20 ต.ค. เวลา 04:56 • การศึกษา

การเก็บภาษีเงินได้จากชาวต่างชาติ

ชาวต่างชาติที่มีรายได้จากในประเทศไทยต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่
...
การทำความเข้าใจหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ ในเบื้องต้นต้องเข้าใจหลักการที่สร้างความเชื่อมโยงในการจัดเก็บภาษีเงินได้เสียก่อน หลักการสำคัญที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้ รวมถึงประเทศไทย มี 2 หลักการคือ "หลักแหล่งเงินได้" (Source Rule) และ "หลักถิ่นที่อยู่" (Residence Rule)
  • หลักแหล่งเงินได้ เห็นว่าเมื่อบุคคลใดมีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศใดแล้วย่อมต้องมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่ประเทศนั้น (ไม่คำถึงว่าบุคคลนั้นมีสัญชาติของประเทศใด และบุคคลนั้นจะมีถิ่นที่อยู่ในประเทศใด)
  • หลักถิ่นที่อยู่ เห็นว่าเมื่อบุคคลใดมีถิ่นที่อยู่ในประเทศใดบุคคลนั้นย่อมมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่ประเทศนั้น (ไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติใด และเงินได้นั้นจะได้รับจากการทำงานในประเทศใด) โดยต้องนำเงินได้ของตนที่ได้รับไม่ว่าจะเป็นเงินได้ที่เกิดจากประเทศใดก็ตาม มาเสียภาษีในประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ด้วยทั้งหมด
  • การมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย คือ อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน
จากประเด็นดราม่านี้ผู้เขียนคิดว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยสนใจในประเด็นเกี่ยวกับการเสียภาษีของชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างกรณีของนางสาว ก. ชาวเกาหลีใต้ ที่มาทำงานในประเทศไทย ทั้งรับรีวิวสินค้า รับจ้างไลฟ์สดขายสินค้า
ในส่วนนี้จะเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) (ถ้ามีเงินได้ตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1)ต้องเอามารวมด้วย) คือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ในแง่ของสัญญาจะเป็นสัญญาจ้างทำของ เงินได้ประเภทนี้กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 แปลว่า กฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 50 ของยอดเงินได้ และถ้าร้อยละ 50 ของยอดเงินได้เกินกว่า 100,000 ก็จะหักได้แค่ 100,000 เท่านั้น
ปัญหาต่อไปคือเงินได้ของนางสาว ก. ที่กล่าวข้างต้นต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่ ต้องกลับไปพิจารณาหลักแหล่งเงินได้ และหลักถิ่นที่อยู่ ถ้านางสาว ก. อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วันย่อมไม่ใช่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่เมื่อเข้ามาทำงานและมีเงินได้จากการทำงานในประเทศไทย จึงเท่ากับมีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศไทยแล้ว ย่อมต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีในประเทศไทยด้วย
เมื่อผู้มีเงินได้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าวก็ย่อมต้องหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายด้วย นอกจากนี้ การจ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับที่มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้คำนวณหักภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ (ประมวลรัษฎากร มาตรา 50(1))
โฆษณา