21 ต.ค. เวลา 10:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทีเอ็มบีธนชาต โชว์กำไรสุทธิ รอบ 9 เดือน ที่ 15,919 ล้านบาท

ทีเอ็มบีธนชาต รอบ 9 เดือน ที่ 15,919 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/67 ที่ 5,230 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 2.3%
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 และรอบ 9 เดือน ปี 2567 โดยธนาคารและบริษัทย่อยยังคงมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมาย และรายงานกำไรสุทธิที่ 5,230 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2567 ลดลง 2.3% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 10.5% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากการบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับรายได้ และจากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต
ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้รอบ 9 เดือน ปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 15,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ยังคงมีความท้าทาย และสร้างแรงกดดันต่อทั้งด้านรายได้และด้านคุณภาพสินทรัพย์ไม่ต่างไปจากช่วงครึ่งปีแรก ในส่วนของผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 โดยรวมถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ปัจจัยหนุนหลักยังคงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการด้านต้นทุนใน 3 ส่วนหลักได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนการดำเนินงาน และต้นทุนความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ
แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า จากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังเข้าสู่ช่วง ฤดูกาลท่องเที่ยวหลัก รวมถึงผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เช่นเดียวกับการลงทุนรวมที่มีแนวโน้มขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลของฐานต่ำในปีก่อน
ttb analytics ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 2.6% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากทั้งปัจจัย ภายในและภายนอกประเทศ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4 จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่คาดว่าตลอดทั้งปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงต่ำกว่ากรอบล่างเป้าหมายเล็กน้อย
ด้านภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทั้งปี 2567 จะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 35 ล้านคน สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะเห็นสัญญาณ ฟื้นตัวเป็นลำดับ โดยประเมินมูลค่าส่งออกสินค้าของไทยทั้งปี 2567 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 (YoY)
สำหรับด้านตลาดเงินไทย ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ณ สิ้นปีนี้ จากแรงส่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัย ด้านค่าเงินบาทในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 32.00 – 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส
ผลการดำเนินงานรายการหลักๆ ในไตรมาส 3 และรอบ 9 เดือน ปี 2567
สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 1,253 พันล้านบาท ชะลอลง 5.7% จากสิ้นปี 2566 (YTD) โดยสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้านแลกเงิน (+10% YTD) สินเชื่อรถแลกเงิน (+6% YTD) และสินเชื่อบุคคล (+9% YTD)
Advertisement
การลดลงของสินเชื่อรวมมีสาเหตุหลักจากการชำระคืนหนี้ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ การชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดรถยนต์ที่ยังคงซบเซาและการบริหารหนี้เสียเชิงรุกผ่านการขายและตัดหนี้สูญ (Write off) ทำให้ยอดหนี้เสียลดลง 2% YTD
ด้านเงินฝากอยู่ที่ 1,296 พันล้านบาท ลดลง 6.5% YTD แม้เงินฝากลดลงแต่สภาพคล่องของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) ที่อยู่ที่ 97% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารได้ขยายเงินฝากกว่า 4.3% ตั้งแต่ในไตรมาส 4 ปี 2566 เพื่อเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับการดำเนินงานในปี 2567 ทำให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารต้นทุนทางการเงินเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ปี 2567 ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานรวมอยู่ที่ 17,225 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,295 ล้านบาท ส่งผลให้ในรอบ 9 เดือน ปี 2567 มีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 52,266 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 22,075 ล้านบาท ลดลง 3.8% จากปีก่อนหน้า
ด้านการบริหารจัดการหนี้เสีย ระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 40,224 ล้านบาท ลดลง 2% YTD หรือคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ที่ 2.7% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังอยู่ในระดับสูงที่ 149% เป็นไปตามเป้าหมาย
จากภาพรวมด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เป็นไปตามเกณฑ์ควบคุม ทำให้ด้านค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ มีจำนวน 4,764 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ลดลง 10% จากไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือน ปี 2567 ดำเนินการตั้งสำรองฯ ทั้งสิ้น 15,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรอบ 9 เดือน ปี 2566 เพราะตั้งแต่ต้นปีธนาคารได้ตั้งสำรองฯ Management Overlay เพิ่มเติมจากการตั้งสำรองฯ
จากการดำเนินงานปกติ (Normal Provision) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หลังจากหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 และรอบ 9 เดือน ปี 2567 ที่ 5,230 ล้านบาท และ 15,919 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านฐานะเงินกองทุน ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 อัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) อยู่ที่ 19.7% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) อยู่ที่ 17.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ในภาพรวมระดับเงินกองทุนยังถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธปท.กำหนดไว้ที่ 12.0% สำหรับ CAR และ 9.5% สำหรับ Tier 1
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/monetary/234927
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา