Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Wild Chronicles
•
ติดตาม
17 ต.ค. 2024 เวลา 02:41 • ข่าวรอบโลก
เปิดนโยบายต่างประเทศ ว่าที่ผู้นำโลกเสรีคนถัดไป
“แฮร์ริสหรือทรัมป์ ใครจะชนะ?” เป็นคำถามที่จะได้รับคำตอบในอีกไม่เกินหนึ่งเดือนข้างหน้านี้ หลายคนอาจยังคิดว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปคงไม่ได้มีผลต่อชีวิตมากขนาดนั้น
แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามมาเป็นว่า “เมื่อสองคนนี้เป็นประธานาธิบดีแล้วจะส่งผลต่อโลกอย่างไร?” เชื่อว่าประเด็นนี้จะทำให้ต้องกลับมาให้ความสนใจกับประเด็นนี้กันสักหน่อย
สหรัฐเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารเป็นอันดับ 1 ของโลก บวกกับมี soft power และชาติพันธมิตรอีกไม่น้อย เวลาขยับตัวแต่ละครั้งก็สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
และในช่วงที่สถานการณ์โลกผันผวนตั้งแต่สงครามในยุโรปและตะวันออกกลางไปจนถึงความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ทำให้วิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งสองคนได้รับความสนใจอย่างมาก
ในโพสต์นี้เราจะมาดูนโยบายต่างประเทศของแฮร์ริสเทียบกับทรัมป์ในแต่ละประเด็น และแอบดูผลโพลช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งกันครับ
สำหรับตัวผู้สมัครทั้งสองคน ชาวเน็ตไทยมักจะสรุป (เอาเอง?) ว่าทรัมป์เป็นพวกพ่อค้า ทำทุกอย่างเพื่อกอบโกยกำไร ไม่สนใจชาติพันธมิตรและมีความเด็ดขาดจนชาติอื่นต้องสยบยอมมากกว่า
ส่วนแฮร์ริส (หรือก่อนหน้านี้คือไบเดน) เป็นพวกที่พร้อมเข้าไปช่วยเหลือพันธมิตรและยุ่งเกี่ยวกับกิจการชาติอื่นมากกว่า รวมทั้งเป็นพวกประนีประนอมจนอาจเข้าเนื้อสหรัฐเอง …แต่นี่เป็นการสรุปที่ถูกต้องมากน้อยเพียงใดนะ?
⚠️ *** นโยบายต่อยูเครน-รัสเซีย ***
.
“สงครามรัสเซีย-ยูเครน” เปิดฉากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 จนถึงขณะนี้สงครามก็มีอายุได้ 2 ปี 7 เดือนแล้ว ที่ผ่านมาสงครามนี้ถูกมองว่าเป็นสงครามที่สหรัฐจะได้ประโยชน์ในการบั่นทอนกำลังของรัสเซียโดยที่ตัวเองไม่ต้องเสียทหาร
อย่างไรก็ตามความเห็นของประชาชนในประเทศเริ่มเบื่อหน่ายสงครามแล้ว และมองว่าภาษีที่ไปช่วยเหลือยูเครนทำสงครามเป็นการละลายทิ้งเปล่าๆ ซึ่งจากสถิติของสถาบันวิจัยพิวพบว่าในเดือน เม.ย. 2024 มีชาวอเมริกัน 31% มองว่าตอนนี้สหรัฐช่วยเหลือยูเครนมากเกินไปแล้ว
🔵 ในมุมของแฮร์ริส เธอประกาศว่าจะสนับสนุนยูเครนต่อไปแม้ว่าจนถึงขณะนี้สหรัฐจะใช้งบประมาณไปกับยูเครนแล้ว 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เธอย้ำว่าการสนับสนุนนี้จะดำเนินต่อไปนานตราบเท่าที่จำเป็น และยูเครนจะเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเจรจาสันติภาพอย่างไรและเมื่อใด นับเป็นการสานต่อนโยบายจากยุคไบเดน …คือเรียกได้ว่าใจถึงพึ่งได้ ไม่เทแน่นอน
🔴 ส่วนในมุมของทรัมป์ ถึงแม้ว่าเขาจะคุยว่ารัสเซียจะไม่กล้าบุกยูเครนแน่หากเขายังเป็นประธานาธิบดี แต่เขาก็ไม่ยืนยันว่าจะสนับสนุนยูเครนต่อไป โดยยกว่าชาติยุโรปอื่นๆ ควรสนับสนุนยูเครนมากขึ้นแทน และยังบอกว่าจะเจรจากับปูตินเพื่อยุติสงครามด้วย ส่วน เจ.ดี. แวนซ์ คู่สมัครของทรัมป์ ถึงกับเปิดเผยออกมาว่าจะรีบผลักดันให้ยูเครนยอมยกดินแดนที่รัสเซียตีได้ไปและบังคับให้ต้องเป็นกลางจะไม่รับเข้านาโต้เด็ดขาด
ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกันยังได้ดึงเช็งร่างกฎหมายสำคัญในการจัดหางบสนับสนุนให้ยูเครน โดยสุดท้ายพรรคเดโมแครตจำต้องยอมประนีประนอมด้วยการเพิ่มเนื้อหาในส่วนงบดูแลความมั่นคงชายแดนทางทิศใต้เข้าไปด้วย รวมๆ กันจึงทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่าถ้าพรรครีพับลิกันมีอำนาจขึ้นมารอบนี้ อนาคตของยูเครนคงไม่สดใสแน่ๆ
⚠️ *** นโยบายต่อนาโต้และยุโรป ***
.
เมื่อกล่าวถึงประเด็นยูเครนแล้ว ประเด็นที่ตามมาคือ “นาโต้” ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารทรงอิทธิพลของโลกในปัจจุบันซึ่งมีบทบาทป้องกันการรุกรานจากโซเวียตในยุคสงครามเย็น และสหรัฐได้ใช้มาตรา 5 จากเหตุผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินก่อวินาศกรรม 9/11 เมื่อปี 2001
🔵 ช่วงหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลไบเดนได้ไฟเขียวให้นาโต้รับฟินแลนด์และสวีเดนเป็นสมาชิกเพิ่ม ส่วนแฮร์ริสเองก็ได้เน้นย้ำว่าสหรัฐจะยังคงรักษาความสัมพันธ์นี้ต่อไปอย่างเหนียวแน่น
🔴 ขณะที่ทรัมป์ได้เคยแสดงความไม่พอใจกับสมาชิกนาโต้บางประเทศ เพราะมีรายจ่ายทางทหารไม่ถึง 2% ของจีดีพีตามที่สนธิสัญญากำหนดไว้ ถึงกับพูดออกมาว่า “จะปล่อยไปตามยถากรรม” …อย่างไรก็ตามในปี 2023 รัฐสภาได้ออกกฎหมายว่าการออกจากนาโต้ต้องใช้เสียงโหวตจากสภา ประธานาธิบดีออกคำสั่งไม่ได้ออกมาแล้ว หรือสมาชิกนาโต้ได้ประชุมหารือกันเพื่อเตรียมการหากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เรียกได้ว่าเป็นการดักคอทรัมป์แต่เนิ่นๆ เลยทีเดียว
⚠️ *** นโยบายต่ออิสราเอล-ปาเลสไตน์ และตะวันออกกลาง ***
นับตั้งแต่เหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาสรุนแรงขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2023 สถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงถูกจับตามองเพราะอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่สร้างความเสียหายกว้างขึ้นชนิดคุมไม่อยู่ ที่ผ่านมาอิสราเอลเดินหน้ากวาดล้างฮามาสอย่างหนักจนประชาชนและพื้นที่ฉนวนกาซาได้รับผลกระทบอย่างมหาศาล ขณะที่พันธมิตรอีกหลายกลุ่มอย่างฮิซบุลเลาะห์ ฮูธีและอิหร่านได้มาร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย
🔵 สำหรับแฮร์ริสที่มีตำแหน่งในรัฐบาลไบเดน ที่ผ่านมารัฐบาลไบเดนยังคงมีจุดยืนสนับสนุนอิสราเอลทั้งให้การสนับสนุนด้านอาวุธและการแสดงแสนยานุภาพเพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐพร้อมอยู่ข้างอิสราเอลหากเกิดสงครามขึ้นจริง จนกลายเป็นกระทบต่อฐานเสียงของตัวเองบางส่วน
แต่จริงๆ แล้วการสนับสนุนนี้ก็ไม่ได้ไปสุดลิ่มทิ่มประตู โดยยืนยันว่าสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาสองรัฐ (two-state solution) คือให้มีรัฐอิสราเอลกับรัฐปาเลสไตน์คู่กันมาตลอด ในช่วงที่ผ่านมาไบเดนพยายามกดดันให้เนทันยาฮูยอมรับข้อตกลงหยุดยิงเพื่อช่วยเหลือตัวประกันชาวอิสราเอลที่ถูกจับตัวไปแลกกับสวัสดิภาพของพลเรือนในฉนวนกาซา ที่ผ่านมาเนทันยาฮูขัดแย้งกับไบเดนเพราะขีดเส้นว่าจะไม่ยอมจบสงครามจนกว่าจะปราบฮามาสได้ทั้งหมดและเดินหน้าถล่มฉนวนกาซาจนมีประชาชนเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ
ส่วนประเด็นอื่น แฮร์ริสประกาศว่าจะสนับสนุนให้อิสราเอลสานสัมพันธ์กับชาติอาหรับตามข้อตกลงอับราฮัมเพิ่ม การไม่สนับสนุนสงครามในเยเมนของซาอุดีอาระเบีย และพร้อมดึงอิหร่านกลับเข้าข้อตกลงนิวเคลียร์ในสมัยโอบามาที่ทรัมป์ถอนตัวออกไป
🔴 ทางฝ่ายทรัมป์มีนโยบายเกี่ยวกับตะวันออกกลางคือเป็นมิตรกับอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย แต่แข็งกร้าวกับอิหร่านมากกว่าแฮร์ริส ทรัมป์ไม่ได้ประกาศสนับสนุนแนวทางสองรัฐอย่างเปิดเผยแต่ยืนยันจะอยู่เคียงข้างอิสราเอลในฐานะพันธมิตร ในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดียังได้รับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล, รับรองที่สูงโกลันเป็นดินแดนของอิสราเอล, และร่างแผนเตรียมรับรองดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นของอิสราเอลเพิ่มอีกด้วย
สำหรับนโยบายต่อซาอุดีอาระเบีย ทรัมป์สนับสนุนการขายอาวุธให้กับประเทศแต่แลกกับปริมาณการผลิตน้ำมันให้ไม่สูงเกินไป เขายังมีความสัมพันธ์กับมกุฎราชกุมาร โมฮัมหมัด บิน ซัลมานที่ถูกโจมตีว่าเป็นเผด็จการและวีโต้กฎหมายห้ามสหรัฐสนับสนุนสงครามในเยเมน ส่วนประเด็นอื่นๆ เขาสนับสนุนการโดดเดี่ยวอิหร่านและตอบโต้กองกำลังของอิหร่านในภูมิภาคอย่างแข็งขัน รวมถึงคงทหารบางส่วนในซีเรียเพื่อเข้าถึงบ่อน้ำมัน
⚠️ *** นโยบายต่อจีนและไต้หวัน ***
การแข่งขันกับจีนเป็นประเด็นที่ผู้สมัครทั้งสองแข่งขันกันว่าใครจะตอบโต้จีนได้มากกว่ากัน แม้หลายคนจะปรามาสไบเดนว่าอาจต่อสู้กับจีนได้ไม่เท่ากับทรัมป์ แต่ในช่วงหลังสหรัฐก็มีกฎหมายต่อต้านจีนหลายเรื่อง ทั้งแบนติ๊กตอก ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ไปจนถึงการห้ามชาติต่างๆ ขายอุปกรณ์ไฮเทคให้กับจีน เรียกได้ว่าไม่มีพรรคไหนอยากให้จีนขึ้นมาเทียบชั้นอเมริกา
🔵 สำหรับแฮร์ริส ประเด็นที่เธอหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงจีนมักเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การบิดเบือนเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการอุดหนุนการส่งออกอย่างมโหฬาร ไปจนถึงอิทธิพลและความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นภัยความมั่นคงของสหรัฐ
ในรายละเอียดแฮร์ริสจะสนับสนุนการอุดหนุนอุตสาหกรรมบางอย่างที่มีความสำคัญต่อประเทศ เช่น ชิปคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนไต้หวันในการป้องกันประเทศ และเสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างสิทธิ์เป็นของตนตามเส้นเก้าขีด การเข็นโครงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศยากจนเพื่อแข่งกับโครงการเข็มขัดและเส้นทาง (BRI) รวมไปถึงการจับตาจีนจากกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียงและการปราบปรามประชาธิปไตยในฮ่องกง
🔴 ส่วนทรัมป์มุ่งประเด็นการแข่งขันกับจีนไปในเรื่องการเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การบิดเบือนค่าเงิน การอุดหนุนภาคการส่งออกและการสอดแนมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องการลดการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
ในรายละเอียดทรัมป์ต้องการแยกความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนในภาคอิเล็กโทรนิกส์ เหล็กกล้าและยา เตรียมลดการนำเข้าสินค้าสำคัญหลายรายการภายใน 4 ปีและจำกัดการลงทุนของจีนในประเทศ ขณะเดียวกันเขาเรียกร้องให้ขายอาวุธให้กับไต้หวันมากขึ้น แต่ระบุอีกว่าไต้หวันควรต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อให้สหรัฐเข้ามาคุ้มครองและบอกว่าขโมยธุรกิจชิปไปจากสหรัฐ
…จะเห็นได้ว่าทั้งสองต่างแข่งกันว่าจะใครจะเขี้ยวกับจีนได้มากกว่ากัน แต่โฟกัสของทั้งสองจะไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องค่านิยมและความสัมพันธ์กับพันธมิตร ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก
.
นโยบายที่ต่อต้านจีนนี้ทำให้ชาติเอเชียอื่นได้รับอานิสงส์จากการที่ธุรกิจตะวันตกย้ายฐานออกจากจีนมายังชาติอื่น เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทยเองก็เพิ่งมีประกาศจากบริษัทเทคโนโลยีที่เตรียมเข้ามาลงทุนเพิ่มด้วย
⚠️ *** นโยบายอื่นที่น่าสนใจ ***
มีการวิเคราะห์ว่าแฮร์ริสจะสานต่อนโยบาย nearshoring หรือการดึงธุรกิจให้กลับมาตั้งฐานใกล้ๆ กับอเมริกา โดยเฉพาะเม็กซิโก จนทำให้คู่ค้ารายใหญ่สุดของสหรัฐกลายเป็นเม็กซิโกแทนจีนไปแล้ว ส่วนทรัมป์จะสนับสนุนแนว reshoring หรือการดึงธุรกิจกลับเข้าสหรัฐโดยตรง นอกจากนี้ทรัมป์ยังขู่ขึ้นภาษีศุลกากรกับเม็กซิโกเพราะไม่พอใจเรื่องการจัดการคนเข้าเมืองด้วย
สำหรับนโยบายต่อเอเชีย-แปซิฟิก นักวิเคราะห์ยังจับตามองท่าทีด้านความมั่นคงของสหรัฐ เพราะเชื่อว่าผู้นำคนต่อไปจะมีข้อตกลงแบ่งกันรับภาระ (burden sharing) ไม่เหมือนกัน รวมถึงโอกาสการลงทุนจากสหรัฐที่อาจเพิ่มขึ้นในภูมิภาค แม้ว่าปัจจุบันฝ่ายการเมืองของสหรัฐยังไม่มีทีท่าว่าจะยอมเปิดตลาดให้สินค้าจากเอเชียเข้าไปตีตลาดในอเมริกาได้มากขึ้น
⚠️ *** ใครมาวิน? ***
และขอปิดท้ายด้วยการสำรวจโพลในสหรัฐว่าจะให้ใครเป็นตัวเต็งประธานาธฺิบดีสหรัฐคนถัดไปนะครับ สำหรับโพลระดับประเทศแทบทุกสำนักจะยกให้แฮร์ริสนำทรัมป์อยู่เล็กน้อยประมาณ 2-3% แต่จะดูโพลระดับประเทศอย่างเดียวไม่ได้เพราะจะผิดพลาดเหมือนกับฮิลลารีเมื่อปี 2016 ดังนั้นจึงต้องเช็กโพลแต่ละรัฐด้วย
สำหรับโพลแต่ละรัฐในต้นเดือน ต.ค. นี้ ระบุว่าแฮร์ริสมีความนิยมนำทรัมป์อยู่เล็กน้อย โดยประเมินคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งได้ 226 เสียงเทียบกับทรัมป์ 219 เสียง อย่างไรก็ตามยังมีคะแนนจากรัฐที่คะแนนสูสี (tossup) อีก 93 เสียง แปลว่าทั้งสองยังมีโอกาสลุ้นจนถึงวันเลือกตั้งว่าใครจะได้คะแนนส่วนนี้ครบ 270 เสียง
ส่วนโพลในการเลือกตั้ง สส. และ สว. นั้น ส่วนใหญ่ยกให้พรรครีพับลิกันได้เปรียบในการเลือกตั้ง สว. 🔴 ส่วนการเลือกตั้ง สส. ยังสูสี เชื่อว่าคะแนนจะไม่ขาดแบบเดียวกับผลการเลือกตั้งกลางสมัยปี 2022
…และทั้งหมดนี้คือสรุปนโยบายต่างประเทศของว่าที่ผู้นำโลกเสรีหรือประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่นั่นเอง นโยบายของใครโดนใจอย่างไร หรือมีอะไรตกหล่นไป มาแชร์กันได้นะครับ…
#TWCSummary #TWCUSA TWC_Cheeze
1 บันทึก
5
2
1
5
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย