21 ต.ค. เวลา 03:00 • การตลาด

สรุป อินฟลูเอนเซอร์ 5 ระดับ ตามยอดผู้ติดตาม พร้อมไอเดียการตลาด ใช้แต่ละระดับ ให้ทรงพลัง

อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) มีรากศัพท์มาจากคำว่า Influence ที่แปลว่า อิทธิพล
คำว่า “อินฟลูเอนเซอร์” จึงหมายถึง บุคคลที่มีอิทธิพลหรือสามารถชักจูงใจผู้อื่นได้
อินฟลูเอนเซอร์ นับเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงการตลาดและการโฆษณา
เพราะพวกเขาเหล่านี้คือบุคคลที่สามารถโน้มน้าวใจให้ผู้อื่นคล้อยตามได้ จากชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมา
ตัวอย่างบุคคลที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็เช่น ดารา นักแสดง ศิลปิน นักร้อง หรือผู้มีชื่อเสียงในวงการต่าง ๆ
แต่รู้หรือไม่ว่า อินฟลูเอนเซอร์ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงในวงกว้างระดับประเทศก็ได้
แล้วอินฟลูเอนเซอร์ แบ่งออกได้เป็นกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง ? เราไปดูพร้อมกัน
จริง ๆ แล้ว การแบ่งประเภทอินฟลูเอนเซอร์มีด้วยกันหลายวิธี แล้วแต่ว่าจะใช้วิธีไหนในการแบ่งประเภท
ตัวอย่างเช่น
- แบ่งตามรูปแบบและแนวทางการทำคอนเทนต์ เช่น อินฟลูเอนเซอร์สายรีวิว อินฟลูเอนเซอร์สายบันเทิง
- แบ่งตามรูปแบบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ไลฟ์สไตล์ ความงาม ท่องเที่ยว
หรืออีกวิธีที่เป็นที่นิยมสำหรับนักการตลาดก็คือ การแบ่งอินฟลูเอนเซอร์ตามจำนวนผู้ติดตาม
การแบ่งตามวิธีนี้เป็นที่นิยม เนื่องจากเข้าใจง่าย เหมาะสมสำหรับการวางแผนการตลาด
และยังทำให้เห็นถึงความสามารถในการเข้าถึงผู้ติดตามได้อีกด้วย
ซึ่งการแบ่งอินฟลูเอนเซอร์ตามจำนวนผู้ติดตาม สามารถแบ่งออกได้ 5 ระดับ ดังนี้
1. Nano Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 - 10,000 Followers
ส่วนใหญ่แล้ว อินฟลูเอนเซอร์ระดับนี้ ไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง แต่มักจะเป็นคนที่เป็นที่รู้จักดีของคนกลุ่มหนึ่ง จากความสามารถพิเศษเฉพาะตัว หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นจำนวนมาก
เช่น เป็นประธานนักเรียนของรุ่น เป็นเชียร์ลีดเดอร์ หรือแม้แต่คนที่พูดเก่ง มีเพื่อนเยอะ ๆ ก็สามารถมีผู้ติดตามมากกว่า 1,000 คน และกลายเป็น Nano Influencer ได้เช่นกัน
ซึ่งข้อดีของอินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้ก็คือ มีความใกล้ชิดกับผู้ติดตามสูงมาก เพราะผู้ติดตามส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัวของอินฟลูเอนเซอร์เอง
และยังทำให้คอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์ประเภทนี้ มีความเรียล มีความเป็นกันเองกับผู้ติดตาม จึงทำให้ผู้ติดตามเชื่อใจและคล้อยตามกับคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์ค่อนข้างมาก
Nano Influencer จึงเหมาะกับแบรนด์ขนาดใหญ่ที่ต้องการทำการตลาดแบบเจาะเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market ที่เป็นตลาดแบบคนใกล้ตัวอินฟลูเอนเซอร์
หรือแบรนด์ที่ต้องการเริ่มทดลองทำ Influencer Marketing และแบรนด์ขนาดเล็กที่มีงบประมาณจ้างอินฟลูเอนเซอร์จำกัด
2. Micro Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 10,001 - 50,000 Followers
อินฟลูเอนเซอร์ระดับนี้ มักจะมีแนวทางในการทำคอนเทนต์ที่ชัดเจนมากขึ้น ตามแนวทางที่ตัวเองถนัด
เช่น บางคนถนัดพูดโน้มน้าวใจ ก็อาจจะหาสินค้าที่ดี มีคุณภาพ มาทำคอนเทนต์รีวิวสินค้า
หรือบางคนถนัดเรื่องเทคโนโลยี ก็อาจจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับความรู้ทางเทคโนโลยีและรีวิวสินค้าประเภทเทคโนโลยีที่ออกมาใหม่
เรียกได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้เป็นคนที่รู้ลึก รู้จริง ในขอบข่ายเรื่องราวที่ตัวเองถนัดและมีความรู้
ทำให้มีกลุ่มผู้ติดตามเฉพาะทาง ที่สนใจในเรื่องราวเดียวกันเป็นแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น
Micro Influencer จึงเหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการทำการตลาดเฉพาะกลุ่มเช่นเดียวกับ Nano Influencer
แต่เป็นตลาดที่เป็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องราวเดียวกัน และมีขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
3. Mid-Tier Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 50,001 - 100,000 Followers
อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้มีความเนื้อหอมเป็นพิเศษ เนื่องจากจำนวนผู้ติดตามที่มากขึ้นจากกลุ่มก่อนหน้า ทำให้สามารถสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ (Brand Awareness) ได้ดีเพิ่มขึ้น
และยังเป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับสุดท้าย ที่ยังคงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดตามได้ดี เนื่องจากกลุ่มผู้ติดตามยังไม่ใหญ่มากจนเกินไป
Mid-Tier Influencer จึงเหมาะกับแบรนด์ที่ต้องการสร้าง Brand Awareness ในระดับหนึ่ง
แต่ยังคงเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม และยังต้องการทำคอนเทนต์แบบเรียล ๆ เป็นกันเองกับผู้ติดตาม
4. Macro Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 100,001 - 1,000,000 Followers
อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ คือคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมากในวงกว้าง เริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของสังคม
ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำงานเป็นอินฟลูเอนเซอร์แบบเต็มตัว มีแนวทางการทำคอนเทนต์แบบชัดเจนและเป็นมืออาชีพ อาจมีการทำคอนเทนต์หลากหลายสไตล์มากขึ้น ทำให้มีผู้ติดตามจากหลากหลายกลุ่ม
Macro Influencer จึงเหมาะกับแบรนด์ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่มีงบการตลาดค่อนข้างสูง
และต้องการสร้าง Brand Awareness ให้สินค้าหรือแคมเปญเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
5. Mega Influencer
คือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000,001 Followers ขึ้นไป
อินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มนี้ มักจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสังคม เช่น ดารา นักร้อง นักกีฬา หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ
การทำการตลาดแบบเจาะจงกับอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ทำได้ยาก เพราะมีผู้ติดตามจำนวนมาก และผู้ติดตามแต่ละคนก็มีไลฟ์สไตล์ ความสนใจ ที่แตกต่างกันไป
แต่ข้อดีของอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้ก็คือ การสร้าง Brand Awareness ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งผู้ติดตามก็มีแนวโน้มคล้อยตามคำพูดของอินฟลูเอนเซอร์มากด้วยเช่นกัน
Mega Influencer จึงเหมาะกับแบรนด์ขนาดใหญ่ที่มีงบการตลาดสูงมาก และต้องการสร้าง Brand Awareness ให้สินค้าหรือแคมเปญเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และเน้นใช้ชื่อเสียงหรือความน่าเชื่อถือของอินฟลูเอนเซอร์ระดับนี้เป็นตัวช่วย
ทั้งหมดนี้ก็คือ การแบ่งอินฟลูเอนเซอร์แต่ละประเภทตามจำนวนผู้ติดตาม และแนวทางการทำการตลาดแบบเบื้องต้น
สรุปอีกครั้ง อินฟลูเอนเซอร์แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ตามจำนวนผู้ติดตาม ได้แก่
- Nano Influencer มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000 - 10,000 Followers
- Micro Influencer มีผู้ติดตามตั้งแต่ 10,001 - 50,000 Followers
- Mid-Tier Influencer มีผู้ติดตามตั้งแต่ 50,001 - 100,000 Followers
- Macro Influencer มีผู้ติดตามตั้งแต่ 100,001 - 1,000,000 Followers
- Mega Influencer มีผู้ติดตามตั้งแต่ 1,000,001 Followers ขึ้นไป
และอีกเรื่องก็ต้องบอกว่า นอกจากแบรนด์หรือนักการตลาด ต้องเลือกใช้ระดับอินฟลูเอนเซอร์ในระดับที่ถูกต้อง เหมาะสมกับจุดประสงค์ หรือไอเดียของแคมเปญแล้ว
อีกเรื่องสำคัญของการตลาดสมัยนี้ คือ เลือกความเหมาะสมของ “แพลตฟอร์ม” ที่อินฟลูเอนเซอร์คนนั้น ๆ อยู่ด้วย
เพราะแต่ละแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook, Instagram, YouTube, TikTok ต่างก็มีคาแรกเตอร์ของคอนเทนต์และการสื่อสาร ที่แตกต่างกันไป ด้วยนั่นเอง..
โฆษณา