารในงานชุมนุมชาที่เรียบง่าย เครื่องแต่งกายเรียบร้อยสมถะ สภาพแวดล้อมช่วยสงบจิตใจ สำหรับแขกผู้มาเยือนแล้ว การเดิน การนั่งรอ การต้มน้ำ การเตรียมชา ทั้งหมดถูกยกระดับสู่การเป็นศิลปะในตัวเอง เป็นแนวทางการสร้างสรรค์เพื่อแสดงออกถึงสิ่งสามัญธรรมดาซึ่งเอื้อต่อสมาธิ เข้าสู่ความสงบจากภายนอกสู่ภายใน
✳️หลักชุมนุมชา 4 ประการ คือ กลมกลืน เคารพ บริสุทธิ์ และสงบ
🔹วะ (wa「和」) : กลมกลืน จิตใจอันอ่อนโยนคือการไม่คาดหวัง ยอมรับทุกสิ่งที่เข้ามาหาเราแบบที่มันเป็น
🔹เค (kei「敬」) : เคารพ สลัดทุกอย่างออกไป ชีวิตไม่มีอะไรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ตระหนักถึงข้อจำกัดของชีวิตและสติปัญญา
🔹เส (sei「清」) : บริสุทธิ์ ความสะอาดของสถานที่และจิตใจ
🔹จะคุ (jaku「寂」) : สงบ ละเลิกจากการยึดติด ปลีกตัวออกจากเรื่องราวมากมายในชีวิตประจำวัน
‘ปรัชญาเซน’ คือการลดตัวตน ทำจิตให้ว่าง แสวงหาความว่าง ไม่แยกแยะเรื่องต่างๆว่าสิ่งใดสำคัญหรือไม่สำคัญ
‘จิตใจแบบญี่ปุ่น’ ใฝ่หาศิลปะที่มีลักษณะโลกส่วนตัว โดดเดี่ยว สงบ ช่วงเวลาอันสั้น ความสันโดษและความสงบเงียบเป็นเรื่องเดียวกัน ญี่ปุ่นพัฒนาแนวทางนี้จนกลายเป็น ‘สุนทรียภาพแห่งความเหงาและความโดดเดี่ยว’ เมื่อคู่กันกับความเก่าแก่ก็ถือเป็น ‘สุนทรียภาพแห่งความไม่สมบูรณ์แบบ’ ซึ่งเป็นพื้นฐานความงามแบบวะบิสะบิ (wabi-sabi「侘び寂び」)
🔔เมื่อจำเป็นต้องกล่าวถึงงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเซน ‘Hisamatsu Shinichi’ นักปรัชญาเซนชาวญี่ปุ่น ได้อธิบายลักษณะ 7 ประการของศิลปะเซนไว้ดังนี้
🔘อสมมาตร : ไม่สมบูรณ์ จึงเคลื่อนไหว ขยายขอบเขตไม่สิ้นสุด
🔘เรียบง่าย : ขจัดการตกแต่งออกไป ขับเน้นพื้นที่ว่าง แสดงอาณาเขตล้ำลึก
🔘แห้ง : สง่างาม ขจัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก คงเหลือไว้แต่สารัตถะอันแท้จริง
🔘เป็นธรรมชาติ : คือวิถีปฏิบัติตนที่ไม่ฝืน แต่ไม่ใช่ไร้เดียงสา เป็นการฝึกฝนอย่างหนักจนกระทั่งสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
🔘มีความลึกลับ : ซ่อนเร้นความหมายแฝง ผู้ชมต้องจินตนาการเพิ่มอย่างไม่มีขอบเขตสิ้นสุด เพราะการไม่เห็นทั้งหมดนั้นไม่สมบูรณ์ ช่วยให้เกิดการตีความหรือสร้างพื้นที่ว่างภายในจิตใจของผู้ชม
🔘เป็นไปในทางโลก : ไม่จุกจิกเรื่องมาก ไม่สร้างข้อกำหนดเงื่อนไขล่วงหน้ามากมายเกินไปนัก
🔘มีความสงบเหงา : หันหน้าเข้าสู่ภายในจิต สงบเงียบภายในจิตใจ ขาดออกจากการผูกติดและยึดติดต่อวัตถุและผู้คน จึงเอื้อให้จิตสงบ
💭โยะฮะคุ (yohaku「余白」) : ความงามจากพื้นที่ว่าง
เซน ก่อให้เกิดการค้นพบศิลปะซึ่งเน้น ‘ความงามจากพื้นที่ว่าง’ พื้นที่ว่างสำคัญกว่ารูปทรง รูปทรงเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เข้าถึงพื้นที่ว่าง และพื้นที่ว่างเป็นสิ่งที่เฝ้ารอให้เราเติมเต็มด้วยจินตนาการของตนเอง ในระดับปรัชญานั้นพื้นที่ว่างคือ ‘ไร้ตัวตน’ หรือ ‘มุชิน (mu-shin「無心」)’ ในภาษาญี่ปุ่น อันมีพื้นฐานดั้งเดิมมาจากแนวคิดแบบเต๋า
“ประโยชน์นั้นเกิดขึ้นจากการมี ส่วนการใช้ประโยชน์นั้นมาจากความว่าง เป็นของคู่กัน” ความว่างมีบทบาททำให้จิตใจสงบ ปราศจากความคิดปรุงแต่งนั่นเอง และความงามแบบเซนก็คือ ความงามในความไม่สมบูรณ์ (วะบิสะบิ) เพื่อเติมเต็มความหมายด้วยตนเอง
สุนทรียภาพความงามที่เกิดจากความว่าง สู่ปรัชญาความว่างแบบเซน มีความหมายในเชิงเจริญสติไปพร้อมๆกัน เซนไม่ได้พยายามแสวงหาอะไรแปลกใหม่ เพียงแค่จดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะสุดท้ายแล้วทุกสิ่งล้วนว่างเปล่า
แน่นอนว่ารสนิยมอันเรียบง่าย สนใจในความเก่าแก่ต้องมนต์ขลัง ฝังรากลึกในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาแสนนานแล้ว ‘วะบิสะบิ’ เป็นการมองเห็นแง่งามจากความไม่สมบูรณ์ เก่าแก่ ขาดแคลน ความเหงา มันคือความสามารถสำหรับการมองเห็นลักษณะดังกล่าวในสิ่งแวดล้อมรอบตัว
วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวญี่ปุ่นนั้นสง่างาม เงียบเหงา เก่าแก่ อีกทั้งไม่สมบูรณ์ (อสมมาตร) วัตถุสิ่งของเก่าแก่จากคราบผ่านการใช้สอยมายาวนาน มันไม่ใช่ความสกปรก เหตุเพราะความสะอาดคือหนึ่งในหัวใจของเซนและวะบิสะบิ ความสงบและเงียบเหงามาเคียงคู่กัน การตัดขาดจากสิ่งรอบตัว ไม่ต้องการวัตถุสิ่งของที่มากเกินความจำเป็น
ในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ความงามแบบวะบิสะบิเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในระบบวัฒนธรรม พวกเขามีโลกทัศน์เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของชีวิต เพื่อปลอบประโลมจิตใจผู้คนจากความทุกข์
ตามทัศนะของ ‘ชัยยศ’ ชีวิตนั้นเป็นทุกข์เสียส่วนใหญ่ แต่ก็มีแง่ความสุขอยู่ไม่น้อย การพัฒนาแง่มุมความงามจากด้านทุกข์ของชีวิตจึงทำให้เห็นความงามจากอะไรก็ตามที่ไม่มั่นคงถาวร สะท้อนช่วงเวลาอันสั้นของชีวิตคนไปด้วย เห็นด้านที่ไม่สมบูรณ์ของชีวิต เห็นความงามของสิ่งเหล่านี้ การมองเห็นความงดงามจากความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตเป็นหนึ่งในลักษณะเฉพาะของสังคมญี่ปุ่น
🗣️ความเงียบสงบไปจนกระทั่งโดดเดี่ยว คือพื้นฐานความงามแบบ ‘วะบิสะบิ’ วัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นพัฒนาความรู้สึกเช่นนี้มาอย่างยาวนานจนกลายเป็นจุดเด่น
‘วะบิสะบิ’ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการต่อต้านวัฒนธรรมชนชั้นสูง หรูหรา ราคาแพง ประณีต ซึ่งตรงกับความงามแบบเซน คือความเรียบง่าย เพื่อให้พื้นที่ว่างทำงานได้มากขึ้น
‘วะบิสะบิ’ คือแนวทางการแสวงหาความเงียบสงบ ตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมและคุณค่าทางโลก แสดงออกถึงสายตาเฉียบแหลมของคนเมื่อพิจารณาต่อสิ่งไร้คุณค่า ไม่ใช่เพียงแค่คุณลักษณะทางกายภาพของวัตถุสิ่งของ แต่เป็นสายตาที่เฉียบแหลมซึ่งสามารถพบความงามในจุดที่ไม่น่าจะเห็นได้ อีกทั้งสามารถดึงความงามนั้นให้เผยออกมาสู่สายตาผู้อื่น กล่าวคือ “ความพึงพอใจอันเรียบง่าย”
การมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดทั้งชีวิตของคนญี่ปุ่นนั้น โดยพื้นฐานแล้วคือวิถีปฏิบัติที่มาจากเซน มุ่งเน้นแสวงหาแนวทางพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ไร้ซึ่งความคิดที่จะแยกแยะว่างานใดสำคัญหรือไม่สำคัญ สิ่งนี้คือการทำจิตให้ว่างเปล่า
🟩‘เซน’ ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าความหมายของแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลา
🟩“ทุกวันคือวันที่ดี「日々是好日」” : ทำทุกวันให้มีความหมาย เมื่อโกรธ จงโกรธ เมื่อดีใจ จงดีใจ เมื่อทุกข์ จงทุกข์
🟩“หนึ่งเวลา หนึ่งการประสบ「一期一会」” : ไม่มีช่วงเวลาใดจะมอบความหมายได้เท่ากับครั้งที่เรากำลังประสบอยู่ พึงใส่ใจและให้ความสำคัญอย่างที่สุดกับบุคคลและสถานการณ์แวดล้อม ณ ขณะนั้น
⏳“ฉันเรียนรู้เพื่อพอใจ หากเรารู้และพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ชีวิตจะไร้ทุกข์ การเรียนรู้ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียงเงินทอง หากเพื่อเติมเต็มชีวิตคนคนหนึ่ง”
🌊เซน และ ความหมายของชีวิตคุณผู้อ่านคืออะไร?
🙏ขอขอบคุณบางส่วนจากหนังสือ
📚เมฆาวารี 雲水 : สถาปัตยกรรม จิตรกรรมและสวนญี่ปุ่นในมุมของเซน
ผู้เขียน : ชัยยศ อิษฎ์วรพันธ์ุ
กรุงเทพฯ : ทวีวัฒน์การพิมพ์, 2024
ญี่ปุ่น
หนังสือ
ประวัติศาสตร์
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย