วันนี้ เวลา 05:25 • ข่าว

เทคโนโลยี ทำให้เราคุยกันน้อยลง ‘สรวง’ เล่าถึง Voiceless Society ในสังคมจีน

สรวง สิทธิสมาน หัวหน้าทีม Seed Thailand รุ่นหนึ่ง และประธานนักเรียนไทย-จีน โพสต์เฟสบุ๊กกล่าวถึงโอกาสในการสื่อสารในชีวิตประจำวันที่ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ในสังคมเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2567
สรวงระบุว่าก่อนโควิด-19 เซี่ยงไฮ้ไม่ได้แตกต่างจากกรุงเทพมากนัก คือแทบจะเป็น Cashless society (สังคมไร้เงินสด โดยเวลาชำระเงินในร้านค้าจะต้องถามก่อนว่าสามารถชำระเงินด้วย QR Code ได้หรือไม่ และต้องมีการใช้เงินสดบ้างเป็นบางครั้ง
“แต่เซี่ยงไฮ้ในวันนี้ ซึ่งคือเซี่ยงไฮ้ในยุคหลังโควิด มีหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางเทคโนโลยีที่สุดโต่งยิ่งกว่าเดิม จาก Cashless society กลายเป็น Voiceless society (คำนี้เป็นคำที่ผมนำมาใช้เปรียบเปรย ไม่ใช่คำที่บัญญัติอย่างเป็นทางการ)” สรวงระบุ และระบุตัวอย่างดังนี้
1 ร้านสะดวกซื้อ จากเดิมที่ต้องมีพนักงานคิดเงิน แต่ในวันนี้ ร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่ หันมาใช้ "เครื่องชำระเงินอัตโนมัติ" โดยผู้ซื้อนำสินค้าไปที่แท่นให้เครื่องสแกน การที่จะชำระเงินด้วยการสแกน QR Code ไม่ต้องมีพนักงานอีกต่อไป ไม่ต้องสื่อสารกับพนักงาน เปลี่ยนเป็นสื่อสารกับเครื่องชำระเงินอัตโนมัติแทน
2 ร้านอาหาร ที่นวันนี้หลายร้านหันมาให้บริการสั่งอาหารผ่านมินิแอพ บน Wechat หรือ Alipay ซึ่งมีเมนูอาหารของร้านให้เลือก และชำระเงินสำเร็จตั้งแต่เมื่อทำการสั่งอาหารแล้วจบมื้ออาหารในร้านอาหารโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงพูดแม้แต่คำเดียว
3 การสั่งอาหาร Delivery และการช็อปปิ้งออนไลน์ที่มีโปรโมชั่นมากมาย จัดส่งรวดเร็ว ราคาถูก สะดวกสบาย จนแทบไม่จำเป็นต้องเดินออกจากบ้านเลยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งการบริการเหล่านี้นั้น ไม่มีการสื่อสารด้วยคำพูดกับบุคคล
อย่างไรก็ดี สรวงระบุว่าไม่ได้เป็นเช่นนี้ทุกร้าน ยังคงมีร้านที่ยังคงให้ความสำคัญกับการบริการที่ดีของพนักงานในการสื่อสารอย่างสุภาพ และสร้างประสบการณ์ที่เป็นมิตรกับลูกค้าอยู่
สรวงระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นการสร้างความเคยชินที่ไม่ดีต่อการสื่อสารต่อหน้ามนุษย์คนอื่น เมื่อโอกาสในการพูดคุยกับมนุษย์ในแต่ละวันน้อยลง และเปลี่ยนเป็นการสื่อสารกับหน้าจอมากขึ้น มีความเป็นไปได้ว่าคนบางคนจะไม่คุ้นเคยกับการพูดคุยสนทนา เพราะขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับคน และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเซี่ยงไฮ้ แต่ที่อื่นในจีนก็น่าจะคล้ายกัน
การพัฒนาเทคโนโลยีนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การสื่อสารกับคนนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะการสื่อสารเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ยิ่งเราสื่อสารออกไปมาก ก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับคนอื่นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจ แสดงน้ำใจ และความเป็นมิตร
รวมทั้งการฝึกแสดงความเห็นต่างซึ่งไม่ได้แสดงออกผ่านการใช้วาจาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการแสดงออกด้วยน้ำเสียง การกระทำ และภาษากายด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถฝึกได้ด้วยการแชต หรือการสื่อสารกับเครื่องมือ
“ยอมรับเลยว่ารู้สึกกลัวทันทีในวันนั้น วันที่พบว่าผมไม่ได้พูดกับใครเลยสักคำ เพราะหนึ่งในเป้าหมายของผมในการมาเรียนที่จีนครั้งนี้ คือการพัฒนาทักษะทางภาษาให้ใกล้เคียง Native มากที่สุด ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ
และการสื่อสารในชีวิตประจำวันนั้นก็สำคัญมากต่อการพัฒนาการออกเสียง การเลือกใช้คำศัพท์ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการพัฒนาทางภาษา ทำให้หลังจากนั้นก็เลยต้องคอยบังคับตัวเองให้หาโอกาสพูดคุยสนทนากับคนอื่นอยู่เสมอ
เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการใช้ชีวิตและฝึกภาษา และเพื่อคงความเป็นมนุษย์ ไม่กลายเป็นหุ่นยนต์ ในยุคที่หุ่นยนต์เข้าใกล้กับความเป็นมนุษย์มากขึ้นทุกวัน” สรวงระบุ
#TheStructure
#TheStructureNews
#การสื่อสาร #เทคโนโลยี #จีน
โฆษณา