Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
@RAMA
•
ติดตาม
19 ต.ค. เวลา 14:36 • สุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
80 RUN มาราธอน “ศ.คลินิก นพ.เอาชัย” หมอนักวิ่ง
ฉบับที่ 54 เดือนตุลาคม 2567
Column : Rama Update
Writer : ดนัย อังควัฒนวิทย์
ประโยคนี้ดูจะเป็นความจริง เพราะใคร ๆ ก็ออกกำลังกายได้ ไม่ว่าจะรูปแบบใด กีฬาประเภทใด ออกกำลังกายกันเป็นกลุ่ม หรือคนเดียวก็ทำได้ เหมือนอย่างที่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เอาชัย กาญจนพิทักษ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำจนเป็นแบบอย่างที่ดีในการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ... เชื่อมั้ยว่า ในวัย 83 ปี คุณหมอยังคงวิ่งมาราธอน 42.195 กิโลเมตร อยู่เลย คุณหมอทำอย่างไร มีวิธีการวิ่งยังไง ไปติดตามบทสัมภาษณ์กันได้เลยครับ
🏃 ทำไมเราต้องออกกำลังกายด้วย
เพราะร่างกายต้องมีการเคลื่อนไหว เหมือนกับเครื่องยนต์ที่มันวิ่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่วิ่งเลย ไม่ได้ทำอะไรมันเลย ลูกสูบมันก็จะติด ท่อมันก็จะเสื่อม มีน้ำมันค้างอยู่แต่ไม่ได้ทำอะไรกับเครื่องยนต์ ก็เหมือนกันกับร่างกายที่ต้องมีการออกกำลังกายตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเป็นหมอผ่าตัด หลังการผ่าตัดก็ต้องให้คนไข้ออกกำลังเหมือนกัน แล้วทุกอย่างมันก็จะดีขึ้น และเป็นสิ่งที่ควรทำในทุกวัย
ยิ่งเครื่องเก่ามาก เราก็ต้องยิ่งออกกำลังกาย มันเป็นความคิดที่ผิดที่เก่าแล้ว แก่แล้ว เราจะต้องหยุด เราหยุดงานได้ แต่หยุดออกกำลังกายไม่ได้
หากถามว่า ทำไมผมถึงออกกำลังกาย ก็เพราะตอนหนุ่ม ๆ ผมก็มีไลฟ์สไตล์แบบวัยรุ่น มีเข้าสังคมบ้าง พอไปเป็นนักกีฬายิงปืน ก็ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เพราะยิงปืนไม่ค่อยได้ใช้ร่างกายมาก แต่จุดเริ่มที่มาออกกำลังกาย จะเริ่มออกกำลังกายด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด ก็คือการวิ่ง เพราะการวิ่งเป็นพื้นฐานการเคลื่อนไหวของทุกอย่างเลย ยกตัวอย่าง นักว่ายน้ำก่อนจะลงสระ ก็ต้องวิ่งวอร์มรอบสระก่อน เป็นต้น
ส่วนตัวต้องยืนทำผ่าตัดนาน ๆ 6-10 ชั่วโมง เมื่อเราออกกำลังกาย ก็จะยืนผ่าตัดได้นานขึ้น โดยที่ไม่ได้เหนื่อยอะไรมาก โดยสมัยก่อนไม่ค่อยมีคนสนใจการวิ่งมากนัก ผมน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่รามาธิบดี แล้วลูกศิษย์พอมาเห็น เขาก็เริ่มมาวิ่ง เวลาเราวิ่งเนี่ย มันเหมือนกับเครื่องยนต์กับร่างกายที่จะมีการสึกหรอได้เหมือนกัน
🏃 ความเชื่อที่ว่าวิ่งเยอะ ๆ แล้วหัวเข่าพัง
อาจจะจริง ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง คือร่างกายทั้งตัวน้ำหนักจะลงไปที่หัวเข่า แต่ว่าหัวเข่าจะมีกล้ามเนื้อต้นขาไปคลุมหัวเข่าไว้ ซึ่งถ้ากล้ามเนื้อหัวเข่าแข็งแรง การบาดเจ็บที่หัวเข่าก็จะน้อย สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเลยคือ การวิ่งลงเนิน เพราะน้ำหนักทั้งหมดจะลงมาที่เข่า สมมุติว่าเราหนัก 80 กิโลกรัม เวลากระแทกลงไปจะไม่ใช่แค่ 80 แต่จะเป็น 160 กิโลกรัม อันนี้จึงต้องระวัง
แต่ถ้ากล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงและวิ่งอย่างถูกวิธี ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเข่าเสื่อม วิ่งแล้วหัวเข่าเสื่อมนั้นมีไม่เยอะ ในบางคนก็จะมีอาการรองช้ำ อันนี้ก็สามารถป้องกันและรักษาได้ การวิ่งอาจจะน่าเบื่อ แต่เราสามารถออกไปวิ่งคนเดียวได้ แค่ใส่รองเท้าก็เริ่มวิ่งได้เลย
🏃 วิ่งในแบบคนวัย 80 มีคำแนะนำอย่างไร
ผมเริ่มต้นวิ่งตอนอายุ 40 เป็นการวิ่งแบบเร็ว แล้วก็ไปลงแข่งขันตอนอายุ 50 พอลงแข่งขันอาการบาดเจ็บก็มาเลยเป็นเรื่องปกติ ก็วิ่งเรื่อยมา เน้นการแข่งขัน แต่พออายุเกินเกณฑ์การแข่งขันแล้ว บางรายการอาจจะมีถึงแค่ 60 ปี 70 ปี ก็ไม่มีแข่งขันแล้ว ก็เลยไม่รู้ว่าจะไปวิ่งแข่งขันทำไม แค่วิ่งให้ครบตามเวลาที่เราต้องการ วิ่งถึงเส้นชัยตามเป้าที่เราต้องการ ก็เลยไม่ค่อยบาดเจ็บเท่าไร
คำแนะนำในการวิ่ง คือเราซ้อมวิ่งเร็ว ๆ สมมุติวิ่ง 10 กิโลเมตร ก่อนจะถึงกิโลเมตรที่ 10 สัก 100-200 เมตรให้ใช้สปริ้นทำความเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้วค่อย ๆ cool down เพราะการฝึกปฏิบัติอย่างนี้เป็นประจำร่างกายจะแข็งแรงขึ้น ทนทานขึ้น สามารถวิ่งได้ยาวขึ้น ซึ่งไม่ค่อยมีใครปฏิบัติแบบนี้เท่าไร อย่างนักวิ่งระยะ Full Marathon 42.195 กิโลเมตร ก็มักจะทำเวลาในครึ่งหลังคือ 21 กิโลเมตร ได้ดีกว่าใน 21 กิโลเมตรแรก
ทุกวันนี้ผมก็ยังไปวิ่งระยะ Full Marathon อยู่ ก็คิดกับตัวเองว่า เรายังไหว ยังวิ่งได้ คนวัย 83 ปีแล้วยังวิ่งได้ ยังมีการฝึกฝนซ้อม พยายามทำตามเวลาที่กำหนดไว้ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็จะไม่ฝืน มันเป็นสิ่งที่เราทำได้จากฝึกฝนซ้อม ก็อาจทำให้ผมวิ่งได้จนถึงอายุ 90 ปี
มีคนมักถามผมว่า ทำไมยังไม่หยุดวิ่ง ผมก็ตอบไปว่า ตราบใดที่ผมยังวิ่งมาราธอนได้ตามเวลาที่กำหนดที่มนุษย์ควรจะทำได้นั้น ผมก็คงยังทำอยู่ กำหนดมา 7 ชั่วโมง 6 ชั่วโมงครึ่ง ผมก็โอเคนะ คิดว่าเราได้ออกกำลัง เราก็ไม่ควรที่จะแข่งขัน ก็เป็นส่วนหนึ่งในความพยายาม ความตั้งใจของผมที่จะทำ
อ่านเพิ่มเติม
rama.mahidol.ac.th
80 RUN มาราธอน “ศ.คลินิก นพ.เอาชัย” หมอนักวิ่ง
ไลฟ์สไตล์
สุขภาพ
การแพทย์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย