20 ต.ค. เวลา 05:00 • ข่าวรอบโลก

‘ติง หนิง’ บิ๊กบอสแชร์ลูกโซ่จีน เหยื่อถูกหลอกทะลุ 9 แสนราย ก่อความเสียหาย 2.5 แสนล้านบาท

เคสแชร์ลูกโซ่ของเบอร์นีย์ เมดอฟฟ์มีผู้เสียหายกว่า 40,000 คน แต่ในจีน มีคนกว่า 900,000 คนที่ตกเป็นเหยื่อของบอส ‘ติง หนิง’ เจ้าของแพลตฟอร์มลงทุนจีนที่สัญญาผลตอบแทนสูงลิ่ว แต่เบื้องหลังคือการหลอกลวงครั้งใหญ่ที่ทำให้หลายคนสูญเสียทุกอย่าง
2
เมื่อเอ่ยถึง “แชร์ลูกโซ่” กลวิธีหลอกลวงที่ทำให้หลายคนหน้ามืดตาบอด ยอมขายบ้านขายรถมาลงทุน เพื่อหวังจะเป็นเศรษฐี และมีชีวิตอยู่อย่างอู้ฟู่เหมือนเหล่าบอสๆ หลายคนคงนึกถึง “เบอร์นีย์ เมดอฟฟ์” อาชญากรแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
1
ในฝั่งของจีนก็มีเหมือนกัน แม้ขนาดจะไม่ใหญ่เท่าเมดอฟฟ์ แต่จำนวนเหยื่อที่เสียหายนั้น “สูงกว่า”เคสเมดอฟฟ์มาก โดยมีจำนวนกว่า 900,000 รายทั่วเมืองจีน ขณะที่เคสเมดอฟฟ์นั้นอยู่ที่ราว 40,000 คน ซึ่ง “หัวโจก” ที่ก่อคดีแชร์ลูกโซ่อันสะเทือนขวัญในจีนนี้มีชื่อว่า “ติง หนิง” (Ding Ning) เจ้าของ “อีจูเป่า” (Ezubao) แพลตฟอร์มการให้กู้ยืมออนไลน์แบบบุคคลต่อบุคคล (P2P) ที่มีฐานอยู่ในมณฑลอานฮุย ทางภาคตะวันออกของจีน
5
สำหรับเคสอีจูเป่า มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 50,000 ล้านหยวน และได้ก่อความเสียหายสูงถึง 7,700 ล้านดอลลาร์หรือราว 2.5 แสนล้านบาท
2
📌ใช้สื่อรัฐสร้างภาพอันน่าเชื่อถือ
1
“อีจูเป่า” เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2557 และได้เริ่มระดมทุนจากภายนอกผ่านแคมเปญโฆษณาขนาดใหญ่ หากดูเพียงผิวเผิน อีจูเป่าเหมือนเป็นเว็บไซต์ให้กู้ยืมออนไลน์ที่มีโครงการลงทุนหลากหลาย และเสนออัตราผลตอบแทนรายปีให้นักลงทุนที่ 9%-14.6% ซึ่งสูงกว่าการฝากเงินในธนาคารมาก จนเป็นที่สนอกสนใจของเหล่านักลงทุน
2
เพื่อทำให้เครือข่ายที่มีอยู่เบ่งบานทั่วจีน ติง หนิงทุ่มสุดตัวกับแคมเปญโฆษณาและการสร้างภาพลักษณ์อย่างมาก โดยเขาใช้เงินกว่า 150 ล้านหยวนหรือราว 700 ล้านบาทสำหรับโฆษณาทางโทรทัศน์ ซึ่งโฆษณาของบริษัทถูกออกอากาศในเกือบทุกช่องโทรทัศน์ทั่วประเทศจีน รวมถึงช่อง CCTV ที่เป็นของรัฐด้วย
2
เนื่องจากช่องของรัฐมักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ประชาชนจึงอาจเข้าใจผิดว่าโฆษณาที่ออกอากาศทาง CCTV หมายถึงได้รับการรับรองจากรัฐบาล
2
ไม่เพียงเท่านั้น บอสติงยังเข้าร่วมงานสาธารณะและกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับนวัตกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังได้รับการสัมภาษณ์โดยสื่อข่าวทางการของรัฐบาล เพื่อแบ่งปันว่า ธุรกิจของเขาช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างไรบ้าง
2
อีกนิสัยสำคัญของบอสติง คือ ต้องการให้ผู้ลงทุนมองว่าเขาเป็นคนรวยมาก จะได้ช่วยเสริมภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ ความสำเร็จด้านการเงิน และกระตุ้นความกระหายให้ผู้คนเข้ามาลงทุนกับเขา
1
พนักงานทุกคนของติงถูกกำหนดให้แต่งกายด้วยแบรนด์หรู และเครื่องประดับราคาแพงเพื่อแสดง “ภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท”
1
📌ชีวิตหรูหราของบอสจากเงินนักลงทุน
3
เมื่อเวลาผ่านไป ความจริงของบริษัทให้กู้ยืมออนไลน์นี้ก็เผยโฉมออกมา ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการลงทุนในโครงการต่าง ๆ อย่างที่โฆษณา แต่มาจากเงินของนักลงทุนคนใหม่หมุนจ่ายให้นักลงทุนคนก่อนหน้า
4
อีกทั้งสำนักข่าวซินหัวรายงานอีกว่า เงินทุนมหาศาลที่ติงระดมมาได้นั้น ถูกนำไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อสนองความหรูหราของกลุ่มผู้บริหาร เรียกได้ว่ามีการยักยอกเงินของเหล่านักลงทุนเกิดขึ้น
1
สำหรับบอสติง เขาใช้เงินของนักลงทุนไปกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวอันหรูหรา รวมถึงเป็นของขวัญสำหรับคุณหญิงจาง หรือจาง หมิ่น (Zhang Min) สาวสวยที่ติงแต่งตั้งให้เป็นประธานอีจูเป่า โดยในบรรดาของขวัญเหล่านั้นก็มีวิลล่าในสิงคโปร์มูลค่า 130 ล้านหยวน (600 ล้านบาท) แหวนเพชรสีชมพูมูลค่า 12 ล้านหยวน (55 ล้านบาท) และเงินสด 550 ล้านหยวน (2,500 ล้านบาท) อีกทั้งเขายังใช้เงินทุนที่ระดมได้มาจ่ายเงินเดือนสูงให้กับพนักงานของบริษัท
3
ยกตัวอย่างพนักงานอย่างติง เตี้ยน (Ding Dian) น้องชายของบอสติง เห็นเงินเดือนของตัวเองเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านหยวนต่อเดือน!
2
📌อีจูเป่าแตก ตำรวจบุกจับเหล่าบอส
ด้วยการร้องทุกข์จากผู้เสียหายจำนวนมาก ทางเจ้าหน้าที่จีนจึงเข้าตรวจสอบบริษัทอีจูเป่า เพียงแต่คดีนี้ยากในการสืบสวน เนื่องจากนักสืบต้องเผชิญกับความซับซ้อนของเครือข่ายเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์อย่างน้อย 200 เครื่อง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนการหลอกลวงจำนวนมาก
4
เพื่อปกปิดหลักฐาน ผู้บริหารของอีจูเป่าได้ใส่บัญชีการเงินมากกว่า 1,200 เล่มลงในถุงพลาสติก 80 ใบ และฝังไว้ใต้ดินลึก 6 เมตรในเขตชานเมืองของมณฑลอานฮุย ตำรวจต้องใช้เวลาขุดมากกว่า 20 ชั่วโมงโดยใช้รถขุด 2 คัน
2
เมื่อรวบรวมหลักฐานได้อย่างมีน้ำหนักแล้ว ทางตำรวจจีนจึงเข้าบุกจับบอสติงและพรรคพวก พร้อมแจ้ง 4 ข้อหา คือ ความผิดฐานระดมทุนอย่างฉ้อฉล ลักลอบขนโลหะอันมีค่า ครอบครองอาวุธปืนอย่างผิดกฎหมาย และการข้ามพรมแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต
2
จาง หมิ่น อดีตประธานอีจูเป่าสารภาพว่า “อีจูเป่า เป็นแชร์ลูกโซ่อย่างสมบูรณ์” ขณะถูกคุมตัวอยู่ที่ศูนย์กักกันของตำรวจ จางเผยว่าผู้บริหารของบริษัทต่างรู้ดีว่าเรื่องทั้งหมดเป็นการหลอกลวง
5
ด้านหยง เล่ย (Yong Lei) ผู้ควบคุมความเสี่ยงโครงการของอีจูเป่ากล่าวว่า “เท่าที่ผมรู้ โครงการที่ระบุไว้ 95 เปอร์เซ็นต์เป็นของปลอม”
ส่วนหัวโจกอย่าง “ติง หนิง” ผู้ถูกสื่อขนานนามว่าเป็น “เบอร์นีย์ เมดอฟฟ์แห่งจีน” ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต รวมถึงถูกปรับ 100 ล้านหยวนและทรัพย์สินส่วนตัวของเขามูลค่า 500,000 หยวนถูกยึด
ติง เตี้ยน น้องชายของบอสติงถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และถูกปรับ 70 ล้านหยวน ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนการหลอกลวงอีก 24 คนได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี
คำตัดสินของศาลจีนระบุว่า “การระดมทุนอย่างผิดกฎหมายโดยผู้ต้องหาทั้ง 26 คนที่นำโดย ติง หนิง ติง เตี้ยน และจาง หมิ่น ได้เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินที่มหาศาลมาก ก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินอย่างหนักแก่ผู้ลงทุนทั่วประเทศ และบิดเบือนระบบการกำกับทางการเงินของรัฐอย่างรุนแรง”
4
จะเห็นได้ว่า ความฝันที่จะร่ำรวยเร็วกลายเป็นฝันร้าย เมื่อหลายแสนคนในจีนหลงเชื่อคำลวงของ “อีจูเป่า” จนสูญเสียเงินเก็บไปกับการลงทุนที่ไม่มีวันได้คืน ติง หนิง และพรรคพวกใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้มั่นใจว่าเงินลงทุนของพวกเขาจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ความจริงแล้ว เงินเหล่านั้นกลับถูกนำไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อสนองความสุขส่วนตัวของกลุ่มผู้บริหาร
2
โฆษณา