18 ต.ค. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

SCB EIC มอง กนง.มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งไตรมาส 1/68

SCB EIC ประเมินหลัง กนง.เริ่มลดดอกเบี้ย มีแนวโน้มลดอีกครั้งไปอยู่ที่ 2% ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 แต่ขึ้นอยู่กับภาวะการเงินเป็นหลัก
ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง "ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย" 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% โดย 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.50% เนื่องจาก กนง.เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงนี้ไม่ได้ฉุดรั้งกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ ท่ามกลางภาวะสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และเป็นระดับที่ไม่ได้กระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ
สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC วิเคราะห์ว่าการสื่อสารของ กนง.ไม่ได้ Dovish ลงจากการประชุมครั้งก่อนมากนัก เพราะยังให้ความสำคัญกับเสถียรภาพระบบการเงิน การรักษา Policy space ของนโยบายการเงิน และมุมมองอัตราดอกเบี้ยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการสะสมความเสี่ยงในระยะยาว
นนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส SCB EIC
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน กนง.ยังมองภาพใกล้เคียงเดิม โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.7%YOY และ 2.9%YOY ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ใกล้เคียงประมาณการในการประชุมเดือนมิถุนายนที่ 2.6%YOY และ 3.0%YOY ตามลำดับ เงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.5% และ 1.2% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ลดลงจากประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายนที่ 0.6% และ 1.3% เล็กน้อย
ส่วนภาวะการเงินตึงตัวขึ้นตามการแข็งค่าของเงินบาท ปริมาณสินเชื่อโดยรวมเติบโตชะลอลง โดยกลุ่มธุรกิจ SMEs เผชิญภาวะสินเชื่อหดตัวสูงขึ้น ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลงต่อเนื่อง โดย กนง.จะติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อตลาดสินเชื่อและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
IMPLICATIONS
SCB EIC มอง กนง.จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาวะการเงินเป็นหลัก โดยการปรับลดครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงิน ท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อทยอยปรับด้อยลง ป้องกันความเสี่ยงภาวะการเงินตึงตัว ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป
กนง.มองว่าอัตราดอกเบี้ยควรมีบทบาทในกระบวนการ Debt deleveraging ไม่ควรต่ำเกินไปจนกระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะกระทบเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว ทำให้จังหวะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นหลัก
SCB EIC ประเมินว่าจะเห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งภายในไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม โดยภาพเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความน่ากังวลของสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง
มาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง
สถานการณ์สินเชื่อ
นอกจากความกังวลของ กนง.เกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจ SMEs แล้ว การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม จากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินซึ่งจะยังมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น สอดคล้องกับคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ปรับด้อยลงอย่างต่อเนื่อง
ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย
ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะปรับสูงขึ้นตามความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออกสินค้าไทยได้ แม้ปัจจุบันการส่งออกจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง
คุณภาพสินเชื่อครัวเรือนปรับด้อยลง
ภาวะการเงินโลก
จะผ่อนคลายลงต่อเนื่อง ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก สภาพแวดล้อมทางการเงินโลกจะเอื้อต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากขึ้น
SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งไปอยู่ที่ 2% ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า
นักวิเคราะห์ มอง แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยในรอบ 4 ปี ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นแน่นอน
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ Chief Commercial Oficer บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยมุมมองหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี เหลือ 2.25% ต่อปี ซึ่งถือเป็นการลดดอกเบี้ยในรอบ 4 ปีของแบงก์ชาติ โดยมองว่า การที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย
ประกอบกับ เรื่องการเมือง เริ่มเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เช่น การแจกเงิน 10,000 บาท และคาดว่า จะมีมาตรการอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม ดังนั้น นักวิเคราะห์ ได้เริ่มมีการปรับขึ้นประมาณการกำไร รวมถึงราคาหุ้นเป้าหมายแล้ว
ดังนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้นักลงทุนไทย และถือเป็นโอกาสของการปรับพอร์ตในการกระจายเงินลงทุนของนักลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น และเชื่อว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยช่วงสิ้นปีนี้ ก็มีโอกาสปรับประมาณการเป้าหมายเพิ่ม จากเป้าเดิมที่ระดับ 1,550 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดหุ้นไทย ก่อนหน้านี้ ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ เพราะดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ตอนนี้มีการปรับเป็นดอกเบี้ยขาลงแล้ว ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งนี้ เชื่อว่า จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยดีขึ้น
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/monetary/234820
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา