19 ต.ค. 2024 เวลา 03:39 • นิยาย เรื่องสั้น
คำถามคุณน่าสนใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือสิ่งที่คุณเขียนอธิบายคำถามของคุณ
ยินดีด้วยที่คุณเป็นคนที่ชอบเขียน ชอบอ่าน
สิ่งที่คุณพบ ประสบ ระหว่างที่คุณเขียนและหรืออ่าน ผมเรียกมันว่าเป็น self-projection และ self-reflection
เวลาที่เราอ่านหนังสือที่เราชอบ หรือไม่ชอบ เราจะใส่ความเป็นตัวตนของเราเข้าไปในสิ่งที่เราอ่านเสมอ ปรากฎการณ์นี้เรียก self-projection
self คือตัวตนของเรา projection คือการฉายภาพ รวมกันคือ การฉายภาพตัวตนคุณลงในข้อความที่คุณกำลังอ่านอยู่ ทำให้คุณรู้สึกว่า หนังสือกำลังพูดคุยกับคุณ
หลายคนเวลาอ่านนิยาย ก็จะสมมติตัวเองว่า เหมือนตัวละครที่ตัวชอบ ถึงขั้นเลียนแบบบุคลิกตัวละครนั้นในชีวิตจริงของตน
หนังสือไม่ได้คุยกับคุณ คุณคุยกับตัวเอง โดยมีหนังสือเป็นตัวกลางเท่านั้นเอง
ส่วนเวลาที่คุณเขียน คุณสะท้อนภาพตัวเองออกมาเป็นถ้อยคำ นั่นคือ self - reflection เหมือนเรามองกระจก (เขียน) กระจก (ถ้อยคำ) จะย้อนกลับมาหาตัวคุณ
คุณอาจสัมผัสได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณเขียนถึงด้านมืดของคุณ ด้านที่คุณไม่ชอบเกี่ยวกับตัวคุณ คุณจะรู้สึกว่าไม่อยากเขียน เพราะตัวตนมันไม่อยากเปิดเผยด้านมืดออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ (ถ้อยคำ) มันอยากฝังความจำนี้จนคุณสัมผัสมันได้ยากมาก
self-projection คือการปรุงแต่งอารมณ์ของคุณ ไม่ให้คุณเห็นความจริงของโลก เหมือนคุณใส่แว่นกันแดดมองโลก โลกมันก็เป็นไปตามสีของแว่น
ยิ่งคุณมีมากเท่าไหร่ แว่นสีคุณก็จะเข้มข้นขึ้น คุณจะชอบตัดสินสิ่งต่างๆ โดยเอาตัวเองเป็นมาตรฐาน
ขณะที่ self-reflection จะช่วยให้คุณเข้าใจตนเอง หากคุณมีความถ่อมตน แต่ถ้าคุณเป็นคนชอบอวด ชอบอยู่เหนือคนอื่น self-reflection มันก็จะสะท้อนภาพของคุณออกมาเช่นกัน คุณจะสามารถเห็นสิ่งนี้ได้ ถ้าคุณอ่อนน้อมกับตัวเองเป็น
หลังจากที่คุณเห็นตัวตนของคุณแล้ว คุณจะยอมรับหรือปฏิเสธ ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวแล้วครับ
การเดินทางบนเส้นทางการรู้จักตัวเอง เป็นเรื่องของความโดดเดี่ยว ไม่มีใครช่วยคุณได้ แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่า ท่านเป็นได้แค่ผู้ชี้ทาง
คนเดินหรือไม่เดินเส้นทางนี้ อยู่ที่เราคนเดียวครับ
โฆษณา