Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นุช อ่ะลอง มีเรื่องมาเล่า
•
ติดตาม
21 ต.ค. 2024 เวลา 14:35 • ท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
เหมาะที่สุดของประเทศไทยแล้วล่ะ ภูหินร่องกล้า
ดอกสรัสจันทรกับดอกหญ้ารูปทรงคล้ายใบหอก
หากจะหาที่ไหนสักที่ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเพื่อท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ ดูดอกไม้ เที่ยวน้ำตก ชมวิวสวยๆ อึ้งไปกับภูมิประเทศแปลกตา เดินทางสะดวก มีลานกางเต็นท์ที่ร่มรื่น สวยงาม สะอาด ปลอดภัย ห้องน้ำสะอาด รวมถึงมีบริการบ้านพักจำนวนมากไว้ให้บริการ มีร้านค้า ร้านกาแฟ ที่นี่แหละพร้อม
ลานกางเต็นท์ขั้นบันไดบนเนินเตี้ยๆ ในร่มเงาของสนภูเขา หมดปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังและร่มเย็นตลอดทั้งวัน
จุดเริ่มต้นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติลานหินแตก แค่ตรงนี้ก็ดอกไม้ป่าเพียบๆ ละ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ได้รับการออกแบบ ดูแลและปรับปรุงได้อย่างเหมาะสม บนเส้นทางที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติที่สวยงาม ประวัติศาสตร์บ้านเมืองไทยยุคใหม่ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ (พ.ศ. 2511-2525) ไปจนถึงประวัติศาสตร์โลกในด้านธรณีวิทยาและสิ่งมีชีวิตในยุคไดโนเสาร์ ประกอบด้วยเส้นทางศึกษาธรรมชาติลานหินแตก เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาชูธง และรอยตีนไดโนเสาร์บริเวณลานจอดรถลานกางเต็นท์ โดย 2 เส้นทางแรกจะมีไกด์ท้องถิ่นรอให้บริการ (มีค่าบริการ) เผื่อเป็นเพื่อนนำทาง บอกเล่าเรื่องราวในอดีต และเกล็ดความรู้อีกมากมาย
ป้ายบอกทิศทาง ระยะทาง และทางเดินถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยได้อย่างเหมาะสม
ตัวอย่างจุดเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา ซันแครก (Suncrack)
โรงเรียนการเมืองการทหาร ปัจจุบันถูกจัดแสดงเป็นกึ่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แนวความคิดทางการเมือง
ใหม่ล่าสุดกับแหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ที่อยู่ระหว่างการศึกษา
แล้วก็มาเข้าเรื่องหลักของเราตามประสาคนรักดอกไม้ป่า ที่นี่คือที่สุดของความหลากหลายมากมาย สภาพดอกไม้สมบูรณ์ อยู่ในทำเลที่สวยงาม พื้นที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างเปิดโล่ง เข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้สะดวก ที่เด่นที่สุดก็ต้องเป็นบรรดาดอกไม้ป่าบนลานหิน
สรัสจันทร
กระดุมเงิน
เทียนดอย
เทียนภูหลวง
บนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติทั้ง 2 เส้นจะมีลานหินกว้างในช่วงต้นทางเดิน และลานเล็กๆ ตลอดเส้นทาง ซึ่งแต่ละลานต้องใช้คำว่า ตาดีได้ ตาร้ายอด เพราะจะมีต้นไม้ดอกไม้เยอะมาก บางชนิดก็พบซ้ำๆ จำนวนมาก บางชนิดก็พบเฉพาะที่ ต่างปีฤดูกาลเดียวกันสภาพป่าก็ต่างกันด้วยนะ
เปราะภูขาว พบได้เยอะที่ภูหินร่องกล้า
เปราะหิน
ช่วงเวลาที่เราสะดวกและชอบมาที่นี่คือช่วงปลายฝน จะมีดอกไม้ตามที่เราเอามาให้ดูในบทความนี้เลย ซึ่งก็ยังขาดดอกไม้ที่ออกดอกในฤดูอื่นๆ เช่น กุหลาบพันปีดอกขาว กล้วยไม้ช้างงาเดียว และก็น่าจะมีชนิดอื่นๆ อีกที่น่าสนใจ ต้องหาโอกาสมาเยี่ยมในช่วงฤดูแล้งบ้าง
มณเฑียรทอง ดอกสีเหลืองประดับอยู่บนผืนกอหญ้าสีเขียวเตี้ยๆ บนลานหิน
เอนอ้า ดอกไม้ป่าที่พบได้ง่าย ซึ่งอันที่จริงก็มีอยู่หลายชนิด ซึ่งสวยงามทุกชนิด พบเจอทีไรก็อดใจถ่ายภาพไม่ได้สักที
ดรุณีวัลย์ พืชชนิดใหม่ของโลกจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany ฉบับที่ 33 หน้า 668–672 ปลายปี 2015 โดยผู้เชี่ยวชาญพืชสกุล Ceropegia ของไทย ดร. มานิต คิดอยู่ แห่งภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หญ้าดอกลำโพง
ในส่วนของชายป่า รอยต่อป่าระหว่างป่าลานหินกับป่าดิบแล้งหรือป่าสนเขาก็จะมีสังคมพืชอีกประเภทเจริญเติบโต ขยายพันธุ์ ออกดอก ซึ่งก็สวยงามไม่แพ้กัน
หญ้าเกล็ดหอย พบได้ตามชายป่าที่แสงส่องถึงมากๆ
ดอกดินแดง พืชที่มีเหง้าเป็นพืชเบียนเกาะอยู่ตามรากกอหญ้ากอไผ่ ในบริเวณป่าโปร่ง หรือชายป่า
ปิ้งขาว ไม้พุ่มลำต้นสูงท่วมหัว
มหาหงษ์
หงษ์เหิน
หว้าชะอำ, จ๊กฮ่อม, กระดองเต่าหัก
ตามมาด้วยพืชดอกสวยที่ชอบเกาะอยู่ตามก้อนหิน ผาหิน หรือผนังหิน บางชนิดจะมีลำต้นงอกงามอวบอิ่มในช่วงฝน ออกดอก ติดเมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ แล้วลำต้นก็แห้งยุบไป หรืออยู่แบบแค่เอาชีวิตรอดในช่วงฤดูแล้ง
บีโกเนียชนิดหนึ่ง พบขึ้นอยู่ใกล้น้ำตก
พืชในวงศ์ชาฤาษี
สาวสนม
"เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากป่าภูหินร่องกล้า ในท้องที่ตำบลบ่อโพธิ์ ตำบลเนินเพิ่ม ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่ ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น ป่าไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด กับมีสภาพธรรมชาติที่สวยงามยิ่งหลายแห่ง เช่น ลานหินแตก ลานหินปุ่ม ป่าสนเขา
สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพธรรมชาตินั้นให้คงอยู่เช่นเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพไป เพื่อประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เพื่อการศึกษาค้นคว้า เพื่ออำนวยประโยชน์อื่นแก่รัฐและประชาชน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้"
หมายเหตุ ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าภูหินร่องกล้า ในท้องที่ตำบลบ่อโพธิ์ ตำบลเนินเพิ่ม ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2527
เวลาอุทยานแห่งชาติเขาจะประกาศอย่างเป็นทางการในทางกฎหมายก็จะต้องออกเป็นราชกฤษฎีกา กำหนดให้พื้นที่ใดๆ ที่อาจจะเป็นอย่างอื่นมาก่อน เป็นอุทยานแห่งชาติ ส่วนที่เราชอบดูและเห็นว่าสำคัญคือแผนที่แนบท้าย และ หมายเหตุที่จะบอกเหตุผลของการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้นๆ
++ กลับมาต่อกันเรื่องดอกไม้ ที่จะขาดไม่ได้คือกล้วยไม้นานาชนิด ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่เราไม่ได้คาดเอาไว้ว่าภูหินร่องกล้าจะมีกล้วยไม้สวยงามมากเกินกว่าที่อยู่ตามลานหิน แถมบางชนิดหายากมากๆ ซะด้วย
หนวดพราหมณ์ลำดำ พบขึ้นอยู่ตามคาคบไม้สูง
อั้วดอกม่วง พบขึ้นอยู่บนพื้นดินที่มีเศษซากใบไม้คลุมหนา
เอื้องคำหิน พบอยู่มากตามลานหิน
เอื้องเงินหลวง
เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก จากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) ฉบับที่ 40 ปี 2012 เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic) ของไทย
เอื้องนวลจันทร์ กล้วยไม้ที่ขึ้นเป็นกลุ่มกอบนลานหิน
ม้าวิ่ง ประดับอยู่บนลานหินด้วยดอกสีสวยชูสูงด้วยก้านยาว และกอใบสีเข้มกอแน่นรองรับด้วยมอสส์และหญ้าสีเขียวเล็กๆ เหมือนจัดเป็นสวนเล็กๆ อยู่บนก้อนหิน
เอื้องสีลา พบในบริเวณป่าครึ้ม
เอื้องหมาก
เอื้องกลีบติด กล้วยไม้อาศัยรา (holomycotrophic orchid หรือ mycoheterotrophic orchid) พบขึ้นช่วงฤดูฝนตามพื้นป่าที่มีซากใบไม้ผุหนาแน่น หัวใต้ดินมักอยู่ขนานกับผิวดิน พบเฉพาะตามป่าสมบูรณ์เท่านั้น เป็นกล้วยไม้ที่ไม่มีคลอโรฟิล การดำรงชีวิตต้องอาศัยรา ออกดอกและติดฝักเร็ว แต่ก่อนเรียกกล้วยไม้กินซากหรือ saprophyte ปัจจุบันแนะนำให้เรียกกล้วยไม้อาศัยรา
𝘉𝘶𝘳𝘮𝘢𝘯𝘯𝘪𝘢 𝘰𝘣𝘭𝘰𝘯𝘨𝘢
เห็ดชนิดต่างๆ
เนิร์ดมาโครจะไม่ยอมพลาดกับการถ่ายภาพเห็ดหลากชนิดที่นี่แน่ๆ ด้วยสเน่ห์ของรานักย่อยเศษซากประจำผืนป่า ไม่ว่าจะยังไงก็ทำให้เราต้องหยุดเพื่อเล็งหามุมถ่ายภาพที่จะบอกเล่าเรื่องราวของพวกมันออกมา เราถ่ายภาพไม่เก่งหรอก แต่เราชอบเล่าเรื่อง ยิ่งเห็ดของที่นี่ที่เป็นเห็ดจิ๋วๆ ที่ขึ้นอยู่บนมอสส์ด้วยแล้ว ต้องคิดหนักเลยล่ะว่าจะถ่ายทอดออกมายังไงดีน๊า ให้ภาพถ่ายสักใบได้เล่าเรื่องราวของมันให้ออกมาดีที่สุด
เห็ดบนผืนมอสส์
ด้วงและแมลงที่ตอนแรกก็ว่าจะไม่แล้วนะ พอเอาเข้าจริงแค่ความอลังการของกว่างห้าเขาก็ทำเอาอยู่นิ่งไม่ได้แล้วแหละ
แมลงหลากชนิด
ค่ำคืนก็ไม่มีเหงา ไฟแสงสว่างในห้องน้ำของทางอุทยานฯ และไฟทางเดินบริเวณลานกางเต็นท์จะดึงดูดการปรากฎตัวของมอธ (ผีเสื้อกลางคืน) ซึ่งก็สร้างความประหลาดใจและประทับใจกับเราได้อีกแล้ว เพราะแต่ละตัวทั้งสวยทั้งแปลก ถ่ายภาพได้สนุกมาก
สำหรับเราคือมาโครสายชัด มุมภาพแบบเก็บข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการจำแนกชนิดให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าในหลายชนิดพยายามถ่ายภาพสักเท่าไหร่ก็ไม่ช่วยอะไรเรื่องการจำแนก เพราะอาจจะต้องจำแนกชนิดด้วยวิธีอื่นๆ ที่มากกว่าการดูแค่ลักษณะภายนอก
ครั้นจะถ่ายทั้งเอาชัดและเอางามแบบอาร์ตๆ นั้น สมองปรับไม่ไหวและร่างกายก็เกินจะทานทน
มอธหรือผีเสื้อกลางคืน
ข้อแนะนำ
●
การเดินบนลานหินที่เปียก มีตะไคร่ หรือมอสส์ขึ้น พื้นดินแข็งที่หน้าดินเปียกเห็นเป็นมันๆ เลื่อมๆ ให้ตั้งข้อระวังไว้ก่อนว่าอาจจะลื่น ควรเตรียมรองเท้าที่มีพื้นที่ยึดเกาะได้ดี ใส่แล้วพอดีมีความมั่นใจ ร่างกายก็ควรออกกำลังกายมาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการลื่นในป่าที่มีความชื้นสูงเกิดขึ้นได้เกือบทุกที่ เด็กและผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลตามสมควร หรือจะเลี่ยงมาเที่ยวในช่วงหนาวความเปียกแฉะก็จะน้อยลงมาก ดอกไม้ป่าอาจจะน้อยลงหน่อย แต่จะได้หมอกหนาวไหลๆ ชมวิวแสงสวยอลังการ
●
การถ่ายภาพมาโคร สภาพแสงธรรมชาติค่อนข้างใช้ได้ สภาพอากาศในช่วงปลายฝนของที่นี่จะเป็นแบบลมพัดเอาเมฆมาแล้วฝนตก ตกแล้วก็หยุด เมฆลอยสูง มีแสงเรืองๆ บางครั้งก็มีแดด แล้วลมก็อาจจะพัดเอาเมฆฝนมาตกอีก ดังนั้นเจออะไรให้รีบถ่ายไว้ก่อน แฟลช ไฟ ต่างๆ มีไว้ใช้ก็จะดียิ่งขึ้น ขาตั้งกล้องเราไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสะดวกรึเปล่า น่าจะแล้วแต่คน สำหรับเราไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง
มวนชนิดหนึ่งบนดอกหญ้าริมลำธาร
สำหรับเราการท่องเที่ยวในธรรมชาติก็เหมือนการไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่น่ารักๆ ซึ่งจะทำอะไรเราก็ต้องรักษามารยาท รักษาน้ำใจ ไม่ก่อความเสียหาย ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อกันเพราะเพื่อนดีๆ มันก็หายาก เสียไป อาจหาใหม่ดีๆ แบบนี้ไม่ได้อีกไปตลอดชีวิต
เราว่าแค่คิดแบบนี้คุณก็จะรู้แล้วแหละว่าอะไรควรไม่ควร เหมาะไม่เหมาะในการจะทำอะไรสักอย่างในธรรมชาติ บ่อยครั้งที่เรายิ้มให้ดอกไม้และแมลงและเอ่ยขอบคุณหลังถ่ายภาพเสร็จ ขอบคุณที่ยอมให้เรารบกวน ซึ่งเราจะพยายามรบกวนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราตั้งใจแบบนั้น
ข้อมูลบางส่วนของ ดรุณีวัลย์, เอื้องกลีบติด, เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล จาก เพจเฟสบุ๊ค หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF
เยี่ยมชม
facebook.com
หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF
หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF. 36,524 likes · 2,332 talking about this. ”หอพรรณไม้” กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าภูหินร่องกล้า จาก คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ
dl.parliament.go.th
พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูหินร่องกล้า ในท้องที่ ต.บ่อโพธิ์ ตำบลเนินเพิ่ม ตำบลบ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และ ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2527
เรียนรู้เพิ่มเติม
ติดตามข่าวคราวผลงานอื่นๆ ได้ที่ Facebook
ติดต่อเรา
facebook.com
Nuch Along
Nuch Along is on Facebook. Join Facebook to connect with Nuch Along and others you may know. Facebook gives people the power to share and makes the world more open and connected.
ถ่ายภาพ
ท่องเที่ยว
สิ่งแวดล้อม
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย