Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
17 ต.ค. 2024 เวลา 13:27 • ท่องเที่ยว
ยลวิถีริมคลองบางหลวง (2) ..พิพิธภัณฑ์บ้านคุณหลวงฤทธิ์ณรงค์รอน .. ย่านขุนนางที่คลองบางหลวง
“...คลองบางหลวงในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก ออกจะเป็นคลองบรรดาศักดิ์สักหน่อย ทั้งนี้เพราะตลอดสองฝั่งคลองมีบ้านใหญ่ บริเวณกว้างขวางสะอาด เป็นบ้านขุนนางข้าราชการหรือไม่ก็ผู้มีฐานะดี หลังบ้านมีสวนผลไม้ตั้งอยู่เป็นระยะๆ ไปตลอดจนออกแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านเล็กเรือนน้อยมีน้อยจนแทบไม่มีเลยก็ว่าได้...”
.. “กาญจนาคพันธุ์” ได้เคยเขียนถึงเอาไว้
คลองบางหลวง หรือที่บางคนเรียกว่าคลองบางกอกใหญ่ ก็คือลำคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงช่วงระหว่างป้อมวิไชยประสิทธิ์และวัดกัลยาณมิตร นั่นเอง
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในย่านคลองบางหลวงนี้มีดีอะไร เหตุใดบรรดาขุนนางจึงมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันมาก
คำตอบข้อหนึ่งที่ฉันรู้ก็คือ .. เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้มาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่กรุงธนบุรี พร้อมทั้งอพยพผู้คนมาด้วย ดังนั้นเหล่าบรรดาขุนนางที่ติดตามพระเจ้าตากสินมาก็มาสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้กับพระราชวังด้วย
ส่วนเหตุผลอีกข้อที่ “กาญจนาคพันธุ์” บอกไว้ในหนังสือ “เด็กคลองบางหลวง” .. ก็คือ ฝั่งธนบุรีนั้น เป็นพื้นที่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ กว่าฝั่งกรุงเทพฯ (ในยุคนั้น) ที่เป็นทะเลตม และที่ลุ่มต่ำ มีแต่ท้องทุ่ง เช่น ทุ่งพระเมรุ ทุ่งพญาไท ดังนั้น
ผู้คนที่มีฐานะจึงตั้งบ้านเรือนและสวนผลไม้ดีๆ อยู่ทางฝั่งธนบุรีกันหมด และแม้จะย้ายกรุงมาอยู่ทางฝั่งกรุงเทพฯแล้ว แต่เหล่าขุนนางและข้าราชการก็ยังคงตั้งรกรากอยู่ที่เดิม
ย้อนอดีตกลับไปเมื่อกว่า 140 ปีมาแล้ว บ้านพักอาศัยของคนมีฐานะดี มีตำแหน่งทางสังคมในเมืองหลวงไม่ได้อยู่ในย่านสาธร สุขุมวิท
ในยุคที่การคมนาคมทางน้ำยังเป็นสายหลักที่ผู้คนใช้สัญจรไปมาหาสู่กัน สถานที่สำคัญบ้านพักอาศัยของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และคหบดีจึงมักอยู่ติดแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะย่านฝั่งธนบุรีซึ่งมีชุมชนอยู่อาศัยทำมาหากินมาก่อนฝั่งกรุงเทพฯ
“ขุนวิจิตรมาตรา” เล่าไว้ในงานเขียนของท่านว่า ทางฝั่งธนบุรีที่ดินอุดมสมบูรณ์ มีสวนผลไม้นานาชนิด สองฝั่งคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่เป็นบ้านขุนนางและคหบดีตั้งอยู่เป็นระยะไปตลอดจนออกแม่น้ำเจ้าพระยา บรรพบุรุษคงจะอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนย้ายเมืองหลวงข้ามไปทางฝั่งตะวันออก
.. ตัวอย่างสถานที่สำคัญได้แก่ พระราชวังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งอยู่บริเวณปากคลอง ถัดเข้ามามีวังของ น.ม.ส. บ้านหมอบรัดเลย์ วังของหม่อมเจ้าตุ้ม บ้านขุนนางตำแหน่งพระยาหลายหลัง และบ้านที่จะนำมาเล่าในที่นี้ คือ "บ้านกัปตันเจ๊ก"
บ้านคุณหลวงฤทธิณรงค์รอน เดิมเป็นบ้านพักของหลวงฤทธิณรงค์รอน (เจ๊ก แสงมณี) ผู้บัญชาการกรมทหารราชบุรี
.. เมื่อครั้งรับราชการทหารท่านได้ร่วมเดินทางไปปราบฮ่อ เมื่อได้รับชัยชนะจึงได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอก และบรรดาศักดิ์เป็น หลวงฤทธิ์ณรงค์รอน ต่อมาได้ลาออกเพื่อประกอบอาชีพค้าขายและเป็นนายอากร
ในสมัยนั้นบ้านแบบยุโรปกำลังอยู่ในกระแสความนิยม “บ้านกัปตันเจ๊ก” หรือ “บ้านหลวงฤทธิณรงค์รอน” ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
บ้านคุณหลวงฤทธิณรงค์รอน .. เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล 2 ชั้นแบบยุโรป ในปีพ.ศ. 2466 ตรงกับสมัยรัชกาลที่6 โดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน และบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อ G. KLUZER&CO.
สภาพที่เห็นยังรักษารูปลักษณ์และวัสดุเดิมไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นส่วนหลังคาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องโมเนียเพราะหลังคาเดิมรั่ว ปัจจุบันอาคารหลังนี้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร
เสน่ห์ของอาคารหลังนี้อยู่ที่การออกแบบ ... แม้ว่ามองภาพรวมแล้วเป็นอาคารที่วางผังแบบค่อนข้างสมดุล คือมีห้องโถงกลางเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา ลูกเล่นในการออกแบบของสถาปนิกอยู่ที่ห้องด้านซ้ายและขวา
.. รอบตัวอาคารจะเห็น เส้นตรง เส้นโค้งและเส้นหยักของรูปทรงเรขาคณิตที่ต่อเชื่อมกันอย่างกลมกลืน
ถ้าเริ่มเดินชมโดยวนไปทางซ้ายมือด้านหน้าของฝั่งนี้ .. มีระเบียงเล็กๆ มีเสารับส่วนที่ยื่นออกมาด้านบน ด้านข้างของอาคารมีมุขหลายเหลี่ยมยื่นออกมา
ด้านหลังเป็นระเบียงเว้าเข้าตรงกลาง แล้วจึงเป็นวงโค้งเกือบกลมตรงอีกมุมหนึ่ง .. อีกด้านหนึ่งของอาคารมีมุขโค้งและเฉลียงเล็กๆบนชั้นสอง
เมื่อวนกลับมาด้านหน้าฝั่งขวาเป็นมุขหลายเหลี่ยม .. จะเห็นว่าแต่ละด้าน แต่ละมุมมีความงามที่แตกต่างกัน รูปร่างและรายละเอียดก็ไม่เหมือนกัน
เมื่อมองจากด้านหลังอาคารสวยไม่แพ้ด้านหน้า ความแตกต่างของรูปทรงเรขาคณิตที่สถาปนิกนำมาใช้ทำให้มองเพลิน
มีลวดลายปูนเป็นวงขดม้วนต่อเนื่องเป็นแถบคาดยาวล้อมรอบบริเวณส่วนกลางอาคารเหมือนผู้หญิงคาดเข็มขัดประดับที่เอว เป็นการตกแต่งอย่างพอเหมาะพอดี ไม่ฟุ่มเฟือย
การวางผังภายในอาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน .. โถงกลางด้านมีขนาดไม่ใหญ่นัก มีรูปปั้น รูปถ่ายและรูปเขียนคุณหลวงพร้อมรูปภรรยาทั้งสองตั้งอยู่
โคมระย้าโบราณห้อยจากเพดานที่ใช้ไม้ตีเป็นตาราง พื้นเป็นกระดานไม้สัก เช่นเดียวกับส่วนประกอบอื่นที่เป็นไม้ เช่น ประตู หน้าต่าง บันได ช่องลม ใช้ไม้สักทั้งหมด
ปีกด้านซ้ายแบ่งเป็น 2 ห้องเล็ก .. เคยเป็นห้องนอนของญาติเด็กๆที่นำมาเลี้ยง
ส่วนปีกขวาเป็นโถงยาวจากหน้าถึงหลังบ้าน .. เดิมเป็นห้องที่นิมนต์พระมาเทศน์ ปัจจุบันเป็นห้องซ้อมดนตรีไทยของนักเรียน
โถงทางขึ้นไปที่ชั้นสอง .. เส้นสาย ลายเส้น งดงามมาก
ด้านหลังห้องมีบันไดเวียนครึ่งวงกลมอยู่แนบติดกับผนังโค้งเป็นทางขึ้นสู่ชั้นสอง ...
บันไดนี้ความพิเศษอยู่ที่ไม่มีเสารับน้ำหนัก แต่ใช้วิธีถ่ายน้ำหนักไปสู่ผนัง แสดงถึงฝีมือของผู้ออกแบบก่อสร้าง
เหนือบันไดมีหน้าต่างและช่องกระจกสูงให้แสงและลมผ่านได้ ถ้ามองผ่านหน้าต่างจะเห็นหลังบ้านซึ่งในอดีตเป็นเรือนบริวาร
ชั้นบนแบ่งห้องไว้คล้ายกับชั้นล่าง
ห้องแรกเคยเป็นห้องนอนของภรรยาคนหนึ่ง .. ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องลายคราม ส่วนหนึ่งทายาทมอบให้ ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าอาวาสองค์ก่อนของวัดสังข์กระจายให้ยืมเพื่อจัดแสดง
ซึ่งกลุ่มนี้เป็นเครื่องลายครามที่คุณหลวงได้ถวายให้วัด และอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้บริจาคในชุมชน
ห้องติดกันเป็นห้องกลาง .. ห้องนี้เคยเป็นห้องนอนของคุณหลวง ผนังด้านซ้ายและขวาของห้องมีประตูด้านละสองบานเชื่อมห้องถึงกันหมด และทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี
ห้องอีกด้านหนึ่งแบ่งเป็นห้องเล็ก 2 ห้อง .. ด้านหน้าเป็นห้องของภรรยาอีกคนหนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานรูปพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานของรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 6 (ส่วนพระพักตร์ไม่ชัด)
ส่วนห้องเล็กด้านหลังจัดแสดงชุดไทยและศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีผู้บริจาค
ด้านหน้าห้องคุณหลวงเป็นระเบียงที่คุณหลวงชอบนั่งเล่น ...
ในอดีตถ้าไปยืนที่บริเวณนี้แล้วมองลงไปด้านล่างจะเห็นสนามรูปวงรีมีกระถางลายครามปลูกบัวล้อมรอบ ถัดออกไปเป็นศาลาท่าน้ำ
.. ระหว่างระเบียงกับห้องนอนคั่นด้วยประตูบานเฟี้ยมซึ่งเปิดได้กว้างรับลมที่พัดมาจากคลองผ่านเข้าไปในตัวบ้าน ระเบียงนี้ปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนปางประทานอภัย (หรือปางห้ามญาติ) สูงเกือบเท่าคนจริง ชื่อว่าพระพุทธมงคล
ฤทธิณรงค์รอนรังสรรค์ คุณหลวงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้คุณพริ้งภรรยาคนแรกที่เสียชีวิตไปก่อน .. พระพุทธรูปองค์นี้ผ่านการบูรณะโดยกรมศิลปากร มีสีทองอร่ามและเครื่องทรงงดงาม
ส่วนด้านหลังชั้นบนมีระเบียงจากบันไดต่อยาวไปทางอีกด้านหนึ่งของบ้านโดยไม่ต้องเดินผ่านห้อง
สุดระเบียงอีกด้านหนึ่งมีประตูกั้น หลังประตูเป็นบันไดเล็กสำหรับบริวารในบ้านใช้ขึ้นลง
คุณหลวงถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ.2487 เมื่ออายุ 80 ปี ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 8
เนื่องจากคุณหลวงไม่มีทายาทโดยตรง ภรรยาคนที่ 2 คือคุณยายแจ่ม (แจ่ม แสงมณี) ภรรยาจึงยกบ้านและที่ดิน ให้แก่กระทรวงศึกษาเพื่อจัดตั้งเป็นโรงเรียนในปี พ.ศ.2510 ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. 2533
บ้านหลังนี้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปีพ.ศ.2543 จุดเด่นอยู่ที่รูปแบบสถาปัตยกรรม พระพุทธรูปทรงเครื่อง
ส่วนเครื่องลายครามชิ้นที่เป็นของเก่ามีลวดลายน่าชมแต่มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนบอร์ดและคำอธิบายที่ติดไว้ภายในตัวบ้านน่าจะออกแบบให้ดูกลมกลืนกับตัวบ้าน
บันทึก
3
1
4
3
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย