16 ต.ค. เวลา 04:34 • ท่องเที่ยว
แขวงตลาดน้อย

ตลาดน้อย ชุมชนเก่าที่น่ารักไม่น้อย

ถ้าจะนับจุดกำเนิด “ตลาดน้อย” น่าจะต้องนับไปถึงต้นยุครัตนโกสินทร์โน่นเลย สมัยที่สำเพ็งเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจย่านนั้น สำเพ็งขยายตัวมาทางใต้ของสำเพ็ง สำเพ็งเรียกว่าเป็น “ตลาดใหญ่” ส่วนที่ขยายมาเรียกว่า “ตะลัคเกี๊ยะ” หรือแปลว่า “ตลาดน้อย”
ตลาดน้อยผ่านกาลเวลามานาน ช่วงหนึ่งรู้จักกันในชื่อย่าน “เซียงกง” ย่านขายเครื่องยนต์และอะไหล่รถยนต์ชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในซอยวานิช2
เวลาเปลี่ยนไป เซียงกงขยายไปหลายที่ในประเทศ คนซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น ร้านอะไหล่ที่นี่ก็น้อยลง เครื่องยนต์ที่วางซ้อนทับกันสูงเป็นกำแพงก็น้อยลง แต่ก็ยังมีหลายร้านเปิดดำเนินงานอยู่
ชุมชนตลาดน้อยกลายเป็นแหล่งอะไหล่รถยนต์ขนาดใหญ่ได้อย่างไรนั้น ลองไปหาข้อมูลพบว่าน่าจะเป็นความประหยัดอดออมเน้นการซ่อมมากกว่าการซื้อใหม่ เมื่อรถเก่าก็เที่ยวหาอะไหล่มาเปลี่ยน จากการซ่อมกลายเป็นคนที่รู้เรื่องอะไหล่และวิธีหาอะไหล่บวกกับการที่คนจีนมีหัวการค้าเลยไปหาอะไหล่มาไว้สำหรับคนที่ต้องการ...และเมื่อมีคนต้องการซื้อธุรกิจก็ขยายตัว จนตลาดน้อยเปลี่ยนหน้าตาไปอีกครั้งในปัจจุบัน
เดินลัดเลาะไปในซอยเล็กๆ เข้าซอยนู้นออกซอยนี้ จนไปเจอรถเฟียตที่คนถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียจนพรุนไปหมด
ชุมชนชาวจีนก็ต้องมีศาลเจ้าและศาลเจ้า “โจวซือกง” ก็เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในย่านตลาดน้อยนี้ จากหลักฐานบันทึกของศาลเจ้าพบว่าศาลเจ้านี้สร้างขึ้นในยุคสมัยรัชกาลที่1 โดยเศรษฐีชาวจีนฮกเกี้ยนแซ่ ”โซว” นี้ประดิษฐานเทพเจ้าโจวซือกง และยังมีเทพเจ้าองค์อื่นๆให้ผู้ศรัทธาได้เคารพบูชา
ศาลเจ้าอีกที่ “ศาลเจ้าโรงเกือก” หรือ “ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง” ตามชื่อเทพประธานของศาลเจ้าซึ่งก็คือ “เทพฮ้อนหว่องกุง” ศาลเจ้านี้เป็นของกลุ่มชาว “จีนแคะ” ที่อยู่ปะปนกับชาวฮกเกี้ยนที่อยู่กันในย่านนี้
ชาวจีนแคะกระจายอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ในกรุงเทพฯแน่นอนว่าจุดใหญ่อยู่ที่เยาวราช ความเชี่ยวชาญของชาวจีนแคะมีหลายอย่างซึ่ง ”เกือก” ของศาลเจ้าโรงเกือก หาใช่เกือกมนุษย์ไม่ แต่เป็นเกือกม้าต่างหาก...เพราะชาวจีนแคะย่านตลาดน้อยเชี่ยวชาญเรื่องงานโลหะ แถบนี้ก็เป็นท่าเรือ เรื่องเครื่องจักรกล งานโลหะต่างๆ
ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ชุมชนตลาดน้อย ตัวอาคารสวย ถึงแม้ที่นี่จะไม่ใช่ที่ที่เป็นจุดกำเนิดธนาคารไทยพาณิชย์(เพราะที่แรกอยู่แถวบ้านหม้อ) แต่ก็ถือว่าเป็นสำนักงานธนาคารแบบเต็มรูปแบบที่แรก
สถาปัตยกรรมของอาคารข้อมูลป้ายหน้าอาคารบอกว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบ “บาโรก Baroque” แต่ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตบอกว่าเป็นสภาปัตยกรรมแบบ “โบซาร์ Beaux Arts” ผสมกับ “นีโอคลาสสิก Neo-Classic”
“พิพิธตลาดน้อย” ที่ทำให้คุณได้รู้เรื่องราวของตลาดน้อยและชุมชนในย่านนี้
พิพิธตลาดน้อยเป็นของกรมธนารักษ์ ที่ตรงนี้เคยเป็นโรงกลึงที่ทำชิ้นส่วนประกอบเรือ เครื่องจักรต่างๆและโรงสีข้าว แน่นอนว่าพอเวลาเปลี่ยนไปสถานที่นี้ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างเหมือนกับอาคารหลายๆแห่งย่านนี้ จนเวลาผ่านไปอีกนั่นแหละที่คนเริ่มคิดปรับปรุงอาคารเดิมให้ใช้ประโยชน์ได้ ต่ออายุให้สถานที่ได้คงอยู่ต่อไป
⭐️ ถ้าชอบการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ดูรีวิวเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา