Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTV Wealth
•
ติดตาม
21 ต.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิดจุดอ่อนเศรษฐกิจไทย เสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติงจาก BBB+
SCB EIC เปิดจุดอ่อนเศรษฐกิจไทย เสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติงจาก BBB+ พร้อมแนะ 4 แนวทางแก้ไขดึงความน่าเชื่อถือประเทศ
อันดับเครดิตของประเทศ เป็นเครื่องมือที่มีมาตรฐานชี้วัดความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนในประเทศหนึ่ง ๆ สะท้อนความสามารถในการชำระคืนหนี้ตามกำหนด (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ซึ่งใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงความเสี่ยงและผลตอบแทนในการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาอันดับเครดิตของตราสารภาคเอกชนในประเทศได้อีกด้วย
โดยอันดับความน่าเชื่อถือของ S&P Global และ Fitch Ratings แบ่งเกณฑ์ตั้งแต่ C แย่ที่สุด ถึง AAA ดีที่สุด ส่วน Moody’s rating เป็นระบบคล้ายกัน
ระบบ Sovereign credit rating ของ 3 สถาบันหลักในโลก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ทำการวิเคราะห์เรื่อง “ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติงจาก BBB+ หรือไม่” พบว่าปัจจุบันอันดับเครดิตเรตติงของไทยอยู่ที่ BBB+ มุมมอง Stable outlook โดย Fitch ประเมิน ณ 13 พ.ย. 2023 ว่าไทยมีจุดแข็งด้านทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคน่าเชื่อถือ โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวและกู้ในประเทศ
พัฒนาการ Sovereign credit rating ของไทย
แต่จุดอ่อนไทยคือรายได้ต่อหัวต่ำ หนี้ภาคเอกชนสูง หนี้ภาครัฐและขาดดุลการคลังสูงขึ้นมาก ไทยอาจได้ปรับเพิ่มอันดับก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวในระยะปานกลาง โดยไม่กระตุ้นให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มมากเกินไป หรือรัฐบาลลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลงได้ ขณะเดียวกันไทยอาจถูกปรับลดอันดับได้หากไม่สามารถคุมสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ให้มีเสถียรภาพ หรือหากความไม่สงบทางการเมืองเพิ่มขึ้นจนกระทบประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายภาครัฐและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ไทยมีความเสี่ยงจากการถูกปรับลดเครดิตเรตติง
SCB EIC ประเมินว่าจุดอ่อนและความเสี่ยงของอันดับเครดิตเรตติงไทยน่ากังวลขึ้นในหลายประเด็นโดยเฉพาะ
- ความยั่งยืนหนี้ภาครัฐ เนื่องจากวินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็ง การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้น แผนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางยังสูงกว่าระดับปกติ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น
- เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงทางการเมืองลดลงในระยะหลัง แต่ประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจกระทบต่อการปรับอันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย ซึ่ง Fitch ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการประเมินเครดิตเรตติงประเทศ
- อัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โตต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดศักยภาพหลายด้าน
ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว
เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบผ่านหลายช่องทาง
หากประเทศถูกลดอันดับเครดิตเรตติงจะทำให้ภาครัฐมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น จนทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อชำระดอกเบี้ยจ่ายหรือลดเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง ซ้ำเติมปัญหาด้านการคลังและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ ต้นทุนกู้ยืมของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติงลงเช่นเดียวกัน กดดันการลงทุนในประเทศ และเศรษฐกิจในภาพรวม
SCB EIC เสนอแนวทางลดความเสี่ยง 4 ด้าน
1. จัดทำแผนปฏิรูปการคลัง ผ่านการจัดสรรงบประมาณให้คุ้มค่า ลดรายจ่ายไม่จำเป็น และปฏิรูปภาษีในระยะยาว เพื่อควบคุมให้หนี้สาธารณะยั่งยืนขึ้น
2. ออกแบบกลไกติดตามวินัยการคลัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม
3. ปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ในตลาดโลก
4. เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น ได้แก่ ความทั่วถึงเท่าเทียม ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และความล้มยากลุกเร็ว
นอกจากจะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับมือบริบทโลกและมีส่วนช่วยยกระดับคะแนนด้าน ESG ของไทยแล้ว ยังช่วยให้ตัวเลข GDP สูงขึ้น นับเป็นปัจจัยบวกต่อการพิจารณาอันดับและมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะข้างหน้า
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/234913
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTV Wealth :
https://www.facebook.com/PPTVWealth/
YouTube Wealth :
www.youtube.com/@PPTVWealth
ลงทุน
บัตรเครดิต
เศรษฐกิจ
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย