18 ต.ค. เวลา 08:00 • การตลาด

Media Talk: ส่องไฮไลท์ FORESIGHT STUDY on FUTURES OF CONTENT CREATORS in 2035, THAILAND

Tellscore จับมือ FutureTales LAB by MQDC ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอนาคตของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในไทยในอีก 10 ข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไรทั้งในแง่มุมของสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และคุณค่า
โดย Media Talk จะนำเสนอไฮไลท์ของข้อมูลและคำถามเบื้องต้นจากส่วนหนึ่งของรายงาน FORESIGHT STUDY on FUTURES OF CONTENT CREATORS in 2035, THAILAND ในงาน THAILAND INFLUENCER AWARDS ที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอนาคตของวงการอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ก่อนที่รายงานฉบับนี้จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะมีอะไรบ้างนั้น ตามอ่านกันได้เลย
โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมสื่อคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์
คอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์นับเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยังคงเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของนิยาม เนื่องจากนิยามของ “สื่อคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์” ในบริบทของสื่อมวลชนยังไม่ชัดเจน การกำหนดนิยามที่ชัดเจนและสร้างกลไกเชื่อมโยงกับสื่อมวลชน รวมถึงการกำกับดูแล เพื่อคุ้มครองครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์คุณภาพ จะช่วยให้บทบาทของสื่อใหม่นี้ มีความชัดเจนมากขึ้น
รายงานฉบับนี้ได้ศึกษาในแง่มุมทางสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และคุณค่า ดังนี้
แง่มุมทางสังคม
The Impact of Creator Knowledge Sharing on Educational Institutions จะเป็นเรื่องราวของการแชร์ความรู้และข้อมูลในวงการวิชาการและการศึกษาผ่านผู้ผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น วิดีโอการสอน สารคดี และบทความดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลให้การเข้าถึงความรู้เป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในสถาบันการศึกษา แต่ยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติสามารถเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สร้างความรู้ได้
Digital Well-being for Audiences and Creators หรือนิยามของสุขภาวะดิจิทัลของมนุษย์ที่กำลังหาสมดุลระหว่าง “ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและการทำงาน” กับ “การลดเวลาหน้าจอ” ทั้งนี้ ข้อมูลในปี 2567 พบว่า 70% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้โซเชียลมีเดียต่อสุขภาพจิต ในขณะที่คนไทยใช้เวลาในหน้าจอเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 58 นาทีต่อวัน
New Subculture via Niche Content หรือการเติบโตของโซเชียลมีเดียเฉพาะทาง เช่น Reddit, Discord, Roblox ทำให้กลุ่มคนที่มีแนวคิด พฤติกรรม และงานอดิเรกคล้ายกันมารวมตัวกัน จนขยายเป็นชุมชนย่อยทางวัฒนธรรมและความเชื่อ โดยข้อมูลในปี 2567 พบว่า 88% ของ Gen Z ทั่วโลกเชื่อว่า การมีอยู่ของกลุ่มสังคมย่อยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อชีวิตของตนเองเป็นอย่างยิ่ง
User-Generated Content Dominance หรือคอนเทนต์ที่ผลิตโดยผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย เช่น รีวิว บทความ และวิดีโอ ไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการมากกว่าคอนเทนต์จากแบรนด์ถึง 21% แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มคอนเทนต์แบบเปิด ซึ่งทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลมากขึ้นในโลกดิจิทัล ในปี 2567 การตลาดออนไลน์กว่า 62% พึ่งพาคอนเทนต์จากผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย
Combating Disinformation and Fake News หรือการต่อสู้กับการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และข่าวปลอม ซึ่งมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์ในสังคมดิจิทัลที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลผิดเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจจากผู้ชม ผลสำรวจในปี 2567 พบว่า 64% ของผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ทั่วโลกได้รับข่าวปลอมอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
Human-AI Interactions in Building Intimacy & The Role of Content ปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI จากผู้ช่วยสู่การเป็นเพื่อน ครู หรือคนในครอบครัว การเปลี่ยนแปลงนี้จะนิยามความใกล้ชิดใหม่ โดยคอนเทนต์จะมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์กับ AI นวัตกรรมด้านภาษาและคอนเทนต์เฉพาะบุคคลจะเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างปฏิสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งขึ้น
แง่มุมทางด้านเทคโนโลยี
AI in Content Creation เทคโนโลยี AI ที่ใช้สร้างคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ เช่น รูปภาพ วิดีโอ หรือดนตรีทำให้กระบวนการสร้างคอนเทนต์เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในช่วงปี 2565-2566 ทั่วโลกมีผลิตภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ไปแล้วมากกว่า 1.5 หมื่นล้านภาพ ทั้งนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์ ความโปร่งใสในการระบุว่า คอนเทนต์ผลิตโดย AI และจรรยาบรรณด้าน AI เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมโลกที่ยั่งยืน
แง่มุมด้านเศรษฐกิจ
Influencer and Creator Marketing การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจและการสื่อสารกับผู้บริโภค ข้อมูลปี 2567 พบว่า มูลค่าของการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ทั่วโลกแตะ 9 ล้านล้านบาท และ 69% ของแบรนด์ยังคงเพิ่มงบการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
Blockchain for content distribution หรือการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการจัดเก็บ เผยแพร่ และควบคุมลิขสิทธิ์คอนเทนต์ โดยการแปลงคอนเทนต์ให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสร้างความโปร่งใส ความปลอดภัย กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในวงการสื่อ โฆษณา และอุตสาหกรรมบันเทิง
แง่มุมด้านสิ่งแวดล้อม
Sustainable and Carbon Neutral Content Creation หรือการผลิตคอนเทนต์ที่ยั่งยืน ประหยัดพลังงาน และเป็นกลางทางคาร์บอน กลายเป็นประเด็นสำคัญที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องคำนึงถึง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งจากการใช้ซีพียู คอมพิวเตอร์ ระบบคลาวด์ การตัดต่อ หรือการใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากการผลิตคอนเทนต์ดิจิทัลในปัจจุบันมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 2.1%-3.9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
แง่มุมด้านการเมือง
Government Regulation of Content ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ให้เป็นวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านภาษีหรือสวัสดิการ รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานและกลไกที่เหมาะสมสำหรับการกำกับดูแลสื่อครีเอเตอร์ นอกจากนี้ การออกกฎหมายพ.ร.บ. คุ้มครองสื่อครีเอเตอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญในยุคที่สื่อดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ
Changing Social Media Algorithms & Policies แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใช้อัลกอริทึมเพื่อทำให้ผู้ใช้อยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น โดยการดันคอนเทนต์ที่อิงหลักจิตวิทยามนุษย์ เช่น ความขบขัน ความอยากรู้อยากเห็น ความกลัว และความเกลียดชัง ส่งผลให้เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับอัลกอริทึมของแต่ละแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านจริยธรรมในการนำเสนอคอนเทนต์ต่อผู้ชมกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม
แง่มุมด้านคุณค่า
Personal Data and Content Privacy หรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูลหรือคอนเทนต์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ผู้บริโภค และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องรับผิดชอบร่วมกัน
กล่าวคือ ครีเอเตอร์ควรใช้งานข้อมูลอย่างถูกต้องและให้ความรู้แก่ผู้ชม ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ควรตระหนักถึงการปกป้องข้อมูลส่วนตัว และสนับสนุนครีเอเตอร์ที่มีจริยธรรม ส่วนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียควรมีความโปร่งใสและปกป้องข้อมูลของทั้งครีเอเตอร์และผู้บริโภค ข้อมูลจาก Privacy International เผยว่า 80% ของครีเอเตอร์รู้สึกว่าถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวจากการที่แพลตฟอร์มนำข้อมูลไปใช้เชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต
Authenticity and Transparency in Content Monetization ผู้บริโภคต้องการให้ครีเอเตอร์ที่สร้างรายได้จากการผลิตคอนเทนต์นั้นแสดงความโปร่งใสในเรื่องแหล่งที่มาของข้อมูลและกระบวนการผลิตคอนเทนต์มากขึ้น เช่น การใช้ AI ในการสร้างคอนเทนต์ หรือการแจ้งให้ทราบหากมีการสนับสนุนจากแบรนด์ ซึ่งจะไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภค แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบและจริยธรรมของครีเอเตอร์อีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
โฆษณา