เมื่อวาน เวลา 06:27 • ความคิดเห็น
เชื่อว่ายังคงเข้าสังคมได้อยู่นะครับ คือพบเจอผู้คน พูดจากันไปตามมารยาทได้อยู่
ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ถ้ายังทำไม่ได้ต้องฝึกให้ได้นะครับ
ส่วนเรื่องมีเพื่อน, หรือไม่มีเพื่อน นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันทำให้เรานึกถึงเรื่องนี้ ก็เลยคัดลอกมาให้ลองอ่านกัน
อาจจะไม่ตรงคำถามสักเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง
ลองอ่านดูนะครับ
ต้นเหตุของเรื่องนี้มีอยู่ว่า
เหล่าภิกขุได้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสห้ามแล้ว แต่ไม่ยอมฟัง, ไม่ยอมหยุด, พระผู้มีพระภาคจึงออกปลีกวิเวก, และได้ตรัสพระคาถาขึ้นมาบทหนึ่ง
[๒๔๖] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าพระนครโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครโกสัมพีแล้ว
ครั้นเวลาบ่าย เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทรงเก็บเสนาสนะถือบาตรจีวร ประทับยืนท่ามกลางพระสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ว่า ดังนี้
เวรุปสมคาถา
[๒๔๗] ภิกษุมีเสียงดังเป็นเสียงเดียวกัน จะได้สำคัญตัวว่าเป็นพาล ไม่มีเลยสักรูปเดียว
ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกัน ก็ไม่ได้สำคัญเหตุอื่น ภิกษุทั้งหลายลืมสติ สำคัญตัวว่าเป็นบัณฑิต
ช่างพูด เจ้าคารม พูดไปตามที่ตนปรารถนาจะยื่นปากพูด ไม่รู้สึกว่าความทะเลาะเป็นเหตุชักพาไป
ก็คนเหล่าใดจองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ
ส่วนคนเหล่าใดไม่จองเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา ตีเรา ชนะเรา ได้ลักสิ่งของของเราไป เวรของคนเหล่านั้นย่อมสงบ
แต่ไหนแต่ไรมา เวรทั้งหลายในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ย่อมระงับเพราะไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า
ก็คนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเรากำลังยับเยิน ณ ท่ามกลางสงฆ์นี้ ส่วนคนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้นรู้สึก
เพราะความรู้สึกของคนเหล่านั้น ความหมายมั่นย่อมระงับ คนเหล่าใดบั่นกระดูก ผลาญชีวิต ลักทรัพย์ คือ โคและม้า คนเหล่านั้นถึงช่วงชิงแว่นแคว้นกัน ก็ยังคบหาสมาคมกันได้ เหตุไฉนพวกเธอจึงคบหาสมาคมกันไม่ได้เล่า
ถ้าบุคคลพึงได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน เป็นนักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน เขาครอบงำอันตรายทั้งปวงเสียได้ พึงพอใจ มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น
ถ้าไม่ได้สหายมีปัญญา เที่ยวไปด้วยกัน เป็นนักปราชญ์คอยช่วยเหลือกัน พึงเที่ยวไปคนเดียว ดุจพระราชาทรงสละแว่นแคว้น คือราชอาณาจักร และดุจช้างมาตังคะ ละฝูงเที่ยวไปในป่าฉะนั้น
*การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า เพราะคุณเครื่องเป็นสหายไม่มีในคนพาล พึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่พึงทำบาป
ดุจช้างมาตังคะ มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่าแต่ลำพัง ฉะนั้น
อ้างอิง
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ เวรุปสมคาถา
โฆษณา