20 ต.ค. เวลา 22:47 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

ศึกเชียงตุง เล่าเรื่องเบื้องหลัง "ธี่หยด 2"

ผมเพิ่งไปเก็บรอบ 2 มาวันนี้เองครับกับภาพยนต์เรื่อง ธี่หยด 2 เป็นสุดยอดภาพยนต์ที่ทำให้ผมสามารถเข้าไปดูในโรง 2 รอบได้แบบไม่ต้องโดนใครบังคับทั้ง 2 ภาค รอบนี้เข้าไปดูซ้ำเพราะฉากดงโขมดเลย ดีมากจริงๆ ใครยังไม่ได้ดู ระวังจะเสียดายทีหลังนะครับ
ในขณะที่ทุกคนกำลังลุ้นกับเรื่องราวของครอบครัวตัว ย. ชะตากรรมของพี่ยักษ์ ที่ไปที่มาของตาพวงและผีชุดดำ ตัวผมเองกลับสนใจเรื่องราวเบื้องหลัง ที่เป็นบ่อเกิดของเรื่องราวในธี่หยด 2 เรื่องราวที่บางแหล่งก็ว่าเป็นสงครามเดียวกันกับที่พี่มากไปรบ สงครามนี้คือ "ศีกเชียงตุง ครั้งที่ 1 " ในช่วง พ.ศ. 2393-2395
บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนต์ ธี่หยด 2 หากไม่ยังไม่ได้ชมภาพยนต์ แนะนำให้ข้ามไปก่อน อย่ามาหาว่าไม่เตือนที่หลังนะครับ
เมืองเชียงตุง เป็นแหล่งอารยธรรมของชาวไทลื้อ หรือไทเขิน เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ต่อมาในสมัยพระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู ได้เข้าตีเชียงใหม่ ทำให้อาณาจักรล้านนาทั้งหมดตกอยู่ภายใต้ราชสำนักตองอู รวมถึงเมืองเชียงตุงด้วย
fast forward มายังปี พ.ศ. 2345 ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาณาจักรล้านนาแยกตัวจากพม่ามาขึ้นกับสยาม พระยากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ ออกโจมตีหัวเมืองล้านนาเดิมให้กลับมารวมกันอีกครั้ง รวมถึงเชียงตุง เมืองเชียงตุงต้านทัพพระยากาวิละไม่ได้ เจ้ากองไท เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหลบหนีไป ส่วนเจ้าดวงแสง หรือเจ้ามหาขนาน (Maha Hkanan) อนุชาของเจ้าฟ้ากองไทหลบหนีไปเมืองยาง
1
พระเจ้ากาวิละเกลี้ยกล่อมให้เจ้าฟ้ากองไทยอมสวามิภักดิ์เข้ามอบตัวต่อเชียงใหม่ในพ.ศ. 2347 ทำให้เชียงตุงไร้ผู้ปกครอง ต่อมาเจ้ามหาขนานที่หนีไปก่อนหน้านี้เข้าเมืองเชียงตุง ทำการบูรณะเมืองขึ้นมาใหม่ ไม่นานพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบองเข้าโจมตีเชียงตุง เชียงตุงภายใต้การปกครองของเจ้ามหาขนานและความช่วยเหลือจากเชียงใหม่พยายามต้านทานจนสุดกำลัง แต่ก็ต้านทานไว้ไม่ได้
สุดท้ายเชียงตุงตกกลับไปเป็นของพม่าอีกครั้ง พระเจ้าปดุงสถานปนาเจ้ามหาขนานเป็นเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ปกครองเชียงตุงต่อไป
ต่อมาจีนได้เข้าแทรกแซงการเมืองภายในของเมืองเชียงรุ่ง เจ้ามหาไชยงาดำที่จีนสนับสนุนเข้ายึดเมืองเชียงรุ่งไว้ได้สำเร็จ เหล่าเจ้าเชียงรุ่งเดิมอันประกอบด้วย อุปราชอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้วและน้องสาวคือนางแว่นแก้ว ซึ่งลี้ภัยไปหลวงพระบาง เจ้าเมืองหลวงพระบางจึงส่งตัวมาที่กรุงเทพฯ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า เจ้านายเมืองไทลื้อเชียงรุ่งสิบสองปันนามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ควรต้องจัดทัพไปยึดเมืองเชียงรุ่งคืนให้แก่เจ้าสุชาวรรณราชบุตร แต่หนทางยกทัพไปเมืองเชียงรุ่งนั้นต้องผ่านเมืองเชียงตุงก่อน หากจะยึดเมืองเชียงรุ่งได้ต้องยึดเมืองเชียงตุงก่อน
1
แต่เนื่องจากการเดินทัพไปเชียงตุงนั้นลำบากทุรกันดาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้หัวเมืองล้านนาเป็นผู้รับผิดชอบการตีเมืองเชียงตุงดังกล่าว มีท้องตรามีพระราชโองการให้พระยาเชียงใหม่มหาวงส์เจ้าเมืองเชียงใหม่ เกณฑ์ทัพเมืองเชียงใหม่ 5,000 คน เมืองลำพูน 1,500 คน เมืองลำปาง 1,000 คน ขึ้นไปโจมตีเมืองเชียงตุง
พระยาราชบุตรและทัพเมืองลำพูนเข้าตีเมืองปางซาได้สำเร็จ ทัพเชียงใหม่ลำพูนแยกย้ายกันไปตีเมืองบริวารต่างๆของเชียงตุงได้แก่ เมืองแจง เมืองมาง เมืองภู เมืองเลน เมืองเพียง ได้จนหมดสิ้นแล้ว จึงยกทัพเข้าโจมตีประชิดเมืองเชียงตุง
เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเชียงตุงยกทัพไทเขินออกมาสู้รบเป็นสามารถ เจ้าเมืองขากบุตรของเจ้ามหาขนานเสียชีวิตในที่รบ ฝ่ายเชียงใหม่ยกทัพเข้าประชิดประตูเมืองเชียงตุง ไม่สามารถทลายประตูเมืองเข้าไปได้เนื่องจากขาดกำลังสนับสนุนทัพของพระยาอุปราชพิมพิสารไม่มาตามนัด พระยาอุปราชยังคงปักหลักอยู่ที่เมืองยอง นายน้อยมหาพรหมที่เชียงตุงส่งคนมาเร่งให้พระยาอุปราชยกทัพไปหนุนที่เชียงตุง ปรากฏว่าพระยาอุปราชไม่ไป พระยาราชบุตรและนายน้อยมหาพรหมสู้รบกับเมืองเชียงตุงจนหมดสิ้นกระสุนดินดำ ยังไม่ได้เมืองเชียงตุง จึงล่าถอยกลับมา
1
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้การเข้าตีเมืองเชียงตุงของฝ่ายสยามไม่สำเร็จ ประกอบกับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประชวรและเสด็จสวรรค์คตในต้นปี พ.ศ. ๒๓๙๔ การตีเมืองเชียงตุง จึงต้องงดไปก่อน
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2395 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรเจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ่งให้นายพิศวง หรือพิศณุวงศ์ นำศุภอักษรและเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานครอบครัวที่เมืองน่านและหลวงพระบางกลับคืนสู่เมืองเชียงรุ่ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า เมืองน้อยมาพึ่งเมืองใหญ่ ควรต้องอนุเคราะห์ไปให้ตลอด ปัญหาประการคือเมืองลื้อนั้นขึ้นอยู่กับพม่าและจีนทั้งสองฝ่าย หากพม่าหรือจีนยกทัพเข้ามีตีเมืองเชียงรุ่ง เมืองเชียงรุ่งนั้นระยะทางห่างไกลจากกรุงเทพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนทัพสยามจะขึ้นไปช่วยป้องกันได้ลำบาก
ถ้าจะปกครองเมืองเชียงรุ่งต้องยึดเมืองเชียงตุงเสียก่อน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ศึกเชียงตุงครั้งที่ 2 นี้ กรุงเทพฯยกทัพขึ้นไปเอง โดย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และ เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์) นำทัพ 10,000 ขึ้นไปตีเชียงตุง นอกจากนี้ยังมีทัพจากฝ่ายเชียงใหม่จำนวนทั้งสิ้น 5,042 คน ทัพเมืองแพร่ 1,200 คน เจ้าเมืองหล่มสักยกทัพ 1,300 คน เมืองลำปาง 1,000 คน เข้าร่วมในศึกครั้งนี้
การแต่งการของทหารพม่าในศึกเชียงตุง
กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จถึงเมืองเชียงตุงเมื่อขึ้นสิบสามค่ำ ทรงให้ระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงยิงตอบโต้เป็นสามารถต้านทานทัพสยามและล้านนาไว้ได้ หลังจากการรบผ่านไปเจ็ดวัน กรมหลวงวงศาธิราชสนิทมีพระบัญชาให้ถอยทัพกลับไปที่เชียงแสน พร้อมกันนั้นทรงมีพระอักษรมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขอพระราชทานกำลังเสริมจากเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองลาวพุงขาวได้แก่หนองคาย สกลนคร และอุบลราชธานี ทรงโปรดฯไม่ประทานให้เนื่องจากหัวเมืองลาวล้านช้างนั้นคอยรับศึกทางอาจจะมาทางฝั่งเวียดนาม
นอกจากนี้ทรงมีพระราชกระแสให้กรมหลวงวงศาธิราชเข้ายึดเมืองเชียงตุงให้โดยเร็ว เนื่องจากฝ่ายพม่ากำลังเสียทีพ่ายแพ้ให้แก่อังกฤษ หากอังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้ทั้งหมดอังกฤษจะสามารถเข้าแทรกแซงเมืองเชียงตุงได้ ทำให้การยึดเมืองเชียงตุงยากขึ้นไปอีก ต่อมาเมื่อรวบรวมเสบียงและผู้คนได้แล้ว กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จจากอุตรดิตถ์เมื่อขึ้นสิบค่ำเดือนอ้าย ไปถึงเมืองเชียงรายเมื่อขึ้นหนึ่งค่ำเดือนสาม
แต่ทัพฝ่ายเมืองเชียงใหม่และลำพูนยังมาไม่ถึง กรมหลวงวงศาธิราชทรงให้เจ้าพระยายมราชไปเร่งทัพ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายพม่า ที่เคลียร์ปัญหากับอังกฤษได้แล้ว ส่งแม่ทัพเมืองนายชื่อว่ามหานอระธา มาร่วมป้องกันเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงมีกำลังมากกว่าครั้งก่อน กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงยกทัพเข้าประชิดเมืองเชียงตุงโจมตีจนสิ้นเสบียงอาหารและกระสุนดินดำ ไม่สามารถยึดเมืองเชียงตุงได้จึงถอยทัพออกจากเมืองลวยเมื่อแรมห้าค่ำเดือนสี่(ตรงนี้เหมือนกับในหนัง)
กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงถวายรายงานทัพฯตำหนิฝ่ายล้านนาว่าไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรในการศึก สนใจเพียงแต่การกวาดต้อนผู้คนไปไว้ที่เมืองของตนเองเท่านั้น ไม่ได้วางแผนที่จะครอบครองเมืองเชียงตุงอย่างจริงจังและถาวร ในขณะที่
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระวินิจฉัยว่า เมืองเชียงตุงอยู่ห่างไกล ภูมิประเทศเป็นภูเขาเดินทางขนส่งเสบียงและอาวุธลำบาก ทำสงครามต่อเนื่องยาวนานยังไม่สามารถยึดเมืองได้ ทำได้เพียงโจมตีแบบกองโจรเท่านั้น
อีกทั้งฝ่ายพม่าเริ่มส่งกองกำลังมาป้องกันเมืองเชียงตุงแล้ว จึงมีพระราชโองการมีท้องตราให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยายมราชยกทัพกลับกรุงเทพฯ เจ้ามหาไชยเมืองพงเดินทางกลับไปยังเมืองพงแล้ว ส่วนเจ้าอุปราชออลนาวุธติดตามเสด็จกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาที่กรุงเทพด้วย ทำให้ศึกเมืองเชียงตุงในช่วงต้นกรุงจบลงเพียงเท่านี้
ถึงแม้เชียงตุงและเมืองโดยรอบจากเคยตกเป็นของไทยชั่วคราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การช่วงเหลือของญี่ปุ่นในชื่อ "สหรัฐไทยเดิม" แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยก็ต้องส่งสหรัฐไทยเดิมคืนแก่สหประชาชาติ และกลายเป็นของสหภาพเมียนมาร์เมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษในเวลาต่อมา
อ้างอิง
หนังสือพงศาวดารไทยรบพม่า หนังสือในพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
โฆษณา