คิดบวก

“เมนต์บวก” เป็นประโยคสั้นๆที่ทาง “โครงการรณรงค์สร้างพฤติกรรมร่วมเชิงบวกในการใช้สื่อสังคมออนไลน์” ใช้เป็นประโยคหลักในการรณรงค์ให้คนในโลกออนไลน์มีพฤติกรรมการแสดงความคิดเห็นไปในเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าในเชิงทำร้าย ทำลาย กลั่นแกล้งกัน
“เมนต์บวก” ที่ไม่ได้เท่ากับว่าเป็นการชมการอย่างเดียว แต่เมนต์บวกนั้นจะเป็นคำติก็ได้ เป็นการติเพื่อก่อ เป็นการติด้วยเหตุผลและประโยคที่ที่สุภาพ ผ่านการไตร่ตรองฉุกคิดมาแล้ว
“เมนต์บวก” จึงเท่ากับการสร้างความฉุกคิด ให้นึกถึงคำนี้ก่อนที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นอะไรในโลกออนไลน์ คำรณรงค์สั้นๆแต่มีประสิทธิภาพนี้เกิดขึ้นจากที่ “คุณรัฐพล ศักดิ์ดามพ์นุสนธิ์” หัวหน้าโครงการรณรงค์สร้างพฤติกรรมร่วมเชิงบวกในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีข้อสังเกตกับโลกออนไลน์ในปัจจุบันว่า “มีแต่ความคิดจะบวก แต่ขาดความคิดบวกอย่างมาก”
ซึ่งคิดจะบวกเป็นความรุนแรงแบบหนึ่งที่พบกันได้เสมอในโลกออนไลน์ เป็นพฤติกรรมการตอบโต้ไปมาระหว่าง “ผู้เมนต์” กับ “ผู้ถูกเมนต์” จนบางครั้งผู้ถูกเมนต์ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ถูกเรียกว่า “ทัวร์ลง” กันทีเดียว
คำหยาบ คำเสียดสี คำล้อเลียน หรือกระทั่งคำขู่ นับเป็นพฤติกรรมการสื่อสารของคนกลุ่มใหญ่ไม่น้อยในโลกออนไลน์ การเป็นเป้าความรุนแรงจากคอมเมนต์พร้อมบวกที่โดนกับตัวเองในฐานะคนผลิตคอนเทนท์ออนไลน์หลายช่องของทางคุณรัฐพล ก็เป็นส่วนหนึ่งในการคิดอ่านทำโครงการรณรงค์นี้ขึ้นมา
“อินฟลูเอนเซอร์” หลายคนในรายการที่มักเป็นเป้านิ่งจากคอมเมนท์เชิงลบกระหน่ำเข้าใส่ อินฟลูเอนเซอร์หลายคนถึงกับท้อแท้จิตตกกันไปหลายวัน เมื่อพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการสื่อสารเชิงลบด้วย พวกเขาจึงยินดีให้ความร่วมมือต่อการรณรงค์ในครั้งนี้อย่างเต็มที่ ในบางรายการที่ได้เอาอินฟลูเอนเซอร์มารวมกันหลายคน และให้แต่ละคนหยิบสลากที่มีข้อความเชิงลบ จากนั้นให้อ่านและช่วยกันแสดงความรู้สึกจากการได้รับรู้ข้อความเชิงลบ และให้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยแสดงท่าทีของพฤติกรรมเชิงบวกต่อข้อความเชิงลบนี้
เมื่อถามว่าพฤติกรรมการสื่อสารเชิงลบนี้ เป็นการสื่อสารของคนกลุ่มใหญ่หรือไม่ ทางหัวหน้าโครงการฯยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่สร้างปัญหาใหญ่มากกว่า เพราะถ้านับจากสถิติคนเข้ามาดูรายการของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในช่วงที่ทำโครงการรณรงค์สร้างพฤติกรรมร่วมเชิงบวกฯนี้ มีคนดูรวมกันทุกรายการมากถึง 14ล้านวิว และในช่วงเวลานั้นแทบไม่มีคอมเมนต์ลบๆแสดงตัวออกมาเลย อย่างน้อยก็แสดงได้ว่าคนส่วนใหญ่นั้นสนับสนุนการเมนต์บวกมากกว่าเมนต์ลบอย่างเห็นได้ชัด และเชื่อได้ว่าหลายคนอยากอยู่ในโลกออนไลน์ที่ไม่เป็นพิษเสียมากกว่า
โฆษณา