Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
@RAMA
•
ติดตาม
11 พ.ย. เวลา 06:13 • สุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สุขภาพผู้สูงวัย: ศัพท์มากมายควรรู้ เพื่อการดูแลที่ดีกว่า
ฉบับที่ 54 เดือนตุลาคม 2567
Column : Vocab With Rama
Writer Name : นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง
คุณผู้อ่านคะ เมื่ออายุมากขึ้น เรื่องสุขภาพก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นตัวของเราเอง หรือบรรดาคนรอบตัว พ่อ แม่ ญาติ ๆ ผู้ใหญ่ของเราที่มีอายุมากขึ้นทุกวัน การทำความเข้าใจคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้สูงอายุสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการสื่อสารเกี่ยวกับความต้องการ การรักษา และการดูแลของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้เลยอยากชวนมาสำรวจคำศัพท์และแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้สูงอายุ โดยเน้นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับภาวะสุขภาพ การรักษา และทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ ในที่นี้จะขอยกมาเฉพาะคำศัพท์
เรามาดูศัพท์น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะสุขภาพทั่วไปกันก่อนนะคะ
• Chronic Diseases (/ˈkrɒnɪk dɪˈziːz/) คำนี้หลายคนคงได้ยินบ่อย ๆ หมายถึงโรคเรื้อรังค่ะ ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะเรื้อรัง เช่น Heart Disease (/hɑːt dɪˈziːz/) หมายถึงโรคหัวใจ Diabetes (/ˌdaɪəˈbiːtiːz/) หมายถึงโรคเบาหวาน และ Arthritis (/ɑːˈθraɪtɪs/) หมายถึงโรคข้ออักเสบ
• Dementia (/dɪˈmenʃə/) หมายถึงโรคภาวะสมองเสื่อม คำศัพท์ทั่วไปนี้หมายถึงภาวะการทำงานของสมองที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อชีวิตประจำวัน จริง ๆ แล้วโรคสมองเสื่อมมีหลายประเภท แต่โรคสมองเสื่อมที่เรารู้จักกันดีและคุ้นหูที่สุดก็น่าจะหนีไม่พ้น Alzheimer’s disease (/ˈæltshaɪməz dɪziːz/) หรือโรคอัลไซเมอร์นั่นเองค่ะ
• Osteoporosis (/ˌɒstiəʊpəˈrəʊsɪs/) หรือโรคกระดูกพรุน เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนแอลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะในสตรีสูงวัย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลัง Menopause (/ˈmenəpɔːz/) หรือวัยหมดประจำเดือนนั่นเองค่ะ
• Hypertension (/ˌhaɪpəˈtenʃn/) หมายถึงภาวะความดันโลหิตสูงยอดฮิต ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke (/strəʊk/) ได้เช่นกัน
• Incontinence (/ɪnˈkɒntɪnəns/) หมายถึงภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะหรืออุจจาระได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก เป็นอีกภาวะที่มักพบในผู้สูงอายุอันเกิดจากความเสื่อมสภาพของอวัยวะตามอายุที่มากขึ้น
นอกจากสุขภาพกายแล้ว ยังมีศัพท์น่าสนใจเกี่ยวกับศัพท์ภาวะสุขภาพจิตที่มักพบบ่อย ๆ
• Depression (/dɪˈpreʃn/) คำนี้เจอบ่อย ๆ ในช่วงนี้ หมายถึง ภาวะซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดจากการสูญเสีย โรคเรื้อรัง หรือการแยกตัวจากสังคม มักไม่ได้รับการวินิจฉัยเนื่องจากความอับอายหรือการตีความอาการผิด ๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัยชรา
• Anxiety Disorders (/æŋˈzaɪəti dɪsˈɔːdə(r)/) หมายถึง โรควิตกกังวล ผู้สูงอายุจำนวนมากประสบกับความวิตกกังวลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ การสูญเสีย และการเปลี่ยนแปลงในชีวิต การจัดการความวิตกกังวลนับเป็นสิ่งสำคัญเพื่อปรับตัวกับความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปตามสภาพอายุและสังคม
• Cognitive Aging (/ˈkɒɡnətɪv ˈeɪdʒɪŋ/) ภาวะการเสื่อมถอยทางปัญญา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แม้คนยังไม่เข้าสู่วัยผู้สูงอายุก็อาจมีภาวะนี้ได้เช่นกัน
เมื่อเราได้รู้จักกับศัพท์ต่าง ๆ เกี่ยวกับภาวะสุขภาพแล้ว ก็ต้องมาดูศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการดูแลท่าน ๆ เหล่านั้น ในทางการแพทย์ด้วยนะคะ ศัพท์ที่เกี่ยวข้องและเจอบ่อย ๆ ในวงการแพทย์และน่ารู้สำหรับบุคคลทั่วไปมีดังนี้ค่ะ
• Geriatric (/ˌdʒeriˈætrɪk/) แปลแบบไทย ๆ หมายถึง เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เป็นสาขาหนึ่งของการแพทย์ที่เน้นการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ แพทย์เฉพาะทางด้านนี้ได้รับการฝึกอบรมให้จัดการกับปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับวัยชรา
• Palliative Care (/ˈpæliətɪv keə(r)/) คำนี้หมายถึง การดูแลแบบประคับประคอง การดูแลแบบประคับประคองมีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะที่จำกัดอายุ โดยให้ความสะดวกสบายและการสนับสนุนสำหรับทั้งผู้ป่วยและครอบครัว
• Rehabilitation (/ˌriːəˌbɪlɪˈteɪʃn/) หมายถึงการบำบัดต่าง ๆ เช่น กายภาพบำบัด (physical therapy: /ˌfɪzɪkl ˈθerəpi/) กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy: /ˌɒkjuˌpeɪʃənl ˈθerəpi/) และอรรถบำบัด (Speech Therapy: /ˌspiːtʃ ˈθerəpi/) ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้อีกครั้งหลังจากหายจากการเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือการผ่าตัด
• Home health care (/həʊm ˈhelθ keə(r)/) หมายถึงการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน หมายถึง การบริหารให้มีการจัดบริการเต็มรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวรายหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่การประเมินสภาพผู้ป่วยที่บ้าน การประสานงานกับทีมรักษาว่าจะรักษาที่บ้าน ที่โรงพยาบาลหรือส่งต่อ การมอบหมายให้หน่วยงานหรือแผนกต่าง ๆ รับผิดชอบหน้าที่ใดบ้างเพื่อการดูแลผู้ป่วยรายนั้น ๆ ร่วมกัน การประเมินความต้องการด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันได้ตามปกติ
• Assisted Living Facilities (/əˌsɪstɪd ˈlɪvɪŋ fəˈsɪləti/) คำนี้แปลไทยตรง ๆ หมายถึง บ้านพักคนชรานี่แหละค่ะ เป็นสถานที่พักอาศัยที่ออกแบบมาสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจกรรมประจำวัน แต่ไม่ต้องการการดูแลทางการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง ยังเดินเหินได้ ไม่มีป่วยไข้จนต้องติดเตียง
จะต่างจากเนอร์สซิ่งโฮม (Nursing Home: /ˈnɜːsɪŋ həʊm/) ซึ่งจะเน้นการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลตลอดเวลา 24 ชั่วโมง หรือผู้ป่วยสูงอายุที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดต้องการใช้เวลาในการพักฟื้น และผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต้องมีคนดูแล ป้อนอาหาร ทำความสะอาดร่างกายให้ ซึ่งที่เนอร์สซิ่งโฮมจะมีทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และนักโภชนาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง ซึ่งจะช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง
และช่วยฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยให้หายอย่างรวดเร็ว มีการบริการครบวงจรเหมาะสำหรับผู้สูงอายุระยะสั้น ๆ
• Caregiver (/ˈkeəɡɪvə(r)/) เป็นอีกหนึ่งคำที่สำคัญมาก ๆ หมายถึงผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นผู้ดูแลที่ไม่ใช่พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแล ถ้าเป็นผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัวของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเอง จะใช้คำว่า Family Caregiver คนกลุ่มนี้มีก็เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ ต้องเข้มแข็ง และได้รับการสนับสนุนจากมืออาชีพให้สามารถดูแลผู้สูงอายุในความดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ในท้ายที่สุดแล้ว การดูแลผู้สูงอายุต้องอาศัยศาสตร์หลากหลาย บวกกับการให้การสนับสนุนทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้สูงอายุ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Compassion: /kəmˈpæʃn/) เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ การเน้นย้ำถึงคำสั่งล่วงหน้าช่วยให้มั่นใจว่าความปรารถนาของผู้สูงอายุได้รับการเคารพ ส่งเสริมการมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีอย่างมีศักดิ์ศรี
อ้างอิง:
•
https://www.rama.mahidol.ac.th/fammed/th/postgrad/homecare
•
https://rukkhunhealth.com/blog/the-difference-nursing-homes/\
•
https://www.hopkinsmedicine.org/about/community-health/johns-hopkins-ba…
•
https://www.maewanghospital.go.th/news_file/05d85acd83bd622272c20954f76…
•
https://www.rama.mahidol.ac.th/nursing/sites/default/files/public/journ…
อ่านเพิ่มเติม
rama.mahidol.ac.th
สุุขภาพผู้สูงวัย: ศัพท์มากมายควรรู้ เพื่อการดูแลที่ดีกว่า
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย