16 ต.ค. เวลา 07:29 • ข่าว

ฝรั่งเศสทวงคืน Doliprane ต้านการขายแบรนด์ยาแก้ปวด No. 1 ให้นายทุนอเมริกัน

เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเจอทัวร์ลงจากทุกสารทิศ เมื่อมีการประกาศว่า Sanofi บริษัทยายักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสมีแผนการกิจาการ แบรนด์ Doliphane ที่เป็นยาแก้ปวดกลุ่มพาราเซตามอล เบอร์ 1 ของฝรั่งเศสให้กับกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยด้านสาธารณสุข และอุตสาหกรรมที่ละเอียดอ่อนต่อความมั่นคงได้
2
เสียงที่คัดค้านมาจากกลุ่มการเมืองแทบทุกฝ่าย ทั้งสายอนุรักษ์นิยม, สังคมนิยม, หรือแม้แต่กลุ่มสายกลาง ที่เห็นตรงกันว่า รัฐบาลของเอมานูเอล มาครงต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อขัดขวางการขายแบรนด์ยา Doliprane ของฝรั่งเศสให้กับนายทุนสหรัฐฯ
2
Doliprane เป็นแบรนด์ยาพาราเซตามอล หรือ ยาระงับปวดกลุ่มที่ไม่ใช่โอปิออยด์ ที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดเล็กน้อย ถึงปานกลาง และมีไข้ ของ Sanofi บริษัทยายักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส
ถือเป็นแบรนด์ยาพาราเซตามอลอันดับ 1 ของประเทศก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะไปร้านขายยาไหนในฝรั่งเศส ล้วนแต่มีผลิตภัณฑ์ของ Doliprane อัดแน่นเต็มชั้น ในหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 100 มก. สำหรับทารกแรกเกิด จนถึง 1,000 มก. สำหรับผู้ใหญ่ และในรูปแบบเม็ด แคปซูล ยาเหน็บ และของเหลว
ความนิยมอย่างกว้างขวางของ Doliprane ทำให้ชาวฝรั่งเศสเรียกชื่อแบรนด์ Doliprane แทนชื่อยาพาราเซตามอลไปเลย แม้ว่าจะเป็นยาแก้ปวดที่ผลิตจากบริษัทอื่นก็ตาม ด้านบริษัท Sanofi ก็เป็นบริษัทยาที่มีธุรกิจด้านเวชภัณฑ์ และ การดูแลสุขภาพในเครือเป็นจำนวนมาก นอกจากจะเป็นเจ้าตลาดในฝรั่งเศสแล้ว ยังติดอันดับ 12 ของบริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
แต่ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ Sanofi มีแผนที่จะขายหุ้นของ Opella บริษัทในเครือที่ผลิต Doliprane และ ยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ ถึง 50% ให้กับบริษัทเงินทุนไพรเวทอิควิตี้ Clayton, Dubilier & Rice (CD&R) จากนิวยอร์ก ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวจากกลุ่มสหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองในฝรั่งเศส ต่อต้านการเข้าควบคุมกิจการของบริษัทเงินทุนจากสหรัฐฯ แม้จะเสนอเงินสูงถึง 1.5 หมื่นล้านยูโร (5.45 แสนล้านบาท) ก็ตาม
ด้านบริษัท Sanofi ให้เหตุผลที่ต้องการขายบริษัทในเครือที่ผลิต Doliprane ว่า ทางบริษัทต้องการเน้นธุรกิจยาสามัญประจำบ้านให้น้อยลง แค่จะมุ่งไปที่การวิจัยนวัตกรรมยา และวัคซีนใหม่ๆให้มากขึ้น ที่รวมถึงการพัฒนาวัคซีน โปลิโอ ไข้หวัดใหญ่ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวจากหลากหลายขั้วการเมืองไม่เห็นด้วย โดยฟาเบียน รุสเซล หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศส ออกมาโจมตีว่า การขายธุรกิจยาสามัญของฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นเรื่องน่าละอาย และเป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียอธิปไตยของฝรั่งเศส ด้าน จอร์แดน บาร์เดลลา ประธานพรรค RN ฝ่ายขวาประนามว่าไม่ต่างจากการเฉือนเนื้อขายชาติตัวเองทีละเล็ก ทีละน้อย
ในขณะเดียวกัน มารีน ทอนเดลิเยร์ รองพรรคกรีน ก็ออกมาโจมตีรัฐบาล ที่ไม่นำพาต่อประเด็นที่นายทุนต่างชาติพยายามเข้ามาครอบครองธุรกิจยาสามัญของฝรั่งเศสว่า รัฐบาลไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ที่ฝรั่งเศสเคยขาดแคลนยาอย่างหนักเพราะเคยชินกับการใช้วิธีการจ้างผลิตโดยบริษัทต่างประเทศ
แต่เมื่อเจอวิกฤติโรคระบาดครั้งใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือวิกฤติด้านเวชภัณฑ์ในประเทศ ที่แม้แต่ยาสามัญอย่างพาราเซตามอลยังหาไม่ได้ รัฐบาลจึงควรตระหนักรู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าความมั่นคงด้านสาธารณสุขสำคัญต่อประเทศเพียงใด แต่วันนี้รัฐบาลฝรั่งเศสยังเพิกเฉยต่อการขายกิจการยาสามัญของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศให้แก่นายทุนต่างชาติ รวมถึงอนาคตของลูกจ้างของ Opella บริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศอีกนับหมื่นคน
มาร์ก เฟอร์รัคชี รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ช่อง France 3 ว่า รัฐบาลได้เข้ามาดูเงื่อนไขการซื้อขายหุ้นของบริษัทยาของฝรั่งเศสแล้ว และยืนยันว่า สำนักงานใหญ่ และทีมผู้บริหารของ Opella จะต้องอยู่ในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับแผนกวิจัยพัฒนา เพื่อรักษาอัตราการจ้างงาน และตอบสนองความต้องการในตลาดฝรั่งเศสก่อนเป็นสำคัญ มิฉะนั้น รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงการลงทุนจากต่างประเทศ หากมีการผิดเงื่อนไขเบื้องต้นดังกล่าว
จากประเด็นร้อนแรงเรื่องยาแก้ปวดแบรนด์ No.1 ของฝรั่งเศสที่ทุกฝ่ายพร้อมใจกันออกมาปกป้อง ทำให้รู้ว่าชาวฝรั่งเศสผูกพันกับแบรนด์ยาสามัญประจำบ้านมากกว่าที่คิด ที่อาจไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่ผสมกับแรงชาตินิยมของชาวฝรั่งเศสด้วย เสียทองเท่าหัว ไม่เท่ากับเสียแบรนด์หวงให้ใคร
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา