21 ต.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ต้องมีรายได้เท่าไร ถึงควรเริ่มสนใจ กองทุนลดหย่อนภาษี ?

ช่วงเวลาปลายปีแบบนี้ นอกจากเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่ทุกคนรอคอยแล้ว
ยังมีเทศกาลวางแผนภาษีประจำปี ที่คนมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี ต้องปวดหัวกับการมองหากองทุนลดหย่อนภาษีในทุก ๆ ปี
อย่างไรก็ตาม การจะซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ก็ต้องใช้เงินทุนพอสมควร เพื่อที่จะลดหย่อนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้หลาย ๆ คนก็น่าจะมีคำถามว่า
เราควรเริ่มสนใจกองทุนลดหย่อนภาษีเมื่อไร ? และกองทุนลดหย่อนภาษีแบบไหนเหมาะกับเรามากที่สุด ?
ถ้าหากสงสัยว่า ต้องมีรายได้เท่าไร เราถึงจะต้องสนใจกองทุนลดหย่อนภาษี
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
มาเริ่มกันที่คำถามแรก ที่หลายคนสงสัยว่า เราควรเริ่มสนใจกองทุนลดหย่อนภาษีเมื่อไรนั้น อันที่จริงแล้ว จะดูเพียงแค่รายได้ของเราอย่างเดียวไม่ได้
เพราะแต่ละคนก็มีสิทธิลดหย่อนภาษีแตกต่างกัน บางคนรายได้สูง แต่มีสิทธิลดหย่อนภาษีได้มากมาย ก็อาจเสียภาษีน้อยกว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า แต่มีสิทธิลดหย่อนภาษีน้อย
ดังนั้นสิ่งแรกที่เราควรพิจารณาว่าเมื่อไรควรซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี ก็คือ รายได้ของเรา หักลบด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ เหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าไร
โดยถ้าหากคำนวณแล้ว ได้เป็นเงินได้สุทธิประมาณ 500,001 ถึง 750,000 บาท ซึ่งทำให้เราต้องเริ่มจ่ายภาษีในอัตราประมาณ 15% ถึงตรงนี้ก็อาจต้องเริ่มมองหากองทุนลดหย่อนภาษีกันแล้ว
เพราะถ้ายิ่งฐานภาษีเราสูง มูลค่าภาษีที่เราสามารถลดหย่อนได้ ก็จะยิ่งมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่เราลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี
เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่าง 2 กรณี
กรณีแรก
คุณสมชาย มีเงินเดือน 70,000 บาท โบนัสอีก 3 เดือน มีค่าลดหย่อนดังนี้
- ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 9,000 บาท
- ค่าประกันสุขภาพ 25,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา 60,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4% ของรายได้ คือ 33,600 บาท
- ค่าประกันชีวิต 20,000 บาท
2
และจากสูตรคำนวณที่ว่า
เงินได้สุทธิ = รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
ก็จะทำให้เราคำนวณหาเงินได้สุทธิของคุณสมชายได้ตามนี้
1
เงินได้สุทธิ = 1,050,000 - 100,000 - 207,600 = 742,400 บาท
จากเงินได้สุทธิข้างต้น จะพบว่าคุณสมชายอยู่ในขั้นเงินได้สุทธิที่ 4 ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้อยู่ที่ 15% และถ้าคุณสมชายไม่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี จะทำให้คุณสมชายต้องจ่ายภาษีอยู่ที่
ภาษี = [(742,400 - 500,000) x 0.15] + 27,500 = 63,860 บาท
แต่ถ้าคุณสมชายนำเงินไปซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีประมาณ 200,000 บาท จะทำให้เงินได้สุทธิที่จะต้องไปคำนวณภาษีเหลือแค่ 542,400 บาท
และทำให้คุณสมชายเหลือภาษีที่ต้องจ่ายแค่
ภาษี = [(542,400 - 500,000) x 0.15] + 27,500 = 33,860 บาท
จะเห็นได้ว่า ภาษีที่ประหยัดไปได้ 30,000 บาท จากการซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี คิดเป็น 15% ของยอดเงิน 200,000 บาท ที่คุณสมชายใช้ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี
6
แปลว่าต่อให้กองทุนที่คุณสมชายซื้อไม่ได้ให้ผลตอบแทนอะไรกลับมาเลย แต่ถ้าเรามองเงินภาษีที่ประหยัดได้เป็นกำไร ก็ต้องบอกว่า 15% นี้คือกำไรที่คุณสมชายจะได้รับทันที
กรณีที่ 2
คุณสมหญิง มีเงินเดือน 50,000 บาท โบนัส 3 เดือนเท่ากัน มีค่าลดหย่อนเหมือนกัน ต่างกันแค่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคุณสมหญิงอยู่ที่ 24,000 บาท
ทำให้เงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีของคุณสมหญิง จะอยู่ที่
เงินได้สุทธิ = 750,000 - 100,000 - 198,000 = 452,000 บาท
1
จากเงินได้สุทธิข้างต้น จะพบว่าคุณสมหญิงอยู่ในขั้นเงินได้สุทธิที่ 3 ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้อยู่ที่ 10% และถ้าคุณสมหญิงไม่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี จะทำให้คุณสมหญิงต้องจ่ายภาษีอยู่ที่
ภาษี = [(452,000 - 300,000) x 0.10] + 7,500 = 22,700 บาท
แต่ถ้าคุณสมหญิงนำเงินไปซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีประมาณ 200,000 บาท จะทำให้คุณสมหญิงเหลือเงินได้สุทธิที่จะต้องนำไปคำนวณภาษีแค่ 252,000 บาท
และทำให้คุณสมหญิงมีภาษีที่ต้องจ่ายแค่
ภาษี = (252,000 - 150,000) x 0.05 = 5,100 บาท
โดยภาษีที่ประหยัดไปได้ 17,600 บาท คิดเป็นเพียง 8.8% ของยอดเงิน 200,000 บาท ที่คุณสมหญิงใช้ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีเท่านั้น
จากตัวอย่างทั้ง 2 จะเห็นได้ว่า ยิ่งเรามีเงินได้สุทธิสูงเท่าไร การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีก็ยิ่งคุ้มค่าเท่านั้น
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่อยู่ในเกณฑ์ฐานภาษีต่ำ จะไม่ควรซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี
เพราะหากเราเป็นคนที่ลงทุนในกองทุนรวมอยู่แล้ว การเลือกซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีก็อาจจะตอบโจทย์เรา เพราะทั้งได้ลงทุน และประหยัดภาษีไปในตัวด้วย
คำถามต่อมาคือ กองทุนลดหย่อนภาษีก็มีหลายประเภท ทั้งกองทุน SSF, RMF และล่าสุดก็มีกองทุน ThaiESG
แล้วเราควรเลือกซื้อกองทุนแบบไหนดี ?
ถ้าเราเป็นคนที่อายุยังน้อย การซื้อกองทุน ThaiESG และกองทุน SSF จะดีกว่าการเลือกซื้อกองทุน RMF
เพราะว่ากองทุน ThaiESG ต้องถือลงทุนเพียง 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ ส่วนกองทุน SSF ต้องถือลงทุน 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
ขณะที่กองทุน RMF ต้องถือตลอดจนถึงอายุ 55 ปี และต้องถือจนครบ 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ
หมายความว่า ถ้าเราซื้อกองทุน RMF ตอนอายุ 54 ปี เราจะสามารถขายกองทุน RMF ได้ ตอนอายุ 59 ปี เพราะต้องถือให้ครบ 5 ปี
แถมกองทุน RMF ยังมีข้อบังคับให้เราซื้อทุกปีอีกด้วย หรือเว้นได้ปีต่อปีเท่านั้น ขณะที่กองทุน SSF และ ThaiESG ไม่บังคับให้เราซื้อทุกปี
แต่ก็ต้องระวังเอาไว้ด้วยว่า กองทุน SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทเท่านั้น และไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี
และเมื่อรวมกับกองทุนลดหย่อนอื่น ๆ ยกเว้นสิทธิลดหย่อนของกองทุน ThaiESG ก็ลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท
ส่วนกองทุน ThaiESG ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
ดังนั้นแล้ว กองทุน RMF จึงเหมาะกับผู้ที่มีอายุมากแล้ว เพราะถ้าเราอายุยังน้อย การเลือกลงทุนใน ThaiESG หรือ SSF ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
นอกจากนี้ การที่กองทุน ThaiESG และ SSF มีระยะเวลาถือครองที่ไม่นานนัก ทำให้เมื่อถึงเวลาครบกำหนดที่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้
เราก็สามารถนำเงินที่ขายคืน มาซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่อีกรอบ วนไปเรื่อย ๆ ก็ได้เช่นกัน..
#วางแผนการเงิน
#TaxFest2024
#ภาษีนี้มีแต่ได้
โฆษณา