16 ต.ค. เวลา 04:20 • การเมือง

[ ขบวนการค่าไฟแพง กำลังจะถูกสานต่อโดยรัฐบาลเพื่อไทย ]

ค่าไฟแพงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเพราะราคาเชื้อเพลิงแพงขึ้น แต่เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และรัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทยก็กำลังจะสานต่ออีกครั้ง เพราะรัฐบาลพึ่งอนุมัติการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 3,632 MW มูลค่า 60,000 ล้านบาท
ซึ่งมีข้อพิรุธ 5 ประเด็น ที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในอนาคต ตั้งแต่ 1.ไม่เปิดประมูล 2. กีดกันรัฐวิสาหกิจออก 3.ไม่มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะล่วงหน้า 4.ล็อกโควต้าให้รายเดิม 5.รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มโดยไม่มีความจำเป็น จึงชวนทุกคนช่วยกันติดตาม ขบวนการสานต่อค่าไฟแพง ของรัฐบาลเพื่อไทย
โดย กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,632 MW โดยได้รับความเห็นชอบทางนโยบายจาก กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รอบเพิ่มเติม โดยใช้ หลักเกณฑ์เดียวกัน กับที่ได้เคยประกาศรับซื้อไฟฟ้า 5,203 MW เมื่อปี พ.ศ. 2565
ซึ่งการประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบที่ผ่านมา ได้มีคำพิพากษาศาลปกครองไว้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ว่า “กระบวนการคัดเลือกไม่มีความโปร่งใส และยุติธรรม จะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ได้” แต่รัฐบาลก็ยังคงเลือกที่จะเดินหน้ารับซื้อพลังงานหมุนเวียน ปี 2567 โดยยังคงใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับรอบ ปี 2565 ที่มีประเด็นปัญหาไว้เหมือนเดิมตั้งแต่
ประเด็นแรก คือ เป็นการประกาศ “รับซื้อ” ไฟฟ้า โดย “ไม่เปิดประมูล” แข่งขัน ซึ่งต้องอธิบายก่อนว่า ทุกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่รัฐทำกับเอกชน จะถูกนำมาคำนวนเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งหมด ดังนั้นเมื่อเป็นการรับซื้อไฟฟ้ามากถึง 3,632 MW หรือเป็น 10% ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของไทย โดยไม่มีการเปิดประมูล เท่ากับว่า คนไทยจะต้องเป็นคนแบกจ่ายค่าไฟแพงก้อนนี้ จากการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนแต่ไม่มีประมูลแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน
และราคาที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ยังคงเป็นราคาที่ “ดี” หรือราคาสูงสำหรับเอกชน แต่ “แย่” หรือราคาแพงสำหรับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งสะท้อนอยู่ใน การประกาศรับซื้อเมื่อปี 2565 ที่ประกาศรับซื้อ 5,203 MW แต่มีเอกชนมายื่นเสนอโครงการถึง 17,400 MW หรือ 3.3 เท่า เพราะเป็นราคาซื้อไฟฟ้าที่ดีสำหรับเอกชน แต่แพงสำหรับประชาชน
และการรับซื้อในปี พ.ศ. 2567 นี้ยังใช้ราคารับซื้อราคาเดิมที่เคยประกาศรับซื้อเมื่อ พ.ศ. 2565 คือ ผ่านไป 2 ปี ก็ยังคงจะประกาศรับซื้อราคาเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงทุกปีตามการพัฒนาของเทคโนโลยีเลย ช่างใจดีกับกลุ่มทุนพลังงานจริงๆ
ประเด็นที่สอง คือ การรับซื้อไฟฟ้าทั้งสองรอบ กำหนดเงื่อนไขกีดกัน รัฐวิสาหกิจ ที่ผลิตไฟฟ้าอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ออกจากกระบวนการรับซื้อไปเลย ทั้งๆที่ กฟผ. พึ่งพิสูจน์ว่าทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่ เขื่อนสิรินธร ได้ในปี พ.ศ. 2564 และมีต้นทุนไฟฟ้าอยู่ที่ 1.5 บาท/หน่วย แต่ถูกกีดกันออกจากการรับซื้อ แต่รัฐบาลกลับยินดีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2.2 บาท/หน่วย ในปี 2565 และ 2567 ก็ยังคงใช้ราคาเดิม
ประเด็นที่สาม คือ การรับซื้อไฟฟ้าทั้งสองรอบ ไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ใช้ในการคำนวนผู้คัดเลือกก่อนเลยทั้งในรอบปี 2565 และ รอบปี 2567 ก็ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนที่เอกชนจะเข้าใจก่อนได้เลย ทำให้เปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจได้กว้างขวางในการคัดเลือกว่าเอกชนรายใดจะได้รับคัดเลือกให้สามารถขายไฟฟ้าราคาแพง และทำให้ผลลัพธ์ในรอบ 2565 ก็คือ มีกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มเดียวได้รับเป็นผู้คัดเลือกสูงถึง 58% หรือ 3,000 MW จากการรับซื้อทั้งหมด 5,202 MW
ซึ่งเฉลยเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมรัฐบาล ถึงไม่เปิดประมูลเวลาจะรับซื้อไฟฟ้า ทำไมถึงกีดกันรัฐวิสาหกิจออก และทำไมถึงไม่มีหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนสำหรับคัดเลือก เพราะจะได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนนึงได้รับคัดเลือกจำนวนมากๆ ขายไฟฟ้าราคาแพงต่อไปได้อีกนาน อย่างเป็นระบบ เป็นขบวนการ
ประเด็นที่สี่ คือ จากการรับซื้อ 3,632 MW นี้ จะแบ่งเป็น สองกลุ่ม คือ กลุ่ม 2,168 MW (Wind 600 MW + Solar 1,580 MW) เป็นโควต้าเฉพาะผู้ที่ผ่านการประกาศรอบปี 2565 แต่ไม่ได้เป็นผู้ได้รับคัดเลือกในรอบที่แล้ว ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการกำหนดให้มีการล็อคโควต้าไว้เฉพาะผู้ที่เคยยื่นโครงการไว้ในรอบปี 2565 เท่านั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่แข่งขันอย่างเสรีในการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้เลย
ประเด็นที่ห้า คือ การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีกถึง 3,632 MW โดยไม่มีความจำเป็น จะซ้ำเติมต้นตอค่าไฟฟ้าแพงที่เกิดจากการที่หลายรัฐบาลที่ผ่านมา ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนจำนวนมากเกินความจำเป็น จนวันนี้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึง 49% หรือ 18,174 MW อยู่แล้ว มากขนาดที่ว่า โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ 6 โรง จากทั้งหมด 13 โรง ไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่วันเดียว แต่จะได้เงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกวัน ที่ซ่อนอยู่ในบิลค่าไฟของเราทุกเดือน
และถ้าอ้างว่า เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มพลังงานสะอาด เพื่อรองรับการลงทุนที่มีนโยบายใช้พลังงานสะอาดเท่านั้น หรือ RE100 มติ กพช. มิ.ย. 2567 ก็พึ่งอนุมัตินโยบายให้มีการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงได้ หรือ Direct PPA (คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาด แข่งขันกันขายไฟฟ้าตรงกับผู้ซื้อไฟฟ้าได้ โดยเช่าระบบสายส่งของการไฟฟ้า)
ถึง 2,000 MW เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากผู้ประกอบการที่ต้องการ RE100 อยู่แล้ว และการทำซื้อขายไฟฟ้าสะอาดจากผู้ผลิตได้โดยตรง หรือ Direct PPA นั้น สอดคล้องและตรงกับความต้องการของเอกชนที่ต้องการ RE100 มากกว่า
ข้อเสนอของเรานั้นชัดเจนมากว่า เราสนับสนุนพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆที่ต้องการ พลังงานสะอาดเท่านั้น หรือ RE100 ดังนั้นถ้ารัฐบาลประเมินว่า 2,000 MW Direct PPA ที่พึ่งมีมติอนุมัติไปนั้นไม่เพียงพอ ก็ควรเพิ่มปริมาณสำหรับ Direct PPA ให้จะยังตรงกับเป้าหมายได้มากกว่าด้วยซ้ำ
ซึ่งไม่เหมือนกับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,632 MW ที่คือ การให้กฟผ. รับซื้อและมาขายต่อ ซึ่งผลลัพธ์จะไม่สามารถนับเป็น RE100 ได้ จึงยิ่งไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่รัฐบาลจะเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนรอบ 3,600 MW นี้เลยด้วยซ้ำ
และถึงแม้ว่า การประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW จะเริ่มต้นโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ตามเงื่อนไขของการรับซื้อระบุชัดเจนว่า กพช. (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ)
ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น มีอำนาจในการยกเลิกการรับซื้อได้ก่อนการลงนามซื้อขายไฟฟ้า แต่รัฐบาลเศรษฐา ก็เดินหน้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ไปแล้วเมื่อเดือน ต.ค. 66 ทั้งๆที่ มีข้อพิรุธในหลายประการที่ได้กล่าวไป และ รัฐบาลแพรทองธาร ก็กำลังจะสานต่อ ขบวนการค่าไฟแพง อีกครั้ง ด้วย เงื่อนไขและกระบวนท่าเดิมๆ เสมือน เริ่มด้วยรัฐบาลประยุทธ์ ลงนามโดยรัฐบาลเศรษฐา และกำลังจะสานต่อโดยรัฐบาลแพรทองธาร
ดังนั้นจึงอยากชวนประชาชนทุกคนช่วยกันติดตามประเด็นนี้ ผมและพวกเราพรรคประชาชน จะใช้ทุกกลไกทางในสภาผู้แทนราษฎรและศาลปกครอง เพื่อช่วยกันคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนอย่างสุดความสามารถต่อไป เพื่อไม่ให้ประชาชนทุกคนต้องมาเสียค่าไฟแพงโดยไม่จำเป็น ที่หมายถึงความร่ำรวยของกลุ่มทุนพลังงานไม่กี่คน
#พรรคประชาชน #สสเติ้ล #ค่าไฟ #ค่าไฟแพง
โฆษณา