21 ต.ค. เวลา 07:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Back to Basic: Total Factor Productivity

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับวารสาร Finance and Development ของ IMF ฉบับเดือนกันยายน 2024 ซึ่ง IMF จัดส่งให้สมาชิกทุก 3 เดือน ผมชอบวารสารฉบับนี้มาก เพราะ IMF จะช่วย update ประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ที่นักเศรษฐศาสตร์และ policy maker ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกควรคำนึงถึง
ด้วยสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญกับสารพัดปัญหาเริ่มจากปัญหาการกีดกันทางการค้าที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ในสมัยแรกที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง แล้วยังถูกซ้ำเติมด้วยโควิด จากนั้นก็ตามด้วยปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส อิหร่านและพันธมิตร และล่าสุด จีน-ไต้หวัน ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบลงง่ายๆ ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกือบทุกประเทศ ต่างตกอยู่ในสภาวะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายเป็นอย่างมาก
เนื่องจากการเติบโตที่ต่ำกว่าเป้าหมายนี้มักมีสองรูปแบบหลักคือ เติบโตต่ำกว่าศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ หรือ ศักยภาพทางเศรษฐกิจเติบโตได้ช้าลง หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
ถ้าจะให้ผมเดาใจ IMF ผมคิดว่า IMF ให้ความสำคัญกับสาเหตุหลังมากกว่า เพราะสาเหตุแรกคงต้องแก้ด้วยการเมืองระหว่างประเทศและปัญหาภายในของแต่ละประเทศเอง แต่สาเหตุหลังเป็นสาเหตุที่ต้องแก้ด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ ทำให้ IMF ขึ้นหน้าปกของวารสารฉบับนี้ด้วยคำว่า Productivity และเริ่มต้นบทความแรกด้วยบทความที่อยู่ภายใต้คำโตว่า Back to Basic โดยหัวข้อของบทความฉบับนี้คือ Total Factor Productivity ซึ่งเขียนโดย Robert Zymex นักเศรษฐศาสตร์ของ IMF
สาเหตุที่บทความนี้อยู่ภายใต้คำโตว่า Back to Basic เพราะสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ทุกคน คำว่า Total Factor Productivity คือคำที่ basic จริงๆ ผมก็เลยคิดต่อเอาเองว่า IMF คงเห็นว่า หากสแกนไปทุกประเทศทั่วโลก เราจะเห็นรัฐบาลของทุกประเทศต่างพยายามดิ้นรนหาทางให้ประเทศตัวเองเติบโตด้วยวิธีต่างๆ นานา
ตั้งแต่วิธีที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครเช่นการพยายามคิดค้นโครงการต่าง ๆ ที่คิดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ วิธีที่อาจกระทบกับประเทศอื่นบ้างตามขนาดของประเทศเจ้าของนโยบายเช่นการใช้มาตรการทางการเงิน การคลัง ไปจนถึงวิธีที่กระทบกับคนทั้งโลกเช่นการกีดกันทางการค้าซึ่งดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะจากประเทศใหญ่เช่นสหรัฐอเมริกา
แต่วิธีดังกล่าวทั้งหมดข้างต้นก็ยังไม่ได้ผล เรายังคงเห็นการเติบโตของทั้งโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเติบโตช้าลงมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่แต่ละประเทศตั้งไว้
ผมจึงมองว่า ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ IMF จึงต้องการกระตุก policy maker ทุกคนให้กลับมาที่ทฤษฎีพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถูกนำเสนออย่างเป็นระบบต่อโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1957 หรือ 90 ปีก่อน โดย Robert Solow นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 21 ธันวาคม 2023
ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การผลิตและบริการใดๆ ก็ตามในโลกนี้ เกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตขั้นต้นสองประเภทคือ 1. ปัจจัยแรงงาน ที่มาจากประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานและลุกขึ้นมาทำงาน และ 2. ปัจจัยทุน ที่มาจาก ที่ดิน เครื่องจักร-อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ถูกนำมาทำงานร่วมกับแรงงาน
อย่างไรก็ตาม พบว่า แม้จะใช้ปัจจัยแรงงานเท่ากัน และปัจจัยทุนเท่ากัน แต่อาจจะได้ผลผลิตต่างกัน ซึ่งความแตกต่างของผลผลิตนี้เกิดจากความแตกต่างกันของ ประสิทธิภาพการผลิตของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ผลิตภาพรวมของปัจจัยการผลิต (Total Factor Productivity หรือ TFP) และด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์จึงสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้ประเทศต่างๆ รวยจนต่างกันก็เพราะว่ามี TFP ต่างกัน
นอกจากขนาดเศรษฐกิจที่แตกต่างกันแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของรายได้ต่อหัวประชากร ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจ และทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจก็แสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับผลรวมของการเติบโตของปัจจัยแรงงาน การเติบโตของปัจจัยทุน และการเติบโตของ TFP และปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของรายได้ต่อหัวของประชากรมากที่สุดคือ TFP
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการเติบโตของประชากรในวัยทำงานลดลง (ประชากรในวัยทำงานเพิ่มน้อย) หรือแม้แต่จำนวนประชากรในวัยทำงานลดลงสำหรับบางประเทศ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อกำลังการผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว เมื่อรวมกับปัญหาคนมีอายุเฉลี่ยมากขึ้นทำให้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ก็ยังมีแนวโน้มสูงที่จะสร้างปัญหาทางการคลังให้กับประเทศในอนาคตอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นหลายประเทศพยายามหาทางออกเช่น รณรงค์การมีลูก เพิ่มอายุเกษียณ แต่วิธีแรกดูเหมือนจะไม่ค่อยสำเร็จนัก ส่วนวิธีที่สองก็เห็นการออกมาคัดค้านกันจำนวนมาก บางประเทศถึงกับเกิดจราจลเช่นในฝรั่งเศส ทางออกที่เหลืออยู่ของประเทศเหล่านี้จึงเหลือเพียงแค่การเพิ่มการเติบโตของ TFP ของประเทศ
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องกลับมาดูว่า แล้วเราจะเพิ่ม TFP ได้อย่างไร ซึ่ง Robert Zymex ผู้เขียนบทความนี้ได้สรุปไว้ 3 แนวทาง และผมคิดว่าเป็น 3 แนวทางที่ผู้ทำนโยบายควรนำไปพิจารณาอย่างเข้มข้นเพื่อกำหนดนโยบายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สะเปะสะปะและลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็น
1. การเพิ่ม TFP ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน
พบว่าในประเทศที่แรงงาน (คนทำงาน) รวมของประเทศมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยที่มากกว่าและมีการฝึกทักษะของผู้เรียนที่ดีกว่า (เรียนเพื่อทำเป็นไม่ใช่เพื่อได้วุฒิ) แรงงานมีสุขภาพกายและใจที่ดีกว่า และคุณภาพชีวิตของคนทำงานในวงกว้างที่ดีกว่า จะมีคนทำงานที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่าด้วยชั่วโมงการทำงานเท่ากัน ดังนั้น ประเทศที่ทำเรื่องเหล่านี้ได้ดีจะมี TFP มากกว่าประเทศที่ทำได้ไม่ดีหรือดีน้อยกว่า
2. การเพิ่ม TFP ด้วยการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้แต่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับหน่วยผลิต (และ/หรือบริการ) ก็พบว่า บางหน่วยผลิตก็มีประสิทธิภาพการผลิตมากกว่าหน่วยผลิตอื่นๆ ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับหน่วยผลิตจึงมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ และหากระบบเศรษฐกิจมีกลไกที่ดี (รวมกลไกราคา) ในการทำให้หน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูง สามารถดึงดูดแรงงานและทุนไปจากหน่วยผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ ระบบเศรษฐกิจจะถูกเรียกว่า "มีประสิทธิภาพในการจัดสรร"
แต่หากแรงงานและทุนจำนวนมากติดอยู่ในหน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพการผลิตค่อนข้างต่ำ ระบบเศรษฐกิจจะ "ขาดประสิทธิภาพในการจัดสรร" ซึ่งจะทำให้ TFP ลดลง (กรณีประเทศไทย ตัวอย่างของหน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพต่ำและด้วยค่าจ้างแรงงานที่สูง (รวมรายได้ในอนาคต) จึงทำให้แรงงานติดอยู่ในหน่วยผลิตที่ประสิทธิภาพต่ำ TFP ของประเทศไทยจึงต่ำ -- ผู้เขียน)
3. การค้าระหว่างประเทศ
เพราะว่าการค้าคือกิจกรรมที่สร้างแรงจูงใจให้ประเทศต่างๆ เข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อการแลกเปลี่ยนและเพิ่มความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่แต่ละประเทศมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งยังช่วยให้แต่ละประเทศสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเข้าถึงตลาดโลกยังเปิดโอกาสให้หน่วยผลิตต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด และการแข่งขันระหว่างประเทศมักจะส่งเสริมหน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพมากกว่าหน่วยผลิตที่ด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อประกอบกับเงื่อนไขในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Zymex บอกว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการเติบโตของ TFP ในเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วได้ไม่มากนัก เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วต่างดำเนินการได้ใกล้เคียงกับขีดจำกัดสูงสุด (frontier) ของประสิทธิภาพแรงงาน ประสิทธิภาพการจัดสรร และการค้าระหว่างประเทศอยู่แล้ว (หากไม่บิดเบือนแนวทางใดแนวทางหนึ่งเสียเอง เช่นสหรัฐอเมริกากำลังบิดเบือนแนวทางที่ 3 อยู่ในปัจจุบัน)
เพราะแม้แต่จะเพิ่มปริมาณทุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจก็จะพบกับปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างลดน้อยถอยลง (diminishing return) ในทางเศรษฐศาสตร์จึงเหลือเพียงวิธีเดียวที่จะช่วยยก TFP ของประเทศเหล่านี้ได้คือการทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตและบริการ และสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม
โดย Zymex แนะนำว่า สิ่งที่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วควรทำคือ
1. "ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย" ด้วยการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดด้านนโยบาย เช่น การยอมให้การแข่งขันในตลาดลดลง โดยบริษัทที่ทรงอิทธิพลใช้อำนาจผูกขาดของตนเพื่อขัดขวางการเข้าสู่ตลาดและนวัตกรรม หรือการกลับไปสู่การกีดกันทางการค้า
2. ผู้กำหนดนโยบายควรร่างกฎระเบียบที่นำไปสู่การขยายประโยชน์สาธารณะจากนวัตกรรมล่าสุดเช่น เทคโนโลยีสีเขียว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และปัญญาประดิษฐ์
3. จัดการกับอุปสรรคที่เหลืออยู่ที่จำกัดโอกาสของคนบางกลุ่มในสังคมในการนำความสามารถและความพยายามด้านนวัตกรรมของพวกเค้าไปสู่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
ท้ายที่สุด Zymex ตั้งเป้าหมายของ productivity ไว้อย่างง่ายๆ ว่า จะเห็นความสำเร็จก็ต่อเมื่อ มนุษยชาติมีความเครียดน้อยลงและมีวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ยาวนานขึ้น โดยที่รายได้ที่แท้จริงไม่ลดลง
หันกลับมาดูประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และเมื่อเทียบกันในอาเซียน เรามีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจน้อยที่สุดในอาเซียน ชนะเพียงเมียนมาร์ซึ่งคงไม่ต้องนับเพราะเค้ามีสงครามภายใน จึงทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ข้อมูล ณ เดือน ต.ค. 2024
มีความพยายามวิเคราะห์กันจากนักวิชาการและนักการเมืองจำนวนมากที่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจและนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในหลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่ค่อยเห็นการวิเคราะห์โดยอิงกับทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครบถ้วนตามที่ Zymex ได้สรุปให้เราดังบทความข้างต้น แต่ถ้าเราใช้กรอบดังกล่าวนี้ในการวิเคราะห์ เราอาจได้ข้อสรุปดังนี้
1. ด้านปัจจัยแรงงาน อัตราการเกิดของประชากรของเราต่ำมาก เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของเราจะไม่สามารถพึ่งพาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในประเทศได้เหมือนประเทศที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากเช่นเวียดนามหรือประเทศมุสลิม
ทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจของเราจึงดึงเอาแรงงานจากเพื่อนบ้านเข้ามาใช้งานแทน ซึ่งการที่รัฐบาลยอมให้เกิดการอพยพเข้ามาทำงานได้ง่ายก็กลายเป็นดาบสองคมสำหรับเศรษฐกิจ เพราะแม้ในทางบวกจะทำให้เราได้แรงงานราคาถูก แต่ในทางลบจะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีและพัฒนาคนภายในประเทศเพื่อลดความต้องการแรงงานลง เพราะมีความสุขอยู่กับการใช้แรงงานราคาถูกจากเพื่อนบ้าน
2. ด้านปัจจัยทุน SMEs ในระบบเศรษฐกิจของเราจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายเหมือนกับผู้ประกอบการรายใหญ่และรายที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ต้นทุนในการได้มาซึ่งปัจจัยทุนเพื่อใช้ในการผลิตและบริการมีราคาแพงถึงแพงมาก รวมถึงเป็นอุปสรรคในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตและบริการของ SMEs ด้วย และหากล้มลงไป ก็ยากที่จะฟื้นคืนกลับมา
3. ด้านคุณภาพแรงงาน ระบบการศึกษาของเราเป็นระบบการศึกษาที่ให้แต่วุฒิการศึกษาแก่ผู้เรียนแต่ไม่สร้างทักษะในการดึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสร้างเป็นรายได้ให้กับผู้เรียน สอนในสิ่งที่นำมาพัฒนาเป็นทักษะในการสร้างรายได้ไม่ได้ ไม่สร้างทักษะในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่สร้างทักษะให้เกิดความยืดหยุ่นในการเอาตัวรอดหากเกิดวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิต ไม่สร้างทักษะทางการเงินซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของความยากจน
(เน้น ผมใช้คำว่าสร้างทักษะแทนการยืนพูดให้ฟังหน้าห้องเป็นหลัก) รวมไปถึงนโยบายทางสังคมที่ไม่เกิดมรรคผลพอที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและคนทำงานในทุกระดับและทุกมิติได้
4. ด้านการจัดสรรทรัพยากร กฎเกณฑ์ของเราไม่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายทรัพยากรทั้งทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทุนไปยังหน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างง่ายๆ หน่วยผลิตที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดคือระบบราชการกลับมีแรงดึงดูดทรัพยากรไว้กับตัวเองมากที่สุด ถ้าเราแก้ตรงนี้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางสร้างประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจของเราได้
5. ด้านการค้าระหว่างประเทศ เราเริ่มจากการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 เขตทั่วประเทศในปี 2556 ตามด้วย EEC ในปี 2558 และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคในปี 2565 แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีเขตไหนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมแม้แต่เขตเดียว สาเหตุเพราะระบบของเราทั้งการเมือง กฎระเบียบ และราชการ ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างสำฤทธิ์ผล
อ่านบทความนี้จบแล้ว ก็รู้สึกสงสารประเทศไทยที่ผู้กำหนดนโยบายซึ่งเป็นนักการเมืองดูเหมือนจะไม่เข้าใจในกระบวนการพัฒนาประเทศที่ได้รับการยอมรับทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติตามกระบวนการที่ Zymex ได้แสดงไว้อย่างเป็นระบบและง่ายต่อการเข้าใจนี้เลย เราจึงยังไม่เห็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานใดนอกเหนือจากความพยายามให้เด็กและเยาวชนผ่านเข้าระบบการศึกษาที่ได้แต่วุฒิออกมาแต่ขาดทักษะในการหารายได้โดยเฉพาะกับเทคโนโลยีของโลกใหม่
รวมถึงยังไม่เห็นความพยายามอย่างเข้มข้นของข้าราชการส่วนใหญ่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมนอกจากเพียงการหางานเพื่อให้ข้าราชการด้วยกันมีงานทำ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยู่รอดปลอดภัยรอวันเกษียณและได้รับบำนาญสบายไปตลอดชีวิต ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องดิ้นรนให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งที่เป็นคนหาเงินให้กับประเทศและเป็นนายจ้างของข้าราชการ (ข้าราชการไม่ผิด ที่ผิดคือระบบ เพราะถ้าผมเป็นข้าราชการ ก็จะเป็นแบบข้าราชการส่วนใหญ่ - เน้น ไม่ใช่ทุกคน)
นอกจากนี้การจัดสรรทรัพยากรก็มีข้อจำกัด กฎระเบียบและกลไกที่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายของทรัพยากรทั้งมีโครงสร้างการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และมีระบบราชการที่โบราณคอยขัดขวางความมีประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจและขัดขวางการพัฒนาของสังคมทั้งระบบ
โฆษณา