16 ต.ค. เวลา 13:00 • การเมือง

ผ่าทางตัน รธน.ใหม่ ชู 2 เส้นทาง - ประชามติ 2 ยก

ย้อนไปเมื่อปี 2562 "พริษฐ์ วัชรสินธุ" หรือ "ไอติม" เคยสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ทว่าครั้งนั้นเขาสอบตกไม่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะกระแส "ประชาธิปัตย์"ตกต่ำจนถึงขั้นสูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ
"ไอติม"ได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรกหลังเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล รับบทบาทผู้จัดการฝ่ายรณรงค์และสื่อสารนโยบายพรรคก้าวไกล คิดแคมเปญจนทำให้ "พรรคก้าวไกล" ประสบความสำเร็จชนะเลือกตั้งแบบเหนือความคาดหมายเมื่อปี 2566
"พริษฐ์" สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ในวัย 32 ปี และอีกบทบาทประธานกรรมาธิการ (กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่าน "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า "ศัตรูของทุกพรรคการเมืองที่สำคัญ คือ ปัญหาของประชาชน อะไรที่ล้วนเป็นต้นตอปัญหานั้น ก็ล้วนเป็นศัตรูของพรรคการเมืองและพรรคประชาชน"
เขาเลือกเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองเหมือนน้าชาย "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 และยังจบการศึกษาที่เดียวกับ "อภิสิทธิ์" ที่วิทยาลัยอีตัน อังกฤษ และปริญญาตรี ด้านปรัชญา การเมือง เศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford)
"พริษฐ์" เป็นบุตรชายของ ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ และศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ซึ่งมารดาของไอติม ถือเป็นพี่สาวคนโตของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
ตระกูลเวชชาชีวะเป็นครอบครัวใหญ่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแพทย์ เพราะตาและยายของเขา คือ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต รมช.สาธารณสุข กับ ศ.พญ.สดใส เวชชาชีวะ
"ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ทำมาก่อนหน้านั้น ผมไม่เห็นด้วยก็คือ การมีส่วนร่วมของพรรคเกี่ยวกับการชุมนุม กปปส. โดยเฉพาะหลังที่มีการยุบสภาฯ ที่มีการเลือกตั้งแล้ว รวมถึงการตัดสินใจของพรรคในการบอยคอตการเลือกตั้งปี 2557"
"เสมือนไปรับรองว่าการกระทำที่ผ่านมาของคณะรัฐประหาร รวมถึงความพยายามหลังจากนั้นที่พยายามจะออกแบบกติการัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อให้ฝ่ายของตนเอง ได้เปรียบทางการเมือง มันกลายเป็นไปรับรองพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งมันขัดอุดมการณ์ความเชื่อของผม"
ตระกูลเวชชาชีวะ มีนักการเมือง 2คน คือ "อภิสิทธิ์" และ "สุรนันทน์" แต่ "พริษฐ์" ยืนยันว่า มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะทำงานการเมืองไม่เคยเอาเรื่องว่าตนเองมาจากไหนหรือว่ามาจากครอบครัวอะไร เป็นเหตุผลในการตัดสินใจใดๆ เลย
"ผมคิดว่าเราควรตัดสินใจและรับผิดชอบทุกการตัดสินใจบนพื้นฐานของสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประเทศ บนพื้นฐานสิ่งที่สอดคล้องอุดมการณ์ความคิดของเรา ทุกการตัดสินใจ ไม่เคยมีปัจจัยผมเป็นคนในครอบครัวไหนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเลย"
"พริษฐ์" ลาออกพรรคประชาธิปัตย์ทันทีหลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2562 บทบาทของเขานับจากนั้นเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาด้วยการร่วมกับกลุ่ม Resolution เพื่อผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ "รื้อระบอบประยุทธ์"
ทว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวประสบความล้มเหลว เพราะมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อปี 2564 ได้ตีตกในชั้นรับหลักการ
โฆษณา