19 ต.ค. 2024 เวลา 11:05 • ประวัติศาสตร์

การ “เผาตำรา” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้น นักเขียนและบัณฑิตหลายคนถูกสังหารเนื่องจากต้องการนำความจริงมาเปิดเผย หรือเสนอแนวคิดใหม่ๆ หากแต่ไปขัดกับผู้มีอำนาจหรือภาครัฐ
2
มีคำกล่าวที่ว่า “ปากกาคมกว่ามีด” ก็น่าจะเป็นเรื่องจริง
1
และผู้ที่น่าจะเห็นด้วยมากที่สุดกับคำกล่าวนี้ ก็เห็นจะเป็น “จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang)” จักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิจีน
2
“จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang)” เป็นผู้ที่รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น และทำให้แผ่นดินจีนทั้งหมดสยบอยู่ใต้รัฐบาลเดียว กลายเป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่บางคนเรียกว่าเป็น “รัฐสมัยใหม่แห่งแรก”
1
จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang)
ในยุคสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้มีการสั่งเผาตำราและฝังบัณฑิตทั้งเป็น
1
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
แต่ก่อนเราจะมาลงลึกถึงเรื่องราวการเผาตำราครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เราควรต้องรู้ก่อนว่าในประวัติศาสตร์นั้น ก็เคยมีเหตุการณ์ที่ห้องสมุดขนาดใหญ่เคยถูกเผาทำลายมาก่อนแล้ว
ถ้าให้ยกตัวอย่าง เมื่อคราว “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)” บุกเข้ายึดครองเมืองเปอร์เซโปลิส ก็ปรากฎว่ามีทหารชาวกรีกที่เมาสุรา ได้ทำการเผาห้องสมุดในเมือง
2
อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ห้องสมุดในอัสซีเรีย ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกยุคโบราณ ก็ได้ถูกทำลายเมื่อกองทัพศัตรูบุกเข้ารุกรานเมือง
2
แต่ในเคสเหล่านี้ เหตุที่ห้องสมุดถูกทำลายนั้น ไม่ใช่จุดประสงค์เพื่อที่จะทำลายองค์ความรู้ หากแต่ห้องสมุดได้รับความเสียหายจากเหตุไม่คาดฝันหรือผลจากสงคราม
1
แต่สาเหตุที่จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงมีรับสั่งให้เผาตำราและฝังบัณฑิตทั้งเป็น จุดประสงค์ก็เพื่อกำจัดแนวคิดใดก็ตามที่จะเป็นภัยต่อชาติและราชสำนัก ดังนั้นหากจะกล่าวว่านี่คือการเผาตำราครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็อาจจะไม่ผิดนัก
1
ในยุค 500-200 ปีก่อนคริสตกาล แผนดินจีนคือดินแดนที่เป็นแหล่งกำเนิดหลักปรัชญาต่างๆ
นักประวัติศาสตร์เรียกสำนักปรัชญาต่างๆ ว่า “ร้อยสำนักความคิด (Hundred Schools of Thought)“ โดยมีสำนักปรัชญาหลากหลาย เช่น ลัทธิขงจื๊อ นิตินิยม และลัทธิเต๋า เป็นต้น
1
สำนักปรัชญาแต่ละแห่งก็มีมุมมองและแนวคิดที่ต่างกันออกไป ผู้ปกครองแต่ละดินแดนในจีนก็ได้จ้างเหล่าบัณฑิตมาช่วยในการบริหารราชการแผ่นดิน
เหล่านักปรัชญาล้วนมีอิทธิพลต่อทั้งเชื้อพระวงศ์และประชาชนทั่วไป โดยนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ได้จัดให้ยุคของร้อยสำนักความคิด เป็น “ยุคทองของปรัชญาในจีน”
1
แต่ทุกอย่างต้องมีจุดจบ เช่นเดียวกับยุคทองของปรัชญาในจีน
เมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล จิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งในเวลานั้นเป็นอ๋องแห่งแคว้นฉิน ได้รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นและแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งรัฐบาลที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง
แต่การก่อตั้งระบบบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพก็ไม่ใช่แค่เพียงเป้าหมายเดียวของจิ๋นซีฮ่องเต้เท่านั้น แต่พระองค์ยังทอดพระเนตรร้อยสำนักความคิดด้วยความไม่ไว้วางพระทัย
พระองค์ทรงคิดว่าควรจะมีสำนักปรัชญาเพียงแห่งเดียว ที่เหลือนั้นล้วนเป็นภัยคุกคามต่อทั้งราชอาณาจักรและอำนาจของพระองค์
พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าความสงบสุขทางการเมืองของแผ่นดินจะคงอยู่ได้หากรัฐบาลเข้าควบคุมแนวคิดทางปรัชญา และสำหรับแผ่นดินของพระองค์ นั่นคือ “นิตินิยม”
เหตุใดแนวคิดนี้จึงต้องพระทัยของจิ๋นซีฮ่องเต้?
“ฮันเฟย (Han Fei)” นักปรัชญาในยุคฉิน เป็นผู้บัญญัติหลักการของนิตินิยม ซึ่งอันที่จริงนั้น หลักนิตินิยมนั้นมีมานานแล้ว หากแต่เป็นฮันเฟยที่รวบรวมหลักการต่างๆ เป็นตำรา
หลักนิตินิยมเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามกับหลักขงจื๊อ โดยหลักขงจื๊อ มองว่ามนุษย์นั้นมีความเมตตา ในขณะที่หลักนิตินิยม มองว่ามนุษย์นั้นมีความเห็นแก่ตัว และต้องปกครองโดยกฎหมายที่เข้มงวด
1
หลักขงจื๊อยังมองว่าขุนนางที่หลักแหลมควรจะเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน และกษัตริย์ก็ควรจะต้องเชื่อฟังเหล่าขุนนาง ในขณะที่หลักนิตินิยมมองว่าอำนาจที่ไม่มีขีดจำกัดควรเป็นของกษัตริย์ ขุนนางมีหน้าที่เพียงเชื่อฟังและทำตามรับสั่งของกษัตริย์ และผู้ปกครองก็ควรจะลงโทษผู้กระทำผิดตามสมควรเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
1
ฮันเฟย (Han Fei)
จะเห็นได้ว่าแนวคิดแบบขงจื๊อกับแนวคิดแบบนิตินิยมนั้นตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงปรารถนาที่จะให้อำนาจการบริหารนั้นรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง และมีระบอบกฎหมายที่เป็นมาตรฐาน มีบทลงโทษและรางวัลไว้ชัดเจน
ดังนั้นหลักนิตินิยมจึงเป็นแนวคิดที่ถูกพระทัยของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง หากแต่แนวคิดนี้กลับเป็นหายนะของเหล่าบัณฑิต
1
213 ปีก่อนคริสตกาล จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงมีรับสั่งให้เผาตำราทั้งหมดที่ต้องสงสัยและขัดต่อหลักการบริหารของราชอาณาจักร
2
พระราชกฤษฎีกาของพระองค์ สั่งให้เผาทำลายตำราบทกวีและประวัติศาสตร์หลายเล่ม และตำราที่มาจากร้อยสำนักความคิดก็จะต้องถูกส่งมอบแก่ทางการ ซึ่งพระองค์ก็จะมีรับสั่งให้นำไปเผาทำลาย
หากผู้ใดขัดขืน ไม่ยอมส่งมอบตำราเหล่านี้ ก็จะมีโทษถึงประหารชีวิต หรือหากเป็นโทษสถานเบา ก็คือถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานสร้างกำแพงเมืองจีน
และรับสั่งขององค์จักรพรรดิก็ไม่ใช่ว่าจะบังคับใช้กับประชาชนอย่างเดียว หากแต่เหล่าขุนนางเองก็ด้วย หากใครครอบครองตำราเหล่านั้น หรือพบเห็นตำราต้องห้ามและไม่นำมาส่งให้ทางการ ก็จะมีความผิดเช่นกัน
1
ที่ถูกทำลายมากที่สุดคือตำราประวัติศาสตร์ โดยผู้ที่นำความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นำมาวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามถึงการบริหารราชการในปัจจุบัน มีโทษประหารทั้งโคตร
2
แต่ตำราบางส่วนก็ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องถูกเผาทำลาย ได้แก่ ตำราเกี่ยวกับการเกษตร ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ และตำราวนศาสตร์
1
หากแต่การเผาทำลายตำรายังไม่สาแก่พระทัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ ในปีต่อมา พระองค์ทรงมีรับสั่งให้นำตัวบัณฑิตจำนวน 460 คนไปฝังทั้งเป็น โดยบัณฑิตเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับหลักปรัชญาของราชอาณาจักร
1
หรือนี่คือตัวอย่างเผด็จการที่เหล่าเผด็จการและทรราชย์ในยุคหลังใช้เป็นต้นแบบ?
แต่ถึงอย่างนั้น เหตุการณ์เลวร้ายนี้ก็มีผู้ตั้งคำถามเช่นกัน มีการศึกษาว่ามีการเผาตำราและฝังทั้งเป็นเหล่าบัณฑิตจริงหรือไม่ หากแต่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากก็เชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง
จิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคตเมื่อ 210 ปีก่อนคริสตกาล โดยก่อนสวรรคต พระองค์ทรงพยายามจะหาหนทางที่จะทำให้ชีวิตเป็นอมตะ หากแต่ความพยายามของพระองค์ไม่สำเร็จ
2
แน่นอนว่าจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นจักรพรรดิที่ทรงพระปรีชา หากแต่เหตุการณ์การเผาตำราและฝังบัณฑิตทั้งเป็นก็เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ดำมืดที่สุดช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์
1
และจากความรุนแรงที่กระทำต่อเหล่าบัณฑิตหรือนักเขียนในอดีต ตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้มาจนถึงยุคปัจจุบัน ก็คงจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า คำกล่าวที่ว่า “ปากกาคมกว่ามีด“ นั้นเป็นเรื่องจริง
4
โฆษณา