18 ต.ค. เวลา 00:00 • สุขภาพ

ฟื้นฟูร่างกายคุณแม่มือใหม่ เมื่อไม่ได้อยู่ไฟหลังคลอด🩵👩🏻‍⚕️

การอยู่ไฟหลังคลอด เป็นวิธีฟื้นฟูสุขภาพสำหรับคุณแม่หลังคลอดของแพทย์แผนไทย ส่วนในทางการแพทย์แผนจีนจะเรียกการอยู่ไฟหลังคลอดว่า 坐月子 (จั้วเย่วจึ) แปลว่า การอยู่เดือน โดยอาการเจ็บป่วยหลังคลอดของผู้หญิงจะจัดอยู่ใน月子病 (เย่วจึปิ้ง) แปลว่า โรคหลังคลอดบุตร
แพทย์แผนจีนจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดอย่างมาก เพราะหลังคลอดคุณแม่จะสูญเสียพลังชีวิต (หยวนชี่) พลังหยาง (ความอบอุ่นในร่างกาย) เลือดและสารจำเป็นต่างๆ พร่องลง เส้นลมปราณชงเริ่น (มดลูก) เสียหาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เส้นลมปราณถูกปิดกั้น จึงเกิดเป็นอาการผิดปกติหลังคลอดต่างๆ และยังต้องให้นมลูกด้วย ถ้าไม่ดูแลและฟื้นฟูทันที เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะอ่อนแรงและมีอาการปวดกระดูกได้ง่าย
อาการที่พบบ่อยหลังคลอด ได้แก่ รู้สึกไม่สบายตัว หนาวง่าย ปวดท้องเรื้อรัง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เครียด วิตกกังวล หงุดหงิดโมโหง่าย ซึมเศร้าหลังคลอด เป็นต้น
ฟื้นฟูร่างกายคุณแม่มือใหม่...เมื่อไม่ได้อยู่ไฟหลังคลอดด้วยศาสตร์จีน
- ฝังเข็มปรับสมดุลลมปราณ ขจัดความติดขัดของลมปราณตับ ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น เพิ่มพลังชี่และการไหลเวียนเลือดทั่วทั้งร่างกาย
- รมยาเพิ่มพลังหยาง เพิ่มความอุ่นให้กับร่างกายคุณแม่ ขจัดความเย็นในร่างกาย ไม่ให้หนาวง่าย บรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดท้องเรื้อรัง ช่วยขับน้ำคาวปลาที่ค้างอยู่ออกมา
- ยาสมุนไพรจีน ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่สรรพคุณบำรุงม้ามเสริมสร้างเลือด เพิ่มพลังชี่ บำรุงไต เช่น 人参 (เหรินเซิน) 黄芪 (หวงฉี) 白术 (ไป่จู๋) 当归 (ตังกุย) 白芍 (ไป่เสา) ขับกระจายเสียชี่ ลมเย็นก่อโรค ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ลดการติดขัดของเลือดลม ช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น 桂枝 (กุ้ยจือ) 生姜 (เซิงเจียง) 大枣 (ต้าจ่าว)
และกลุ่มยาช่วยปรับสมดุลลมปราณตับ คลายความเครียด วิตกกังวลและช่วยให้นอนหลับได้ดี เช่น 柴胡 (ไฉ่หู) 枳壳 (จื่อเข่อ) 甘草 (กานเฉ่า) 酸枣仁 (ซวนจ่าวเหริน) เป็นต้น
นอกจากการบำบัดด้วยการแพทย์แผนจีนแล้ว คุณแม่ควรดูแลโภชนาการ การปรับอารมณ์ และการออกกำลังกายไปด้วย
โฆษณา