Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
18 ต.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กดปุ่ม 20 บาทตลอดสาย “คมนาคม-คลัง” ผ่างบ 3 แสนล. ปลุกกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้า
ถอดสูตรรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย “คมนาคม-คลัง” ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 แสนล้าน ซื้อสัมปทานคืน-ลุยเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเข้าเมือง 40-50 บาท เปิดโอกาสประชาชนระดมทุน หนุนค่าโดยสาร คาดสารพัดสี ได้ใช้ภายในเดือน ก.ย.68 ด้าน “บีทีเอส” แนะทุกฝ่ายควรได้รับความยุติธรรม
2
รถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายหนึ่ง ในนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินหน้าผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
2
หลังนำร่องไปแล้ว 2 เส้นทาง ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หลังจากรัฐใช้เม็ดเงินลงทุนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ครอบคลุมพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมุ่งหวังให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้ระบบรางมากขึ้น
ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการดึงคนเข้าใช้รถไฟฟ้า 1. ต้องลงทุนโครงข่ายให้เชื่อมต่อกัน และมีระบบฟีดเดอร์รองรับ 2.มีพื้นที่จอดรถยนต์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าเพียงพอ
1
3. มีจำนวนขบวนรถไฟฟ้าเพียงพอให้บริการรวดเร็วทันเวลา 4.ราคาเข้าถึงได้ 5.มีมาตรการเข้มงวดทางภาษีอย่างจริงจังฯลฯ
กดปุ่มเดินหน้า20บาทตลอดสาย
อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ต้องใช้งบประมาณซื้อคืนสัมปทานรวมถึงค่าจ้างเดินรถซ่อมบำรุง คือตัวแปรสำคัญ ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบให้ กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินการ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ลดมลพิษ
ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับ สร้างความคุ้มค่าทาง การเงิน และประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้โดยเร็ว หลังนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ใน2 เส้นทาง คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ได้รับความนิยม
1
จากข้อมูลของ กรมการขนส่งทางราง พบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จำนวน 87,633 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าสายสีแดง จำนวน 42,678 คน-เที่ยว สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา(นิวไฮ) หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
1
นอกจากนี้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ยังระบุอีกว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 51.15% และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เพิ่มขึ้น 17.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกัน ปริมาณผู้โดยสารยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งกรมฯพร้อมดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เบื้องต้นเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ต่ออายุมาตรการที่จะครบในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจะต้องรอแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ชุดใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนมาตรการฯนี้จะหมดอายุ
4
กระแสซื้อคืนรถไฟฟ้า กดหุ้นร่วง
ขณะปมร้อนกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ ในหัวข้อ Vision for Thailand ในงาน Nation TV Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567
โดยมีประเด็นหนึ่งได้พูดถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายรวมด้วย พร้อมระบุว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เคยพูดไปแล้ว ต้องทำให้ได้ โดยอาจจะต้องเวนคืนรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหารกลับมาเป็นของภาครัฐแล้วจ้างเอกชนบริหาร แต่ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดค่าตั๋วเอง
กลายเป็นกระแสร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมาเมื่อนายสุริยะ ขานรับวิสัยทัศน์ของนายทักษิณทันที โดยประกาศว่าจะมีการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าทุกสายคืนจากเอกชนเพื่อให้สอดรับกับการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
ซึ่งส่งผลต่อราคาหุ้น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM วันที่ 23 ส.ค.2567 ณ เวลา 12.40 น. ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 7.75 บาท ลดลง 0.15 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 1.90% ระหว่างเปิดทำการซื้อขายในช่วงเช้าราคาปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 7.80 บาท
ก่อนที่จะย่อตัวลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 7.10 บาท โดยที่ปิดตลาดก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 7.90 บาท มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 542.69 ล้านบาท
ส่วนราคาหุ้น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS วันที่ 23 ส.ค.2567 ณ เวลา 12.40 น. ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 4.20 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 0.47%
ปรับแผนร่วมทุน PPP Gross Cost
ส่งผลให้นายสุริยะได้มีการชี้แจงถึงการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาลถึงแนวคิดดังกล่าว ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลายๆประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน
1
กระทรวงคมนาคมยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ยึดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชนผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยจะยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้กับเอกชนเป็นหลัก
แต่ยังเป็นเพียงแนวคิดที่รัฐบาลอาจจะพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อคืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิ์ในการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา
ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลยังคงยืนกรานที่จะจ้างเอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถต่อไป โดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์
ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า รัฐไม่ได้ไปยึดสัมปทาน อาจจะมีการตีความผิด เพราะถ้าพูดแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกับรัฐอีกในอนาคต
1
สำหรับแนวทางการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม ต่อเรื่องนี้
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ออกมายืนยันว่า นโยบาย20บาทตลอดสายสามารถทำได้จริง เหมือนกับประเทศอื่นทั่วโลก ที่ผ่านมาได้ศึกษามาก่อนหน้านี้
2
อัด 3 แสนล้าน ซื้อสัมปทานคืน
ขณะความชัดเจน เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาเรื่องแหล่งเงินทุน โดยให้ทั้ง 2 กระทรวง คำนึงถึงเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่าทางการเงิน รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินด้วยว่าจะจัดการและชี้แจงได้อย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ให้เร็วที่สุด
โดยนายสุริยะ ยังคงย้ำอีกว่านโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ได้ตั้งเป้าเปิดให้บริการทุกเส้นทาง แก่ประชาชนสามารถใช้งานได้ภายในเดือนกันยายน 2568 เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมทั้ง 2 แนวทาง
แนวทางแรก คือ การซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนกลับมาเป็นของภาครัฐ ซึ่งมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
ตั้ง 2 กองทุนรถติด-ตั๋วร่วม/กำหนดโซน
ทั้งนี้แนวทางแรกจะใช้รูปแบบการลงทุนจาก PPP Net Cost เป็น PPP Gross Cost โดยกองทุนนี้มีระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ใน 5ปีแรก ซึ่งดำเนินการจัดเก็บในอัตรา 40-50 บาท
หลังจากนั้นจะเพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมทุกๆ 5 ปี คาดว่าผลการศึกษาจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด(Congestion Charge) เช่น รัชดาภิเษก, สุขุมวิท , สยามพารากอน, สีลม เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ปัจจุบันมีรถใช้บริการกว่า 700,000 คันต่อวัน
โดยกระทรวงการคลังจะต้องศึกษาข้อกฎหมายมารองรับ อีกทั้งต้องขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการจัดค่าธรรมเนียมในส่วนนี้
หากการตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนนั้นมีข้อมูลที่ชัดเจนถึงรายได้ในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนด
ขณะเดียวกันกองทุนนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมระดมทุนได้ เชื่อว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจด้วย ส่วน
1
แนวทางที่ 2 กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ สนข.ดำเนินการเร่งรัดจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วม คาดว่าจะใช้งบประมาณชดเชย 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติระบบตั๋วร่วม พ.ศ ..... อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คาดว่าจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาะที่ 2 ภายในเดือนธันวาคมนี้
ขณะที่การนำรายได้ของรฟม.จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ปัจจุบันมีรายได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี ตลอดจนนำกองทุนอนุรักษ์พลังงานจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ มาช่วยอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อรองรับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
1
นอกจากนี้หากผลการศึกษาการตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้ายังไม่แล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมจะนำแนวทางที่ 2 มาดำเนินการแทนเพื่อให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทันตามแผนที่ตั้งเป้าไว้ภายในเดือนกันยายน 2568
ฟากกระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เล่าถึงการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลต่อการกำหนดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายนั้น
กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะร่วมกันศึกษาแนวทาง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งจะต้องมาดูรายละเอียด ทั้งการวางข้อสมมติฐาน การประเมิน หาผู้สนใจ และการออกกฎหมาย เรื่องเหล่านี้มีระยะเวลาในการดำเนินการ โดยตั้งเป้าใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท
ขณะที่เม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนั้น แน่นอนว่า จะไม่ได้นำมาจากงบประมาณ แต่จะมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนของผู้ลงทุนจากการซื้อหน่วยลงทุนและส่วนของผู้ให้กู้ยืม ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ ผลตอบแทนจะไม่เท่ากัน
ดังนั้น กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะต้องศึกษาเรื่องนี้ด้วย ทุกสายทุกสี ให้บริการ ก.ย.68 สำหรับรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ประกอบด้วย
รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หลัก) ช่วงหมอชิต-อ่อนนุชและช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน (เปลี่ยนสัญญาจ้างเดินรถปี 2585)ระยะทาง 23.5 กม.มูลค่า 50,000 ล้านบาท สิ้นสุดปี 2572 ผู้รับสัมปทาน BTS
สายสีเขียวส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคตและแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 32 กม. มูลค่า 27,673 ล้านบาท สิ้นสุดปี 2585 ผู้รับสัมปทาน BTS
สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อระยะทาง 20 กม. มูลค่า 115,812 ล้านบาท สิ้นสุดปี 2592 ผู้รับสัมปทาน BEMสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. มูลค่า 81,887 ล้านบาท สิ้นสุดปี 2592 ผู้รับสัมปทาน BEM
สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.50 กม. มูลค่า 51,381 ล้านบาท สิ้นสุดปี2595 ผู้รับสัมปทาน NBM (BTS STEC RATCH) สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. มูลค่า 48,424 ล้านบาทสิ้นสุดปี2595 ผู้รับสัมปทาน EBM (BTS STEC RATCH)
สายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. มูลค่า 140,000 ล้านบาทสิ้นสุดปี 2597 ผู้รับสัมปทาน BEM
บีทีเอส ลั่นผู้โดยสารได้ประโยชน์
ด้านเอกชน โดยนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีเหลืองและสายสีชมพู เล่าว่าเพิ่งได้ยินเรื่องนี้ไม่นาน ซึ่งต้องลงในรายละเอียด
หากทำแล้วทุกฝ่ายได้ประโยชน์ก็ควรช่วยๆ กัน ทั้งการคิดวิธีการทำให้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมและเป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร
สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าทุกสายจะมีผลใช้ในเดือนกันยายนปีหน้าโดยระยะแรกจะเกี่ยวข้องกับเงินอุดหนุนที่ภาครัฐจะให้กับผู้ประกอบการ ผ่านกฎหมายมาตรฐานระบบบัตรโดยสารร่วม เพื่อบังคับให้ผู้ประกอบการนำโครงการค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายมาใช้ มองว่าเอกชนผู้รับสัมปทาน จะได้รับประโยชน์
27 บันทึก
31
9
38
27
31
9
38
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย