18 ต.ค. เวลา 03:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand)
Business Model : FSMART
.
ปกติผมจะทำ Business model ของหุ้นแต่ละตัวที่ผมสนใจเสมอ แต่ไม่เคยไปแชร์ที่ไหนเลย จนล่าสุดคิดได้ว่า "ไหน ๆ เราก็ทำไว้แล้ว ทำไมไม่เอามาแชร์ล่ะ ?" เลยตัดสินใจเอามาแชร์ในบทความนี้... ไปดูกันเลยครับ !!!
.
เริ่มที่ตัวแรกกันเลย FSMART ผมเคยโพสเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้มาแล้ว แต่เป็นการพูดถึงเป็นจุด ๆ ยังไม่เคยเขียนถึง Business Model แบบจริงๆ จังๆ
.
FSMART เป็นหุ้นที่มี “2 จักรวาลคู่ขนาน”
  • 1.
    “จักรวาลตู้บุญเติม” ตู้ส้มที่วางอยู่ทั่วประเทศ มีบริการหลักๆ สองอย่าง อย่างแรกคือเติมเงินและจ่ายบิลทุกรูปแบบ อีกอย่างก็คือเป็น ATM ขนาดย่อม รับฝากเงินและโอนเงิน
  • 2.
    “จักรวาลตู้หุ่นยนต์ขายสินค้า” เช่นตู้เต่าบิน จริงๆ แล้วจักรวาลนี้ยังไปได้อีกไกล ตู้เต่าบินเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ตู้หุ่นยนต์นี้ทำงานได้เหมือนมีคนอยู่ข้างใน นั่นหมายความว่าเค้าจะขายอะไรก็ได้ ล่าสุดก็มีการขายไก่ทอด ขายข้าว และ รับเติมไฟฟ้าให้กับรถยนต์
.
บางคนอาจจะมองว่า ไปแยกมันเป็นสองจักรวาลทำไม มันก็ตู้ๆ เหมือนกันนั่นล่ะ ?
.
ในมุมของ Business Model สองอย่างนี้ต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยครับ!!!
.
ยังไง ? มาๆ ผมจะเล่าให้ฟังต่อ ตามมาเลยครับ
.
จักรวาล ตู้บุญเติม
.
ตู้บุญเติมมีรูปแบบเป็นธุรกิจ Platform โดยบุญเติมเป็นตัวกลางระหว่างคนที่อยากจ่ายบิล กับธุรกิจที่รับบริการ
.
บุญเติมเป็นธุรกิจที่มี Network effect ผู้ใช้บริการทั้งสองฝั่งจะได้รับประโยชน์มากขึ้น เมื่อมีผู้ใช้บริการมากขึ้น
.
แต่ปัญหาก็คือ Network effect นี้กำลังค่อยๆ อ่อนแรงลง เนื่องจากการมาของ Fin tech/App ที่ทำให้ผู้ใช้บริการเลิกใช้บุญเติม จุดสำคัญของธุรกิจนี้ก็คือ เราต้องมองให้ออกว่า คนจะเลิกใช้บริการไปจน “Network แตก” หรือมันแค่เล็กลงเฉยๆ แต่ยังคงมีคนบางกลุ่มใช้บริการอยู่
.
ถ้าใครมองว่าจะ “Network แตก” ก็ไม่ควรมาลงทุนหุ้น FSMART ครับ เพราะรายได้ปัจจุบันเกือบทั้งหมดของบริษัทยังมาจากตู้บุญเติมอยู่ แต่สำหรับผม ผมมองอีกแบบ ผมมองว่ามันจะเล็กลงแต่ไม่แตก เพราะผมยังมองเห็นคน 3 กลุ่มที่ยังใช้ตู้นี้อยู่
  • 1.
    คนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร… คนที่ไม่ค่อยได้ไปต่างจังหวัดหรือคลุกคลีกับคนรายได้น้อยอาจจะคิดว่า “ใครมันจะไม่มีบัญชีธนาคาร”... แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกเยอะนะครับ
  • 2.
    คนที่ไม่ชินกับการใช้ App และ ไม่อยากไปเรียนรู้ให้ยุ่งยาก… ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เข้าใจว่าการเรียนรู้สิ่งใหม่มันยากยังไง แต่ลองมองกลับไปที่คนรอบตัวเราที่เป็นรุ่น Gen X หรือ Baby boomer ดูจะพอเข้าใจครับ
  • 3.
    คนที่อยากใช้เงินสดหรือทำธุรกรรมขนาดเล็ก
.
Network ที่เล็กลงนี้ ต่อให้จะไม่แข็งแกร่งเหมือนเก่า แต่มันยังทำรายได้ได้ไม่น้อยนะครับ EBIT ประมาณ 400 ล้านบาท แถมยัง Leverage ลูกค้าที่อยู่ในระบบเพื่อทำกำไรได้เพิ่มอีกด้วย
.
อย่างล่าสุด ด้วยความที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อยู่ใน Network แถมยังรับเงินรายเดือนผ่าน App บุญเติมที่ผูกกับธนาคาร เลยทำการปล่อยกู้โดยตรงซะเลย ซึ่งทำกำไรได้ไม่น้อยครับ ใครสนใจ FSMART ผมแนะนำให้จับตาดูยอดปล่อยกุ้และหนี้เสียให้ดีครับ
.
จักรวาล ตู้หุ่นยนต์ขายสินค้า
.
ตู้เต่าบินเป็นธุรกิจแบบ Pipeline B2C หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เหมือนร้านขายกาแฟทั่วไปนี่ล่ะครับ แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ เต่าบินพยายาม Disturb Pain point 4 ข้อ ของธุรกิจแบบดั้งเดิม
  • 1.
    จำนวนสาขาจำกัดด้วยพื้นที่และพนักงาน ขนาด Cafe Amazon ยังมีเพียง 4000 สาขาทั่วประเทศเท่านั้น
  • 2.
    ค่าใช้จ่ายต่อสาขาสูง ทั้งค่าสถานที่และค่าพนักงาน
  • 3.
    ไม่สามารถขายได้ 24/7 เพราะไม่คุ้มค่าคนงาน
  • 4.
    รสมือไม่นิ่ง ไปสาขาไหนรสชาติไม่เคยเหมือนกัน
.
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไม่ลืมว่า ในมุมของลูกค้า ตู้เต่าบินก็ไม่ต่างจากร้านกาแฟทั่วไป ที่ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์เรื่อง ความคุ้มค่า ความหลากหลาย และแบรนด์ที่ไปนั่งในใจผู้บริโภคได้ ก็จะไม่สามารสร้างกำไรได้
.
เพราะฉะนั้น Competitive Power (บางคนอาจจะเรียกว่า 7 Power ตามชื่อหนังสือ) เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้… ไปดู Competitive power ของทั้ง 2 จักรวาลกันเลยครับ
.
จักรวาล ตู้บุญเติม
.
เรื่อง Economy of scale สำหรับตลาดนี้ ต้องถือว่าตู้บุญเติมเป็นผู้นำด้วยจำนวนตู้ที่มากที่สุดในตลาดถึง 130,000 ตู้ แถมปัจจุบันตู้ส่วนใหญ่ยังใช้ได้ทั้งๆ ที่ตัดค่าเสื่อมหมดไปแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง
.
ประเด็นนี้สำคัญครับ เพราะจะเป็นตัวค้ำไม่ให้กำไรลดลงได้ในอนาคต ถึงแม้จำนวนผู้ใช้บริการจะลดลงไปอีกบ้างก็ตาม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าผู้ใช้บริการลดลง แต่ลดลงไม่เกิน 10% บุญเติมจะยังคงทำกำไรได้ในระดับเดิม
.
ยอดผู้ใช้บริการของตู้บุญเติมตามกราฟ ใช่ครับ!!! ผมไม่ได้ลงตัวเลขผิด… ตู้ส้มๆ ที่คนเข้าใจว่าไม่มีคนใช้แล้ว มียอดใช้บริการกว่า 8,000 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือ 32,000 ล้านบาทต่อปี!!!
.
ยอดส่วนใหญ่เป็นยอดเติมเงินและชำระบิล (สีน้ำเงิน) ซึ่งไม่ได้ลดลงมา 3 ปีแล้ว ในขณะที่ยอดส่วนน้อยคือยอดโอนเงิน (สีเขียว) ซึ่งอยู่ในแทรนขาลงแต่เริ่มนิ่งๆ ใน 4 ไตรมาสล่าสุด… ถ้าให้มองแทรนในอนาคต ผมคิดว่ายอดรวมไม่น่าลดลงเยอะแล้ว อย่างมากไม่น่าเกิน 10% ซึ่งเมื่อหักกับค่าใช้จ่ายที่ลดลง กำไรของบุญเติมน่าจะทรงๆ
.
แต่ส่วนที่จะทำให้กำไรมากขึ้นคือการปล่อยกู้ครับ ปัจจุบันยอดปล่อยกู้ผ่าน อสม. ซัดไป 518 ล้าน โดยเป็นการปล่อยให้ อสม. รายละไม่เกิน 10,000 บาท
.
ใครคิดว่าจำนวน อสม. มีไม่กี่คน จะปล่อยได้กี่บาทกันเชียว… ไม่ใช่นะครับ!!! อสม. ทั้งประเทศมีกว่า 1,000,0000 คน และมีรายได้ 2,000 บาทต่อเดือน (เพิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้น พวกเค้าได้ 1,000 บาทต่อเดือน)
.
เป้าหมายของบุญเติมคือปล่อยกู้คนละ 10,000 บาท จำนวน 200,000 คน ซึ่งถ้าทำได้ จะทำยอดปล่อยกู้ได้ 2,000 ล้านบาท ถ้ายอดหนี้เสียไม่เยอะเกินไป น่าจะทำ EBIT ได้ซัก 300 ล้านบาท, +75% เมื่อเทียบกับกำไรปัจจุบันของ FSMART !!!
.
โดยสรุป จักรวาลตู้บุญเติม ถือเป็นฐานที่มั่นคงของ FSMART และยังมีโอกาสในการเติบโตผ่าน network ที่มี เช่น การปล่อยกู้ ที่บุญเติมกำลังพยายามทำอยู่
.
จักรวาล ตู้หุ่นยนต์ขายสินค้า
.
จักรวาลนี้มีโอกาสอีกไกล แต่ก็ยังต้องพิสูจน์อีกเยอะ เปรียบดั่งเป็นหุ้น Growth ตัวหนึ่งเลย สิ่งที่เต่าบินต้องทำให้ได้ก็คือ
  • 1.
    Scale จำนวนตู้ให้ได้ถึง 20,000 ตู้ โดยที่ยอดขายต่อตู้ไม่ตกลง ถ้าทำได้เต่าบินจะมี Scale เพียงพอที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อแก้วต่ำมากได้ และสามารถเอาไปผลิตสินค้าที่สร้างความคุ้มค่าและความหลากหลายได้ในที่สุด
  • 2.
    สร้าง Brand ที่เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคได้ ไม่ต้องถึงขนาดให้ลูกค้าเดินหาตู้เต่าบิน แต่อย่างน้อย ถ้าหิวน้ำอยู่แล้วเดินเจอตู้เต่าบิน ต้องอยากหยุดซื้อ
.
เมื่อดูจากจำนวนตู้ในปัจจุบัน ถือว่าไม่แย่ มากกว่าจำนวนสาขาของ Cafe Amazon ไปแล้ว แต่ยังห่างไกลจากเป้าหมาย 20,000 ตู้มาก ต้องรอดูกันต่อไป
.
เมื่อดูจากยอดขายที่ทำได้ถือว่าไม่น้อย ปีละ 2,000 ล้านบาท แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้า 10,000 ล้านบาท (4% Market share) อยู่หลายช่วงตัวครับ และที่น่ากังวลคือ 3 ไตรมาสล่าสุดรายได้ลดลง ทั้งๆ ที่จำนวนตู้มีเท่าเดิม นั่นคือ SSSG กำลังลดลง เราต้องจับตาดูว่า แทรนนี้จะเป็นแค่ชั่วคราวที่ลดตามตลาด หรือลดลงอย่างถาวร
.
โดยสรุป จักรวาลตู้หุ่นยนต์ขายสินค้า ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกเยอะ แต่ถ้าทำสำเร็จ EBIT ของ FSMART จะสามารถโตได้อีกเกือบ 100% ใครสนใจลงทุนใน FSMART ผมแนะนำให้ติดตามการเติบโตของจักรวาลนี้อย่างใกล้ชิดครับ
.
อย่างไรก็ตาม FSMART ไม่ได้มีแต่โอกาสครับ ความเสี่ยงก็ไม่น้อย นั่นเป็นสาเหตุให้หุ้น FSMART จมอยู่แถมราคา 5 บาทในปัจจุบัน แถมยังมีนักลงทุนหลายคน “เข็ด” และ “ติดดอย” จากการลงทุนใน FSMART จนไม่อยากยุ่งกับหุ้นตัวนี้อีก
.
.
.
จริงๆ ใน Business model ที่ผมวิเคราะห์จะจบด้วยการวิเคราะห์ผู้บริหารและ Valuation แต่ผมคิดว่ามันค่อนข้าง Sensitive และ ผมควรให้แค่ข้อมูลแต่ไม่ชี้นำราคา เลยขอข้ามไปนะครับ
.
.
.
อ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าคุณคงเข้าใจ Business model ของ FSMART มากขึ้น รวมไปถึงเข้าใจทั้งความเสี่ยงและโอกาสเป็นอย่างดี คราวนี้มันก็อยู่ที่คุณแล้วครับ ว่าคุณจะลงทุนใน FSMART หรือเปล่า ? คุณมองว่าโอกาสที่พูดถึงน่าสนใจมั้ย ? คุณมองว่าความเสี่ยงที่มีจะทำให้กำไรบริษัทหายไปจนปันผลไม่ได้หรือเปล่า ?
.
ผมก็ยังไม่มีคำตอบครับ อนาคตเท่านั้นที่จะตอบเราได้ ในฐานะนักลงทุน เราได้แต่เลือกลงทุนในอนาคตที่เราเชื่อมั่น และคอยติดตามความเปลี่ยนแปลง…
.
.
.
ใครชอบหรือไม่ชอบ บทความ Business Model แบบนี้ คอมเม้นมาบอกหน่อยนะครับ ผมจะได้รู้ว่า ผมควรเอา Model แบบนี้มาลงอีกหรือเปล่า
.
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณนะครับ
#Salarymanติดปีก #มาลงทุนหุ้นแข็งแกร่งกันครับ
▃▃▃▃▃▃▃▃
หากคุณเป็นนักลงทุน ที่ทำควบคู่งานประจำ หรือชอบเนื้อหาของ Salaryman ติดปีก
ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเรา
และจะได้ไม่พลาดเนื้อหาใหม่ๆ ของเรา ด้วยนะครับ
▃▃▃▃▃▃▃▃
โฆษณา